จากข้อมูล กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เมื่อปี 64 มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ ทั่วประเทศ 14,593 คดี แบ่งเป็นชาย 13,309 คดี หญิง 1,284 คดี

ฐานความผิด ของเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับ ยาเสพติด 6,943 คดี, ความผิดฐานอื่นๆ (เช่น พ.ร.บ.จราจรทางบก, พ.ร.บ.การพนัน) 3,338 คดี, ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 1,857 คดี, ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 1,477 คดี, ความผิดเกี่ยวกับเพศ 721 คดี, ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ 257 คดี

หากจำแนกตาม ระดับการศึกษา พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในวัย มัธยมศึกษา 7,843 คดี, ประถมศึกษา 2,776 คดี, ปวช. 1,828 คดี, การศึกษานอกระบบ 1,247 คดี, ไม่ระบุ 856 คดี, อนุบาล 41 คดี และ ไม่ได้รับการศึกษา 2 คดี

หากจำแนกตาม อาชีพ ส่วนใหญ่ผู้กระทำผิดเป็น นักเรียน/ฝึกงาน มากสุด 5,445 คดี รองมาคือ ว่างงาน น 4,218 คดี, อาชีพไม่เป็นกิจจะลักษณะ 3,332 คดี, อาชีพเป็นกิจจะลักษณะ 1,360 คดี และไม่ระบุ 238 คดี

ถัดมาที่ ลักษณะการอยู่อาศัย พบว่าเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่ ครอบครัวแยกกันอยู่ 10,375 คดี ครอบครัวที่อยู่ร่วมกัน 5,483 คดี ในกลุ่มแยกกันอยู่ส่วนใหญ่อยู่กับแม่

ปี 64 ในจำนวน 14,593 คดี คำพิพากษา/คำสั่งศาล พบผลพิพากษาให้ ควบคุมตัวเพื่อฝึกและอบรม มากสุด 2,590 คดี รองมาคือ ไม่ต้องรับโทษ แต่ใช้วิธีอื่นสำหรับเด็ก 2,295 คดี, ใช้วิธีการอื่นแทน 801 คดี ,ไม่มีความผิด แต่ให้ใช้วิธีการอื่นสำหรับเด็ก 600 คดี, คุมประพฤติ 409 คดี, ว่ากล่าวตักเตือน 272 คดี, ค่าปรับ 59 คดี, จำคุก 49 คดี, ไม่มีความผิดให้ยกฟ้อง 32 คดี, โอนคดีไปศาลอื่น 3 คดี เป็นต้น

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ทั้งเยาวชนวัย 15 ปี ถูกเพื่อนร่วมห้องก่อเหตุด้วยอาวุธปืนจนเสียชีวิตในห้องคอมพิวเตอร์, กลุ่มชายฉกรรจ์ก่อเหตุอุ้มเยาวชนวัย 16 ปี ไปทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ สันนิษฐานพัวพันบัญชีม้าแก๊งอบายมุข หรือกระทั่งเหตุการณ์เด็กวัย 14 ปี ถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต หลังคนร้ายอ้างพฤติกรรมลักขโมย และเด็กมีประวัติเข้าออกสถานพินิจฯ หลายครั้ง

สถานการณ์นี้ตอกย้ำถึงโอกาสก้าวพลาดของเด็กและเยาวชนที่ยังมีให้เห็นเกลื่อน ไม่ว่าจะด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม หรือการศึกษา ล้วนมีส่วนทำให้ “วัยผ้าขาว” เปลี่ยนสีเร็วขึ้นทั้งสิ้น

ประเด็นน่าสนใจคือก่อนหน้านี้มีก้าวสำคัญของกระบวนการยุติธรรมเด็กเกี่ยวกับการ “ขยับ” ช่วงอายุขั้นต่ำของเด็กที่ต้องรับโทษทางอาญา จากเดิม 10 ปี ไปเป็น 12 ปี ตามการแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 29) พ.ศ.2565 ที่มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี หากกระทำผิดจะไม่ต้องรับการพิจารณาพิพากษาในศาลและไม่ต้องนำตัวเข้าสู่ระบบยุติธรรมทางอาญา แต่ให้ใช้มาตรการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพ ป้องกันไม่ให้เด็กกระทำผิดซ้ำ

สำหรับเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญาฯ มาตรา 73 ระบุว่า เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เด็กอายุเกิน 12 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี แม้ไม่ต้องรับโทษ แต่กำหนดให้ศาลมีอำนาจดำเนินการอื่น เช่น

– ว่ากล่าวตักเตือนแล้วปล่อยตัว หรือหากศาลเห็นสมควรก็ตักเตือนพ่อ แม่ ผู้ปกครองด้วย

– หากศาลเห็นว่าพ่อ แม่ ผู้ปกครอง สามารถดูแลเด็กได้ ให้มอบตัวเด็กไป โดยวางข้อกำหนดให้ระวังไปก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งไม่เกิน 3 ปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรต้องจ่ายให้กรณีเด็กก่อเหตุร้ายขึ้นอีก โดยกำหนดครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท

– ส่งตัวเด็กไปสถานศึกษา หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตหรือที่ตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรม ตลอดเวลาที่ศาลกำหนด แต่ไม่ให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี

– ในกรณีเด็กไม่มีพ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือที่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กได้ ศาลจะมีคำสั่งมอบตัวเด็กให้อยู่กับบุคคลหรือองค์กรที่เห็นสมควร เพื่อดูแลตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด

ท่ามกลางปัจจัยที่ทำให้วัยผ้าขาวอาจเปลี่ยนสีเร็ว ขณะที่กฎหมายขยับการลงโทษเด็กโดยมองถึงพัฒนาการระยะยาว เป็นประเด็นที่ต้องจับตาข้อเท็จจริงที่เหมือนสวนทางอย่างใกล้ชิด.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]