ในยุคเสรีนิยมใหม่เฟื่องฟู หลายๆ คนต่างพูดถึงคำว่า “มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน” ทลายเงื่อนไขการเหยียด การเลือกปฏิบัติที่เคยมี อย่างอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือเชื้อชาติ สีผิว ความพิการ เพศวิถี ก็ไม่เอามาล้อเลียน อัตลักษณ์ที่เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล เช่น ความคิดทางการเมือง, ศาสนา ก็ต้องให้ความเคารพ ไปจนถึง การเคารพกลุ่มอาชีพ “บางกลุ่ม” ที่สังคมเคยตีตรา คือ กลุ่มผู้ให้บริการทางเพศ (sex worker) เพราะถือว่า เอาจริงก็เป็นการทำมาหากินสุจริต ใช้แรงงานเลี้ยงชีพตัวเอง ไม่ได้ทุจริตคดโกงใครมา

และเรื่องเซ็กซ์ เรื่องของโป๊ มันก็เป็นธรรมชาติวิสัยของมนุษย์ที่ถึงวัย ถึงเวลามันก็มีอารมณ์กันได้ แต่เราก็มักจะได้ยินเหตุผลเชิงจริยธรรม เชิงไม่อยากให้มีปัญหากับเยาวชน มากำกับ “ความบันเทิงแบบผู้ใหญ่” ซึ่งมุมหนึ่งพูดไปก็น้ำท่วมปาก เพราะเห็นคดีข่มขืนล่วงละเมิดทางเพศบ้านเราเยอะจริงๆ และตัวแปรหนึ่งที่กระตุ้นคือของโป๊นี่แหละ…แล้วจะทำอย่างไรให้มันพอใจกับทุกฝ่าย? ก็ต้องบอกว่า มันต้องแก้ปัญหาแบบระยะยาวเลยทีเดียว เรื่องเกี่ยวกับการเรียนการสอนวุฒิภาวะทางเพศ เรื่องการเคารพสิทธิในร่างกายคนอื่น มีเพศสัมพันธ์อย่างเต็มใจ (consent) เรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างมีความรู้ และสอนกันตั้งแต่เด็กๆ ว่า สิทธิในร่างกายเราคืออะไร การที่ผู้ใหญ่มาโดนส่วนไหนมีโอกาสเรียกได้ว่าเป็นการล่วงละเมิด

ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนถูกปลุกให้เฟื่องฟูมากขึ้น เรื่องของอาชีพ sex worker ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาในมุมที่เกี่ยวกับสิทธิในร่างกายของเขา ว่า “มันไม่ควรต้องเป็นเรื่องผิดกฎหมาย” มันคือทางเลือกในการหาเลี้ยงชีพรูปแบบหนึ่ง แล้วอะไรบ้างที่ควรจะเรียกว่า sex worker? อันแรกก็คือการขายบริการทางเพศจริงๆ ทั้งอยู่ในร้าน หรือทำอิสระผ่านทางอินเทอร์เน็ต กระทั่งยืนข้างทาง …และอีกส่วนหนึ่งก็คือ sex creator หรือ ผู้ผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับเพศ ..ที่บางคนอาจไม่นับตัวเองเป็น sex worker  ..ในช่วงโควิด สังเกตดูดีๆ ว่ามีกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาก ทั้งในรูปแบบให้สมัครเข้าไลน์กลุ่มเก็บเงิน, จ่ายเงินค่าสมาชิกแล้วจะเข้าทวิตเตอร์ที่เป็นแอคเคานท์ล็อกได้ หรือไปแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง onlyfans

ทำของโป๊มันเป็นช่องทางหาเงินได้ในช่วงที่เศรษฐกิจแย่ช่วงโควิด คนอยู่บ้านไม่มีอะไรทำ ก็เข้าไป subscribe หรือสมัครสมาชิกดู ..ขณะที่คนทำ บางคนก็เคยมีหน้าที่การงานดีๆ หรือมีกิจการ แต่เมื่อต้องมีภาวะความจำเป็น ดิ้นรนก็ฝืนทำไปสักครั้งสองครั้ง แล้วต่อมาความกล้าก็จะมาเอง จากถ่ายเดี่ยวกลายเป็นถ่ายคู่ อย่างที่ เขาเรียกว่า collab  ..ใครเล่นทวิตเตอร์ที่เจ้าของ account โปรโมต onlyfans ของตัวเอง ก็คงจะเห็นเขียนบ่อยๆ ว่า “หาคนมา collab ด้วย”   

