ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในทวีปยุโรป ซึ่งเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาความเป็นพื้นที่เปิดกว้าง และทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ปราศจากการบีบบังคับทุกรูปแบบ และตั้งอยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริมพหุภาคีนิยม และการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ประเด็นดังกล่าวยังถือเป็นความสำคัญอันดับแรกของสหภาพยุโรป ( อียู ) ซึ่งเผยแพร่เอกสารแถลงร่วม ว่าด้วยยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือของสหภาพยุโรปในอินโด-แปซิฟิก ( Joint Communication on the European Strategy for Cooperation in the Indo-Pacific )

ฝรั่งเศสมีความเชื่อมั่นว่า การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันมากขึ้นของอียู โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะช่วยยกระดับความเป็นเอกภาพให้กับทุกฝ่าย พร้อมเผชิญหน้าและรับมือกับความท้าทายนานัปการ ที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคอันกว้างใหญ่แห่งนี้ได้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นการต่อยอดจากการที่สหภาพยุโรปได้สร้างความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งไว้แล้ว กับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) และสนับสนุนหลักความเป็นแกนกลางของอาเซียนอย่างเต็มกำลัง

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022

ฝรั่งเศสมุ่งมั่นส่งเสริมวาระสำคัญในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสรีภาพในอำนาจอธิปไตยของทุกฝ่าย ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นศูนย์กลางของฝรั่งเศส ในด้านการขับเคลื่อนนโยบายการทูตบริเวณนี้ สะท้อนให้เห็นจากการที่ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอาเซียน การแสดงความมุ่งมั่นของฝรั่งเศส ในการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน กับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ( ASEAN Defence Ministers Meeting Plus: ADMM+)

นอกจากนี้ ฝรั่งเศสมีเจตนารมณ์ในการขยายขอบเขตความร่วมมือระหว่างประเทศขนาดใหญ่ในภูมิภาคแห่งนี้ หนึ่งในนั้นคือ ไทย โดยฝรั่งเศสและไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำกรอบความร่วมมือ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

การเป็นดินแดนโพ้นทะเลและประชาคมโพ้นทะเลหลายแห่ง ซึ่งมีประชากรรวมกันเกือบ 2 ล้านคน ทำให้ฝรั่งเศสมีเขตเศรษฐกิจจำเพาะใหญ่เป็นอันดับสองครอบคลุม 10.2 ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็นอันดับสองของโลก โดยมีบุคลากรทหารประจำการมากกว่า 7,000 นาย

หอไอเฟล กรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส

ด้วยเหตุนี้ ฝรั่งเศสจึงถือเป็นชาติหนึ่งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกด้วยตัวของตัวเอง และมุ่งมั่นร่วมมีบทบาท รักษาเสถียรภาพให้แก่ภูมิภาคแห่งนี้ โดยภายในอนาคตอันใกล้นี้ ฝรั่งเศสมีแผนเปิดตัวประเด็นที่มีความสำคัญอันดับแรก ร่วมกับประเทศหุ้นส่วนในสหภาพยุโรป เพื่อเสนอวิธีการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมให้แก่นานาประเทศในภูมิภาค เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการมหาสมุทรที่ยั่งยืน

นอกจากนั้น ฝรั่งเศสมีความมุ่งหมาย เพิ่มการส่งเสริมความร่วมมือกับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค โดยปราศจากการเผชิญหน้า ในบริบทที่รวมถึง การรักษาการเข้าถึงพื้นที่ร่วมในบริบทการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ และสภาพแวดล้อมทางทหาร ที่ตอนนี้มีเงื่อนไขและข้อจำกัดมากขึ้น และการมีส่วนร่วม ในการรักษาเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์และสมดุลอำนาจทางทหาร ผ่านการดำเนินการระหว่างประเทศโดยอาศัยหลักพหุภาคีนิยม สร้างความหลากหลายและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับความเป็นหุ้นส่วนของฝรั่งเศสในภูมิภาคแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES