โดยกรณีดังกล่าวนี้ก็ถือเป็น “วิกฤติใหญ่” ของบรรดาสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยพบว่า “แนวโน้มผู้เข้าศึกษาใหม่ลดลงเรื่อย ๆ” อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกรณีนี้วิกฤตินี้ก็ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะเกิดในประเทศไทย หากแต่ค่อย ๆ เกิดมาได้สักพักแล้ว โดยที่ “ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา” นี้ขึ้นนั้น…

ไม่ได้มีแค่ “อัตราการเกิดใหม่ลดลง”…

ยัง “มีสาเหตุอื่น-ปัจจัยอื่น” ประกอบกัน

จนส่งผลให้เกิด “วิกฤติขาดนักศึกษา??”

เกี่ยวกับกรณี“มหาวิทยาลัยขาดแคลนผู้เรียน” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้นั้น กรณีนี้ได้มีนักวิชาการให้ความสนใจ-ให้ความสำคัญ เพราะถือเป็นอีก “ปรากฏการณ์” ที่สังคมไทยก็จำเป็นต้องใส่ใจ เพราะวิกฤตินี้ก็อาจส่งผลโยงใยไปถึงมิติด้านอื่น ๆ ซึ่ง ดร.นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สะท้อนเรื่องนี้ไว้ผ่านบทความ “มหาวิทยาลัยแบบไหนครองใจนักศึกษาไทย” ที่เผยแพร่อยู่ใน www.theprachakorn.com

ทั้งนี้ ดร.นุชราภรณ์ ได้ฉายภาพเรื่องนี้ไว้ว่า… ช่วงเวลานี้ หลาย ๆ มหาวิทยาลัยของไทยอยู่ในช่วงเปิดรั้วมหาวิทยาลัย หรือที่เรียกว่างาน “OPEN HOUSE เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้น ม.ปลาย ที่ใกล้จะศึกษาจบ ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสบรรยากาศและชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของจริง ด้วยการได้เห็นรูปแบบการเรียนการสอนของคณะต่าง ๆ ถือเป็นการเตรียมตัว-เตรียมพร้อม ก่อนเข้าเป็น “นักศึกษาใหม่”  ซึ่งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั้นต่างก็พยายามที่จะ “แสดงศักยภาพเพื่อดึงดูดใจ”

นี่ก็ “ยิ่งสะท้อนบรรยากาศการแข่งขัน”

นักวิชาการท่านเดิมสะท้อนไว้อีกว่า… “การแข่งขันของมหาวิทยาลัย” ในยุคปัจจุบัน “เข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ” และสิ่งที่สะท้อนชัดเจนถึง “ความพยายามปรับตัว” ก็คือ… มีการเพิ่มจำนวนสถาบัน หรือขยายวิทยาเขตใหม่ รวมถึง มีการเปิดหลักสูตรใหม่ ๆ เพื่อจะ “ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่” มากขึ้น โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้เคยเปิดเผยข้อมูลจำนวน นักเรียนที่เข้าศึกษาต่อ ว่ามีแนวโน้ม ลดลงอย่างต่อเนื่อง ที่ถึงแม้ว่าเรื่องอัตราการเกิดที่ลดลงจะเป็นปัจจัย แต่ก็มีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลทำให้จำนวนนักเรียนที่อยากเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยลดลง

พร้อมกันนี้ก็มีการแจกแจงไว้ต่อไปว่า… จากตัวเลขของสภาพัฒน์ระหว่างปี 2558-2562 พบว่า…มีนักเรียนเข้าศึกษาต่อลดลงเหลือเพียงร้อยละ 25.7 จากจำนวนทั้งหมด ซึ่งมีสาเหตุจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง อัตราการเกิดลดลง แต่อีกปัจจัยที่ก็สำคัญและมีผลไม่แพ้กันคือ “ค่านิยมการศึกษาต่อเปลี่ยนไป” ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีมุมมองในการ “ให้ความสำคัญกับใบปริญญาลดลง” เนื่องจากคนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงอาชีพใหม่ ๆ ได้หลากหลายและเปิดกว้างมากขึ้น

นี่ก็ “อีกปัจจัยสำคัญทำให้เกิดวิกฤตินี้”       

และทาง ดร.นุชราภรณ์ ยังได้สะท้อนไว้ในบทความว่า… สิ่งที่เกิดขึ้น…คือการที่ มหาวิทยาลัยต่างต้องปรับตัวเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน และสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากที่สุด เนื่องจากผู้เรียนล้วนมีความคาดหวัง และต้องการมีช่วงเวลาในรั้วมหาวิทยาลัยที่น่าจดจำ ดังนั้นจึงทำให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต้องพยายามหาคำตอบกันว่า… “ปัจจัยใด?-สภาพแวดล้อมเช่นไร?” ที่จะทำให้ “นักศึกษามีความสุข” จนกลายเป็น “มหาวิทยาลัยในฝัน” ได้ ซึ่งกับคำตอบในเรื่องนี้ก็ได้ถูกฉายภาพและสะท้อนไว้ ผ่านทางผลการศึกษาจากโครงการที่มีชื่อว่า… “การสนับสนุนระบบปัญญานิเวศเพื่อสร้างเสริมมหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กรสุขภาวะที่ยั่งยืน” หรือ “Happy University”

ทั้งนี้ ผลการสำรวจภายใต้โครงการ “Happy University” ที่ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างนักศึกษา ในช่วงระหว่างปี 2564-2565 โดยมีนักศึกษาร่วมตอบแบบสอบถาม 12,580 คน จาก 21 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ พบว่า… จากคะแนนเต็ม 10 นั้น นักศึกษาให้ “คะแนนระดับความสุขเฉลี่ยกับชีวิตในมหาวิทยาลัย” ไว้เพียงแค่ 6.98 คะแนนเท่านั้น ขณะที่ผลการสำรวจเกี่ยวกับ “ระดับความสุขโดยรวม” ไม่ว่าจะเป็น… ทัศนคติที่มีต่อการเรียนการสอน โอกาสการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม ความสามารถในการแสดงความคิดเห็น สิทธิ สภาพแวดล้อม บริการ และสวัสดิการต่าง ๆ นั้น พบว่า… สภาพแวดล้อมโดยรวมของมหาวิทยาลัยมีความสำคัญและส่งผลต่อระดับความสุขโดยรวมของชีวิตในมหาวิทยาลัยมากที่สุด

นอกเหนือจากนั้นก็ยังมีเรื่องของ ความคุ้มค่าของความรู้ที่ได้รับจากการลงทุนด้านการศึกษา อาทิ ค่าเล่าเรียน เวลา และปัจจัยเรื่อง สวัสดิการ-สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่มีในมหาวิทยาลัย …ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ไม่เพียงสัมพันธ์กับระดับความสุขของนักศึกษา แต่สภาพแวดล้อม สวัสดิการ-สิ่งอำนวยความสะดวก และความรู้สึกคุ้มค่า ก็เป็น 3 ปัจจัยแรกที่สัมพันธ์กับ ระดับความผูกพันของนักศึกษาที่มีต่อมหาวิทยาลัย ด้วย …นี่เป็น “มุมสะท้อนของคนรุ่นใหม่”ที่นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ฉายภาพไว้ เกี่ยวกับ“สถานการณ์มหาวิทยาลัยไทยยุคปัจจุบัน”…

ที่ “จากเดิมมหาวิทยาลัยกำหนดโจทย์”

ก็ “เปลี่ยนเป็นนักศึกษากำหนดโจทย์”

“แก้โจทย์ดึงผู้เรียน” นี่ “ก็น่าจับตา??”.