Sex worker ในประเทศไทยมีความเสี่ยงอะไรบ้าง? ในมิติด้านสังคม แม้เราจะบอกว่า ยอมรับสิทธิส่วนบุคคล แต่ถ้าใครเป็น sex worker นี่ ต้องโดนประเมินโดยสายตาคนรอบข้างในรูปแบบต่างๆ กัน ..โดยเฉพาะในเชิงศีลธรรม ที่เราถูกปลูกฝังกันมานาน จะมองคนกลุ่มนี้ในแง่ลบ ยิ่งถ้าผลิตเนื้อหาโป๊ลงอินเทอร์เน็ต มันจะกลายเป็น “ร่องรอยดิจิทัล” ที่ติดตัวไปอีกนาน ซึ่งถ้ามั่นใจแล้วว่า อยู่ได้แบบไม่แคร์ใคร ก็ไม่ทุกข์ใจเวลาถูกมองประเมิน หรือถูกปฏิเสธงาน ถูกไล่ออกเมื่อผู้บริหารรู้ ..หรือไม่ต้องถึงสังคมภายนอก มี sex worker บางคนที่ครอบครัวรับไม่ได้ ถึงขั้นไล่ออกจากบ้านกันก็มี และกลายเป็นความทุกข์ ความเครียด สุดท้ายก็จะเข้าสู่ วงจรการพึ่งยาเสพติด

การทำงาน อาจถูก “ล่วงละเมิดเกินข้อตกลง” เช่น กรณีขายบริการทางเพศ แขกทำมากกว่าเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ และเป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการรับไม่ได้ หรือ กรณีการขายคลิป ขายรูปโป๊ ก็เจอบางคนในกลุ่มเอาไปเผยแพร่สู่สาธารณะ ทวิตเตอร์เป็นช่องทางง่ายสุด..แบบว่าหวังดีแบ่งกันดู กลายเป็นว่า บางคนที่ถ่ายเป็นพ่อเป็นแม่คนแล้ว ต้องมาขอร้องให้ลบ เพราะอยากจำกัดให้ภาพหรือคลิปของตัวเองอยู่ในกลุ่มเฉพาะเท่านั้น เกิดลูก เพื่อนลูก ผู้ปกครองเพื่อนลูกไปเห็น จะเกิดอะไรขึ้น

และหลักใหญ่ใจความคือ “มันยังผิดกฎหมาย” ซึ่งในช่วงที่การเมืองกำลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ก็มีคนมองว่า กลุ่ม sex worker นี้ มีคะแนนเสียงมาก บางองค์กรเอ็นจีโอประเมินถึงหลักแสนสองแสน ซึ่งไม่แน่ใจว่า นับเฉพาะคนไทยหรือนับต่างด้าวที่เข้ามาทำงานนี้ในไทยด้วย เอาแค่ในกรุงเทพฯ สำรวจกันจริงๆ ต่างด้าวก็เยอะนะ และยังมี sex creator อีก ที่ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นำเข้าข้อมูลลามกอนาจาร ..แต่ถ้ามันมีมากจริง และต้องการแก้ปัญหาแบบ “เคารพสิทธิมนุษยชน” คือ ต้องมีการ “ควบคุม” และ “คุ้มครอง”

ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่า “ควบคุม” นี่ไม่ใช่ห้ามประกอบอาชีพนี้ แต่ต้อง มีการควบคุมให้คนประกอบอาชีพนี้ตรวจสุขภาพประจำเพื่อป้องกันการแพร่โรค ไวรัสตับอักเสบบ้างล่ะ เอชไอวีบ้างล่ะ เอชพีวีบ้างล่ะ ..การจะควบคุมตรงนี้ วิธีที่เด็ดขาดเลยคือการ “ให้ขึ้นทะเบียน” กลุ่มผู้แสดงหนังโป๊ ก็ต้องมาขึ้นทะเบียนเพื่อรู้ว่า เวลาไป collab กับใคร จะได้ไม่เอาโรคแพร่ต่อกัน ในวงการหนังโป๊ของต่างประเทศเขายังตรวจเลือดกัน ..แต่เชื่อเถอะว่า น้อยมากที่จะยอมมาขึ้นทะเบียน เรื่องอายก็ส่วนหนึ่ง เรื่องไม่รู้ว่าจะต้องทำไปทำไมก็อีกส่วนหนึ่ง ก็มันไม่ใช่อาชีพที่กะจะยึดไว้เลี้ยงชีพระยะยาวนี่ บางคนหาเงินซื้อของแพงๆ สักชิ้น ให้ “โมเดลลิ่ง” หรือนายหน้าหาแขกให้ ไม่กี่รอบพอได้เงินก็หายไปนาน กลับมาอีกเมื่อต้องการเงิน

มีคนฝากให้ควบคุม หรือจะเรียกว่าคุ้มครอง ก็ได้ เรื่องการรับงาน “high” ด้วย เพราะปัจจุบันมีพวกศิลปินอิสระตามอินเทอร์เน็ต ประกาศรับงานแบบนี้เยอะ หรือไม่ก็แขกยื่นเงื่อนไขให้ กลายเป็นการทำให้ยาเสพติดแพร่ระบาดขึ้นมาอีก และกลายเป็นภาระของรัฐบาลในการดูแลเรื่องสุขภาพ กรณีเล่นยาจนเพี้ยน ..ซึ่งตรงนี้กฎหมายยาเสพติดคงครอบคลุม

การ “คุ้มครอง” คือการทำให้เรื่องการเป็น sex worker หรือ sex creator ถูกกฎหมาย ซึ่งหลายคนก็หลายความเห็น แต่เพราะมันมีทั้งขาประจำและขาจรรับจ๊อบแค่เท่าที่อยากนี่แหละ (ขาจรบางทีมีฐานะด้วยซ้ำ แต่ไม่ถือสาเรื่องใช้เซ็กซ์หาเงิน) ทำให้จะให้มาขึ้นทะเบียนเพื่อตรวจสุขภาพก็ยาก …ซึ่งเอ็นจีโอบางเจ้าก็รณรงค์ว่า เรื่องสุขภาพเราทำได้แค่ให้ความรู้เขา แต่การคุ้มครองจริงๆ คือ เป็นอาชีพไม่ผิดกฎหมาย ตำรวจไม่จับ แขกทำเกินเงื่อนไขข้อตกลงแจ้งความได้ ทั้งนี้ ไม่มีการพูดถึงเรื่องการเก็บภาษีแต่อย่างใด เพราะกรณีแขกจ่ายตามเสน่หานี่ ไม่รู้จะออกใบเสร็จอย่างไร      

นโยบายของแต่ละพรรคเป็นอย่างไร เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่โรงแรม เดอะพาลาสโซ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ และตัวตัวแทนพนักงานบริการทั่วประเทศ ได้จัดเวทีพบนักการเมือง “คืนงาน คืนคน เปลี่ยนส่วนเป็นภาษี ธุรกิจดีไม่สีเทา” โดย น.ส.ไหม จันตา ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และตัวแทนพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ได้สะท้อนความเห็นในเวทีประชุมว่า กฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 2539 ถูกใช้มากว่า 20 ปี มีความจำเป็นต้องรื้อทบทวนปรับปรุงแก้ไข ที่ผ่านมาทางเครือข่าย ได้มีการระดมความคิดเห็น จนได้กฎหมายใหม่นี้ขึ้นมา ซึ่งมีพนักงานบริการเข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ จนได้เป็น กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ

กฎหมายฉบับนี้ จะเน้นการขึ้นจดทะเบียน ในลักษณะของสถานประกอบการเป็นหลัก เบื้องต้นกำหนดให้ ผู้ที่จะซื้อบริการอายุต้อง 20 ปีขึ้นไป ขณะที่คนขายบริการอายุต้อง 18-20 ปีขึ้นไป และ ต้องตรวจสุขภาพทุก 3 เดือน รวมทั้งจัดให้มีการทำประกันสังคมด้วย หวังว่า กฎหมายฉบับนี้ บรรดานักการเมืองจะรับฟังและผลักดันออกเป็นกฎหมายได้

นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทางพรรคยินดีสนับสนุนผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องยอมรับว่า กฎหมาย พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี ที่ใช้อยู่ล้าหลัง ที่เห็นชัดสุดคือ ไม่มีการคุ้มครองสวัสดิการพนักงานบริการ มีช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่รัฐมาเรียกรับผลประโยชน์ โดยเฉพาะการเรียกรับส่วย มีการจับแล้วปล่อย ปล่อยแล้วจับอยู่อย่างนี้ จึงมีความจำเป็นที่เราต้องตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ การขายบริการทางเพศต้องไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป ต้องผลักดัน คือการสร้างอาชีพเพิ่มทักษะ เนื่องจากอาชีพนี้ จะมีการประกอบอาชีพไม่ยาวนาน ต้องขยับไปทำอาชีพอื่น

นายกนก วงษ์ตระหง่าน พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ทางพรรคยินดีและพร้อมที่จะผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน การค้าประเวณีไม่มีสวัสดิการ สังคมยังรังเกียจอีก เจอเจ้าหน้าที่ขี้ฉ้อ มาจับมารีดรับส่วยอีก ทางพรรคอยากเห็นการป้องกันไม่ให้พนักงานขายบริการ เมื่อถูกจับ จะถูกบันทึกประวัติความผิดอาญา ตรงนี้ต้องไม่มีอีกต่อไป เพราะหากมีการบันทึกคงประวัติไว้ ก็จะส่งผลต่อการไปประกอบอาชีพอื่น ถือเป็นการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง

นายรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ พรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ทางพรรคเห็นด้วยที่ต้องยกเลิกกฎหมายฉบับเก่า เกี่ยวกับการค้าประเวณี เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีการถ่ายคลิปเซ็กซ์ในพื้นที่เฉพาะเก็บเงิน (onlyfans) ซึ่งนอกจากจะโดนโทษ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แล้ว ยังโดนความผิดทางอาญาด้วย จึงอยากให้คลิปทำเป็น onlyfans นำขึ้นมาอย่างถูกกฎหมาย ด้วย รวมถึง เซ็กซ์ทอยก็เช่นกัน ก็ขอให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย

น.ส.ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ตัวแทนพรรคสามัญชน กล่าวว่า เราจะยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 301 เรื่องการเอาผิดผู้หญิงที่ทำงานบริการ ยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดในเรื่องการค้าประเวณี และที่สำคัญพรรคสามัญชน สามารถที่จะส่งผู้แทนได้แค่ 10 คนในปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งในปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคสามัญชน จะเป็นพนักงานบริการด้วย      

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ในสภา ที่รับเรื่องนี้มา ทางพรรคยินดีผลักดันให้ถึงที่สุด เรายังยืนยันความคิดเดิมที่ว่า การค้าประเวณีไม่ใช่อาชญากรรม ต้องออกกฎหมายใหม่ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องสวัสดิการพนักงานขายบริการ โดยเฉพาะประกันสังคม สถานบริการต้องมีความปลอดภัย ต้องมีการจัดโซนนิ่ง เพื่อจะได้ไม่รบกวนชาวบ้านชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ กรณีพนักงานขายบริการถูกเบี้ยวค่าตัว ไม่ต้องไปร้องต่อศาลแพ่ง สามารถใช้สิทธิศาลแรงงานในการไต่สวนได้เลย

ว่าแต่ มีบางคนแถวๆ นี้บอกว่า คิดแต่การจะคุ้มครอง sex worker แล้วมีมาตรการอะไรคุ้มครองผู้บริโภคบ้าง งั้นก็ขอฝากโจทย์นี้ไปกับพรรคการเมืองแล้วกันว่า “ผู้บริโภคน่าจะมีความเสี่ยงอะไรบ้าง และให้ความเป็นธรรมอย่างไร”

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”