กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ออกแนวปฏิบัติให้ผู้บริการระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลทุกราย กรณีระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อนขัดข้อง และการจัดการการระบายอากาศภายในขบวนรถขนส่งทางราง ใช้กรณีศึกษารถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อนขัดข้อง ทำให้ผู้โดยสารหายใจไม่สะดวก สรุปได้เป็น 7 แนวทางดังนี้

1. ประชาสัมพันธ์แจ้งผู้โดยสารในขบวนรถทราบถึงเหตุการณ์ขัดข้องและแนวทางปฏิบัติต่อเหตุการณ์โดยเร็ว รวมถึงประชาสัมพันธ์สถานการณ์แก้ไขปัญหาและแนวทางปฏิบัติให้ผู้โดยสารทราบเป็นระยะ เพื่อลดความวิตกกังวลขณะติดอยู่บนขบวนรถ

2. เมื่อเกิดเหตุการณ์ระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อนขัดข้อง ระบบระบายอากาศภายในขบวนรถต้องสามารถทำงานต่อเนื่องได้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 45 นาที หรือมีช่องเปิดให้อากาศภายนอกไหลผ่านได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย

3. ตรวจสอบแบตเตอรี่สำรอง หรือแหล่งจ่ายไฟสำรองภายในขบวนรถ ให้มีสภาพพร้อมใช้งานเมื่อระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อนขัดข้อง โดยอุปกรณ์ต้องมีพลังงานเพียงพอสำหรับการทำงานของระบบที่จำเป็นต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและขบวนรถ เช่น ระบบห้ามล้อ ระบบระบายอากาศ ระบบส่องสว่าง ระบบเปิด-ปิดประตูอัตโนมัติ ระบบอพยพ และระบบติดต่อสื่อสาร

4. หากไม่สามารถนำรถไฟฟ้าไปยังสถานีถัดไปได้ ไม่ว่าด้วยการขับเคลื่อนเองหรือต่อพ่วง หรือเมื่อระบบระบายอากาศไม่สามารถทำงานได้ หรือต้องใช้เวลาแก้ไขนานเกินควร ให้พิจารณาอพยพผู้โดยสารออกจากขบวนรถอย่างปลอดภัยไปยังสถานีที่ใกล้ที่สุด โดยมีเจ้าหน้าที่คอยกำกับดูแลการอพยพ

5. สำรวจจุดเสี่ยงที่อาจทำให้ระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อนเกิดการลัดวงจร และพิจารณาหาแนวทางป้องกันไม่ให้ระบบจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อนขัดข้อง ทั้งนี้ ให้เตรียมพร้อมรับมือพายุที่กำลังเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการขนส่งทางรางได้

6. เมื่อเกิดปัญหาความขัดข้องของการเดินรถไฟฟ้าที่ทำให้การเดินรถเป็นไปด้วยความล่าช้า เกิดการสะสมของผู้โดยสารตกค้างที่สถานี ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อส่งรถโดยสารประจำทางเข้ามาให้บริการในจุดที่เกิดปัญหา เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารมีทางเลือกเดินทางต่อไป

7. ฝึกซ้อมแผนการรับมือ และแผนรองรับในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน/ขัดข้อง เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ทันต่อเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น.

ย้อนดูสถิติเหตุขัดข้องในระบบรถไฟฟ้าเดือน ส.ค.65 เกิดเหตุขัดข้อง 12 ครั้ง เป็นรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4ครั้ง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 4ครั้ง รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว 3 ครั้ง และรถไฟฟ้าสายสีทอง 1 ครั้ง ส่วนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ไม่พบเหตุขัดข้อง โดยเกิดขึ้นนอกชั่วโมงเร่งด่วน 6 ครั้ง และเกิดขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วนเช้า 07.00-09.00 น. และเร่งด่วนเย็น 17.00-19.00 น. 6 ครั้ง ผลจากเหตุขัดข้องทำให้ขบวนรถไฟฟ้าให้บริการล่าช้าลงรวม 127 นาที หรือเฉลี่ย 10.58 นาที/ครั้ง

การขัดข้องทั้ง 12 ครั้ง มาจากระบบขับเคลื่อน 4 ครั้ง ระบบเบรก 1 ครั้ง ระบบประตูรถ 2 ครั้ง ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า 3 ครั้ง เครื่องนับเพลา 1 ครั้ง ซึ่งเป็นเหตุต่อเนื่องจากเหตุผู้บุกรุกลักลอบตัดสายไฟรถไฟฟ้าสายสีแดง และระบบอาณัติสัญญาณบนตัวรถขัดข้อง 1 ครั้ง โดยถือเป็นเหตุขัดข้องครั้งแรกของรถไฟฟ้าสายสีทอง

สำหรับวิธีที่ใช้แก้ไขเหตุล่าช้าที่เกิดจากการขัดข้อง ประกอบด้วย เร่งแก้ไขที่จุดขัดข้อง 6 ครั้ง ใช้ขบวนรถ/แผนเดินรถสำรอง 3 ครั้ง เปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร 2 ครั้ง และเดินรถ Track Sharing 1 ครั้ง

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง บอกว่า ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้ให้บริการทุกราย ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.), บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (AERA1) เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของผู้โดยสาร

กระทรวงคมนาคม ขร. และผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทุกระบบ จะทำงานร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องโดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งผู้ให้บริการรถไฟฟ้า ได้เพิ่มความเข้มงวดดูแลรักษาสภาพรถ สภาพทาง และอุปกรณ์ ส่งผลให้สถิติเหตุขัดข้องลดน้อยลงต่อเนื่อง เดือน พ.ค.65 เกิดเหตุขัดข้อง 28 ครั้ง เดือน มิ.ย. 19 ครั้ง เดือน ก.ค. 17 ครั้ง และเดือน ส.ค. 12 ครั้ง ขร. จะติดตามและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพยายามไม่ให้เกิดเหตุขัดข้องและกระทบผู้โดยสารน้อยที่สุด

ตัวเลขผู้โดยสารระบบขนส่งทางรางทุกระบบ เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 1,344,310 คน ทุบสถิติ (นิวไฮ) ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านคนต่อวัน เป็นรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว 760,856 คน รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน-สายสีม่วง 435,076 คน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 64,552 คน รถไฟ 64,485 คน หมื่นคน และรถไฟฟ้าสายสีแดง 19,341 คน วันที่ 8 ก.ย. ซึ่งเป็นวันที่มีปัญหาน้ำท่วมรังสิต รถไฟฟ้าสายสีแดงมีผู้โดยสาร 22,885 คน สูงที่สุดนับตั้งแต่เปิดให้บริการแบบไม่เป็นทางการ (บริการฟรี) ตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. 64 และเปิดเต็มรูปแบบเมื่อ 29 พ.ย. 64 (เก็บค่าโดยสาร 12-42 บาท)

รถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งมวลชนหลัก เมื่อเกิดขัดข้อง ผู้โดยสารตกค้างล้นทะลักตามสถานี ผู้คนไปทำงานเลท นักเรียนต้องเข้าเรียนสาย ชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ ปั่นป่วนโกลาหล แม้การขัดข้องจะเป็นเหตุสุดวิสัย แต่แผนเผชิญเหตุที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ให้บริการต้องรับผิดชอบดูแลผู้โดยสาร

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง