หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อและยาวนาน ได้ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรโดยตรงรวมไปถึงการส่งออกของผลไม้ไทยที่ส่งยังตลาดต่างประเทศ ช่วงที่ผ่านมาโควิดในประเทศไทยนั้นรุนแรงมากที่สุดจากทุกรอบที่ผ่านมา ยิ่งทำให้โอกาสในการส่งออกสินค้าต่าง ๆ ไปยังบางประเทศถูกจำกัดสิทธิลงไป การขนส่งมีปัญหาเรื่องการหยุดส่งสินค้าชั่วคราว แน่นอนผลผลิตทางการเกษตร อย่าง “ผลไม้ไทย” ที่มีการผลิตเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ถ้าการส่งออกหยุดชะงักหรือไม่คล่องตัว ย่อมทำให้เกษตรกรชาวสวนไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้เท่าที่ควร ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ตั้งแต่เกิดปัญหาโควิด-19 ระบาด ทำให้หลายสวนต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเน้นการขายผลผลิตภายในประเทศให้มากขึ้น รวมถึงการค้าผลไม้บนสื่อโลกออนไลน์ ซึ่งอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ยั่งยืน แต่การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญมากในสถานการณ์แบบนี้ แน่นอนยุคที่สังคมออนไลน์เน้นการซื้อขายที่สามารถจัดส่งให้ถึงบ้านได้โดยที่ไม่ต้องออกจากบ้านไปซื้อเองที่ตลาดหรือที่สวนโดยตรง การขนส่งในประเทศก็มีความหลากหลายตอบโจทย์ในการซื้อขายออนไลน์เป็นอย่างดี ไม่ว่าการจัดส่งทางไปรษณีย์ไทย, ขนส่งเอกชนที่มีทุกจังหวัดและก็มีการแข่งขันเรื่องการบริการเข้าถึงทุกพื้นที่, ขนส่งทางรถไฟ, รถทัวร์, เครื่องบิน ฯลฯ เมื่อการขนส่งเอื้ออำนวย เกษตรกรก็จะต้องเรียนรู้ในการขายในโลกออนไลน์ ทั้ง เฟซบุ๊ก (Facebook) ที่มีกลุ่มต่าง ๆ ได้เปิดพื้นที่ให้ลงขายสินค้าฟรี เปิดหรือสร้างเพจ (Facebook Page) สวนของตัวเองให้ลูกค้าได้รู้จักและติดต่อกันได้ หรือจะเป็นการไลฟ์สด, ช่องทางไลน์ (LINE), แอพพลิเคชั่นติ๊กต็อก (TikTok), อินสตาแกรม, ขายออนไลน์กับ Shopee หรือ Lazada เป็นต้น

โดยช่วงที่ผ่านมาหลายสวน หรือ เกษตรกรหลาย ๆ ท่านถือว่าประสบผลสำเร็จ ประคับประคองให้ผลผลิตผลไม้จากสวนสามารถจำหน่ายได้เป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งขายได้ราคาดีโดยที่ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้แม้จะเพิ่มขั้นตอน อย่างการแพ็กสินค้า การจัดส่งสินค้าที่มากขึ้น แต่รายได้ที่รับก็สามารถทำให้ชาวสวนเดินหน้าต่อได้ในช่วงเศรษฐกิจเช่นนี้ บางท่านก็ได้พบโอกาสช่องทางจากการขายออนไลน์ว่ายังมีกำลังซื้ออีกจำนวนมาก บางคนก็มาปรับปรุงแพ็กเกจสินค้าให้ดีขึ้น เหมาะสมกับผลไม้ที่ตัวเองขาย เป็นต้น

ยกตัวอย่างผลไม้ที่มีการปรับตัวในการขายแบบออนไลน์และได้การตอบรับที่ดีมาก เช่น ทุเรียน, ส้ม, มังคุด, ฝรั่ง, มะเดื่อฝรั่ง (Fig), เงาะ, ลองกอง, กระท้อน, ลำไย, ลิ้นจี่, มะม่วง, ส้มโอ, กล้วยหอม, มะปราง-มะยงชิด, อะโวคาโด, แก้วมังกร, ชมพู่, น้อยหน่า, พุทรา, สละ, ละมุด, องุ่น, สตรอเบอรี่, เมล่อน, มะขามหวาน เป็นต้น นอกจากการขายแล้วนั้น อีกการปรับตัวของสวนใหญ่ ๆ ก็มีการเพิ่มความหลากหลายของผลไม้ในสวนให้มีมากขึ้น ลดจำนวนไม้ผลหลักที่เคยปลูกอยู่เดิมให้น้อยลง ยกตัวอย่างเช่น สวนคุณลี อ.เมือง จ.พิจิตร 08-1901-3760 ที่ปรับเปลี่ยนสวนในเนื้อที่เกือบร้อยไร่ ที่มีผลไม้หลักของสวนเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ก็ปรับเปลี่ยน โดยการเปลี่ยนยอดให้มะม่วงน้ำดอกไม้เป็นมะม่วงสายพันธุ์อื่นเกือบ 10 สายพันธุ์ โดยยังใช้ต้นมะม่วงน้ำดอกไม้เดิมเป็นต้นตอ เปลี่ยนยอดเป็นมะม่วงสายพันธุ์จากต่างประเทศทั้งหมด เช่น มะม่วงไข่พระอาทิตย์จากญี่ปุ่น, มะม่วงลูกผสมไต้หวัน T1 และ T2, มะม่วงไต้หวันงาช้างแดง, มะม่วงอาร์ทูอีทูจากออสเตรเลีย, มะม่วงเซ่งตะโลงจากเมียนมา, มะม่วงแก้วขมิ้นจากเขมร เป็นต้น ซึ่งจากการปรับตัวตัดสินใจเปลี่ยนสายพันธุ์มะม่วงให้มีความหลากหลายมากขึ้น พบว่าผลผลิตที่ออกมากลายเป็นตัวเลือกให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อเลือกชิมอะไรใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยลองทาน เมื่อทานแล้วติดใจก็จะสั่งซื้อเพิ่ม สั่งไปเป็นของฝากให้ญาติหรือเพื่อนฝูง

แน่นอนนอกจากการขายแล้ว คุณภาพของสินค้าก็ต้องมาควบคู่กัน ผลไม้ต้องได้มาตรฐาน ในด้านรสชาติ เก็บผลแก่ ผิวสวย ที่สำคัญต้องปลอดภัยจากสารเคมีมีการเลือกใช้หรือหยุดใช้สารเคมีให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค หรือ ใช้เทคนิคในการห่อผลเข้ามาช่วยในการห่อผลไม้ซึ่งผลที่ได้จากการห่อผล คือ ป้องกันสารเคมีที่ฉีดพ่นได้ดี ไม่เจอปัญหาแมลงวันทองมาเจาะทำลายผล ผิวผลไม้จะสวยและน้ำหนักผลดี เป็นต้น ยิ่งผ่านการทำมาตรฐาน GAP ของวิชาการจากกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นขั้นพื้นฐานก็สามารถต่อยอดเรื่องการส่งออกได้เป็นอย่างดี อนาคตถ้าชาวสวนมีศักยภาพมากพอก็สามารถขยับเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ เพราะสินค้าเกษตรอินทรีย์ ในปัจจุบันนับเป็นอนาคตที่โลกต้องการ เนื่องจากสามารถแปรสภาพ แปรรูป ไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้หลายอย่างเพราะสังคมโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาหารเพื่อสุขภาพยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

เกษตรแบบผสมผสานยังสามารถตอบโจทย์ได้ดีเพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปีสวนผลไม้หลาย ๆ สวนหันมาปลูกพืชมากกว่าหนึ่งชนิด เช่นแต่เดิมปลูกมะม่วงที่ให้ผลผลิตปีละ 1 ครั้ง ก็หาไม้ผลที่สามารถบังคับให้ออกดอกและติดผล มีผลผลิตในช่วงที่รอผลผลิตจากมะม่วง ยกตัวอย่าง “ฝรั่ง” ที่สามารถเก็บขายได้เกือบตลอดทั้งปี บังคับให้ออกดอกติดผลตามที่ต้องการด้วยการตัดแต่งกิ่งหรือโน้มกิ่ง “มะเดื่อฝรั่ง” ผลไม้เพื่อสุขภาพที่สามารถมีผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ราคา กก.ละ 200-500 บาทเลยทีเดียว สามารถสร้างรายได้แบบรายเดือนให้เกษตรกรในระหว่างที่รอผลผลิตหลัก หรือไม้ผลชนิดอื่นที่ให้ผลผลิตไม่ตรงกัน เน้นสร้างความหลากหลายของสินค้าให้ผู้บริโภคได้เลือก

สินค้าเกษตรแปรรูปผลไม้บางส่วนที่แก่จัดหรือขายไม่ทันในบางช่วงต้องมีการแปรรูปเพิ่มมูลค่า ยกตัวอย่าง “กล้วยน้ำว้า” ก็นำไปแปรรูปเป็นกล้วยอบ กล้วยตาก อาจจะเพิ่มความน่าสนใจในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่ร่วมสมัย “มะขามเปรี้ยวยักษ์” ก็ถูกนำมาดองหรือแช่อิ่มเพิ่มมูลค่าจากที่เคยขายฝักสด กก.ละ 20-50 บาท เมื่อดองหรือแช่อิ่มแล้วสามารถจำหน่ายได้ กก.ละ 200-300 บาทเลยทีเดียว.