วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 13 ตุลาคม 2565 เวลา 17.00 น. ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล  อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เชิญชวนประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในโอกาสพระราชพิธีสำคัญนี้

พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ มีขนาดความสูง 7.41 เมตร ขนาด 4 เท่าของพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หันพระพักตร์ไปทางพระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน หล่อด้วยโลหะสำริด ฐานพระบรมรูปตั้งอยู่บนลานรูปไข่ ส่วนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เป็นผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ทั้ง 8 เหลี่ยมมีแผ่นจารึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อนำพาประเทศชาติอยู่ดีมีสุข อันก่อให้เกิดความผูกพันและความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเอกลักษณ์สำคัญของชาติไทยที่ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน

คำจารึกทั้ง 8 ด้าน ประกอบด้วย
แผ่นจารึกที่ 1 ด้านทิศตะวันออเกฉียงเหนือ พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพ วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2470  เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน  พุทธศักราช 2489   เสด็จสวรรคต วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559

แผ่นจารึกที่ 2 ด้านทิศตะวันออก พระราชาผู้ทรงธรรม พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นเดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เมื่อวันที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย โดยสมบูรณ์ตามโบราณขัตติยราชประเพณี

แผ่นจารึกที่ 3 ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ กลางใจราษฎร์ “ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้คือ การที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง”   พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดารทั่วพระราชอาณาจักร ทำให้ทรงใกล้ชิดกับพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทรงเห็นถึงปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร จึงทรงศึกษาหาวิธีแก้ไข นำมาซึ่ง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

แผ่นจารึกที่ 4 ด้านทิศใต้  ปราชญ์ของแผ่นดิน ทรงเป็นนักคิดและนักปฏิบัติ พระวิสัยทัศนี้ที่กว้างไกลอันเกิดจากการทรงงานหนักและต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ทรง เข้าใจ เข้าถึง ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงทรงให้ความสำคัญต่อการจัดการทรัพยากรน้ำ ดิน และป่าไม้ ว่าเป็นปัจจัย  พื้นฐานของการทำมาหาเลี้ยงชีพของราษฎร เกิดเป็นแนวพระราชดำริด้านการเกษตร “การเกษตรตามหลักทฤษฎีใหม่” อันเป็นแนวทางการบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็ก ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกทั้งยังพระราชทานแนวพระราชดำริ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”เพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิต โดยเน้นการพึ่งพาตนเอง บนพื้นฐานของความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีคุณธรรม

แผ่นจารึกที่ 5 ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ พระภูมินทร์บริบาล ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา พระอัจฉริยภาพในศาสตร์แขนงต่างๆ ที่ทรงประยุกต์ใช้กับการพัฒนาประเทศทุกๆด้านของพระองค์ เปรียบประดุจเป็น “พลังแห่งแผ่นดิน เป็น ภูมิคุ้มกัน” นำพาประเทศไปสู่ความมั่นคงและการพัฒนาที่ยั่งยืน

แผ่นจารึกที่ 6 ด้านทิศตะวันตก นวมินทร์โลกกล่าวขาน  ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณ อาทิ อัครศิลปิน พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย พระบิดาแห่งฝนหลวง พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน

แผ่นจารึกที่ 7 ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สืบสาน รักษา และต่อยอด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกา   ธิเบศรฯ มีพระราชจริยวัตรอันงดงาม ทรงเป็นต้นแบบแห่งความเพียรในการทำความดี และทรงอุทิศพระองค์เพื่อประเทศชาติและประชาชน พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงทรงน้อมนำมาเป็นพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา และต่อยอด”ในการมุ่งมั่นทำความดีเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ และความวัฒนาสถาพรของประเทศชาติสืบไป

แผ่นจารึกที่ 8 ด้านทิศเหนือ บรมราชสดุดีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้น ณ พื้นที่ซึ่งทรงอุทิศให้เป็นสวนสาธารณะ มีภูมิสถาปัตย์ตามแบบอย่าง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อถวายเป็นพระเกียรติยศให้ปรากฎแผ่ไพศาลสืบไปตลอดนิรันดร์กาล

อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เดิมทีเป็น ราชตฤณมัยสมาคม ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่มีเนื้อที่ 279 ไร่ บนถนนพิษณุโลกซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจนับหมื่นล้านบาท โดยมีการก่อสร้างตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวพระราชดำริของพระบรมชนกาธิเบศรฯ  สะท้อนแนวพระราชดำริให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ  นอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับศึกษาความสมดุลของระบบนิเวศแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นปอดที่อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานครสำหรับให้ประชาชนได้พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายอีกด้วย

อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ  เป็นสวนป่าธรรมชาติกลางกรุง  มีการออกแบบตามแนวคิดสมัยใหม่ (modern park) โดยคำนึงถึงทัศนียภาพและสะท้อนภาพความเป็นเมืองทันสมัยยุคใหม่ของกรุงเทพมหานคร เน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ซึ่งประดิษฐานอยู่กลางอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ

ภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ยังมีการจำลองสะพานไม้เจาะบากง ซึ่งเป็นสะพานที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ เคยเสด็จไปทรงงาน มีท่าน้ำ น้ำตก และลำธารจำลองตามแบบป่าฝนเขตร้อน

นอกจากนี้ มีพื้นที่รับน้ำในลักษณะเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ ออกแบบให้กลายเป็นทุ่งพื้นที่ชุ่มน้ำรูปเลข 9 ไทย มีไม้เรี่ยดิน ไม้บำบัดน้ำ ไม้ฟอกอากาศ และต้นไม้ขนาดใหญ่มากมาย ตามพระราชประสงค์จะใช้พื้นที่นี้เพื่อรับน้ำบรรเทาภัยน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ลดผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ

สวนสาธารณะของชาวกรุงแห่งใหม่นี้ คาดว่าจะมีการก่อสร้างและพัฒนาพื้นที่ภายใน”อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ  แล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ในปี 2567 นี้

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมการอำนวยความสะดวกประชาชน เข้าร่วมพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ โดย ขสมก. จัดเดินรถโดยสารธรรมดาให้บริการฟรี จำนวน 4 เส้นทาง นำประชาชนไปยังจุดคัดกรองตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย ATK ก่อนเข้าสู่อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ด้วย รถโดยสารเฉพาะกิจ จอดรับส่งทุกป้าย จำนวน 4 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางสโมสรกองทัพบก – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – กรมทางหลวง เส้นทางสนามศุภชลาศัย – กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ – กรมทางหลวง เส้นทางวงเวียนใหญ่ – โรงเรียนราชวินิต มัธยม เส้นทางสนามหลวง – โรงเรียนราชวินิต มัธยม

รถโดยสารเฉพาะกิจเปิดให้บริการท่ารถต้นทาง เที่ยวแรก ตั้งแต่ 08.00-16.00 น. และท่ารถปลายทางเที่ยวสุดท้าย 18.00 น. หรือจนกว่าผู้ร่วมงานจะหมดจากพื้นที่ ซึ่งรถจะปล่อยท่ารถต้นทางทุก 20 นาที

สำหรับประชาชนที่นำรถมาเอง มีการให้บริการพื้นที่จอดรถที่ 3 จุด ได้แก่
จุดที่ 1 สโมสรกองทัพบก สามารถจอดได้ 200 คัน โดยมีรถ shuttle Bus บริการรับและนำส่ง ณ จุดพักคอย
จุดที่ 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สามารถจอดได้ 320 คัน โดยมีรถ shuttle Bus บริการรับและนำส่ง ณ จุดพักคอย
จุดที่ 3 สนามศุภชลาศัย สามารถจอดได้ 200 คัน โดยมีรถ shuttle Bus บริการรับและนำส่ง ณ จุดพักคอย

การเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี ATK ประชาชนเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี ATK ที่จุดพักคอย 2 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 กรมทางหลวง จุดที่ 2 โรงเรียนราชวินิต มัธยม ตั้งแต่เวลา 7.00 น. เป็นต้นไป จากนั้น จะมีรถ shuttle Bus นำท่านเข้าสู่จุดคัดกรอง 4 จุด รอบบริเวณอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ได้แก่ จุดคัดกรองจุดกลับรถถนนศรีอยุธยา จุดคัดกรองฝั่งตรงข้ามวัดเบญจมบพิตรฯ จุดคัดกรองโรงเรียนราชวินิต มัธยม จุดคัดกรองกรมทางหลวง

ประชาชนที่มาร่วมงานขอให้สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าสีขาว ห้ามนำสิ่งของมีคมเข้าพื้นที่ พร้อมทั้งเตรียมแสดงบัตรประจำตัวประชาชน บัตรแสดงตน หนังสือเดินทาง ขณะที่เดินผ่านเครื่องตรวจ ขอให้ยกมือขึ้นเสมอหูขวาเพื่อบันทึกภาพ ตรวจวัดอุณหภูมิ เปิดกระเป๋าสัมภาระให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ

ผู้ปกครองที่มากับเด็ก ขอให้พบเจ้าหน้าที่เพื่อทำบัตรคล้องคอ และให้เขียนชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ปกครองติดไว้กับตัวเด็ก หากมีโรคประจำตัว ให้พกยาประจำตัวมาด้วย หากมีปัญหาสามารถสอบถามผู้ปฏิบัติงานจิตอาสาได้

…………………………
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม