การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นำคณะสื่อมวลชนลงชี้เป้าพื้นที่ก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) ฉลองรัชส่วนต่อขยายช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ระยะทาง 16.2 กม.วงเงิน 24,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระยะ (เฟส) แรกของโครงการทางด่วนฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระยะทาง 104.7 กม. วงเงิน 80,594 ล้านบาท

เดือน พ.ค.นี้ กทพ. จะออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูลโครงการฯ คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลปลายปี 66 แบ่งก่อสร้างเป็น 5 สัญญาเริ่มก่อสร้างต้นปี 67 ใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน พร้อมเปิดบริการประมาณต้นปี 70 ส่วนที่เหลือจะทยอยก่อสร้างต่อไป

ทางด่วนสายใหม่รองรับความเร็วได้ 120 กม.ต่อ ชม. (จากเดิมไม่เกิน 110 กม.ต่อ ชม..) ใช้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) คาดการณ์ปริมาณจราจรในปีเปิดบริการ 3.2 หมื่นคันต่อวัน อัตราค่าผ่านทางเริ่มต้นที่ 25 บาท สูงสุด 125 บาท จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ รวมถึงเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้ประชาชนใน จ.ปทุมธานี และใกล้เคียงเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน รองรับการขยายตัวของแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย และสถานศึกษา

การทางพิเศษ" ลุยเปิดประมูลสร้างทางด่วนฉลองรัช-สระบุรี 2.4 หมื่นล้าน

นายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการ กทพ. ให้ข้อมูลว่า ความพิเศษ (ไฮไลต์) ของทางด่วนสายนี้อยู่ที่พื้นที่บริการทางพิเศษ หรือจุดพักรถ (Service Area) บนเนื้อที่ประมาณ 64 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณคลอง 9 เป็นอาคารคร่อมทางด่วนมีลักษณะเหมือนห้างสรรพสินค้าบนทางด่วนที่ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อประโยชน์ใช้สอยพื้นที่ร่วมกันได้ทั้งสองฝั่งถนน ทั้งพื้นที่จอดรถขนาดใหญ่ จอดรถขนาดเล็ก สถานีตำรวจและกู้ภัย ร้านค้า สำนักงานของ กทพ. เพื่อให้บริการประชาชนและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ห้องน้ำ และสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger Station)

สำหรับจุดพักรถกลางทางด่วนนั้น กรมทางหลวง (ทล.) เป็นหน่วยงานแรกที่เปิดตัวโครงการโดยมีแผนก่อสร้างที่พักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์ M7) กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด 2 แห่งที่บางละมุง และศรีราชา วงเงินลงทุน 2,382.02 ล้านบาท เตรียมประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนกลางปี 66 ให้บริการบางส่วนภายในปี 68 และเปิดบริการเต็มรูปแบบภายในปี 69

ในโอกาสนี้ ผู้ว่าการ กทพ. นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ยังอัปเดตทางพิเศษ 11 โครงการวงเงินกว่า 3 แสนล้านบาท ที่ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนงานเพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นทางเลือกการเดินทางแก่ประชาชน ประกอบด้วย…

1.โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกวงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท การก่อสร้างภาพรวมคืบหน้า 51% ประมาณกลางปี 67 จะเปิดให้บริการสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ซึ่งได้ผลงานแล้ว 99.21% เพื่อให้รถยนต์ขึ้นลงถนนสุขสวัสดิ์ได้ก่อน โดยจะเปิดบริการฟรี 6 เดือนก่อนเปิดตลอดทั้งเส้นทางปลายปี 67,

2.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 (ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก) วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท และระยะที่ 2 (ส่วนทดแทนตอน N1 ศรีรัช-ถนนประเสริฐมนูกิจ) วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการ

3.โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท เริ่มก่อสร้างต้นปี 67 เปิดบริการปี 70

4.โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 วงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมคืบหน้า 73.54% คาดว่าจะประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 2 เดือน เม.ย. 66,

5.โครงการทางพิเศษ สายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท จะเริ่มศึกษาความเหมาะสม และออกแบบกรอบรายละเอียดโครงการฯ เดือน พ.ค.66,

6.โครงข่ายทางสนับสนุนการเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักของประเทศ ช่วง จ.สมุทรสาคร-จ.สมุทรปราการ (สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ และถนนเชื่อมต่อ) วงเงิน 1.09 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) เพื่อศึกษาความเหมาะสม และออกแบบกรอบรายละเอียดของโครงการ

7.โครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเข้าร่วมทุน วันที่ 7 เม.ย. 66,

8.โครงการทางพิเศษ สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จ.ภูเก็ต วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม คืบหน้า 70.96%,

9.โครงการระบบจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) คาดว่าจะเปิดให้บริการระยะที่ 1 ภายในเดือน ก.ค. 66 นำร่องทางด่วนฉลองรัช 3 ด่าน ได้แก่ ด่านจตุโชติ, สุขาภิบาล 5-1 และสุขาภิบาล 5-2

10.โครงการทางพิเศษข้ามอ่าวไทยเชื่อมเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี กับ อ.ขนอม จ. นครศรีธรรมราช วงเงิน 3.3 หมื่นล้านบาท จะเริ่มศึกษาความเหมาะสมและออกแบบกรอบรายละเอียดโครงการฯ เดือน เม.ย. 66

11.โครงการทางพิเศษข้ามอ่าวไทยเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท กระทรวงคมนาคมมีข้อสั่งการให้ กทพ. ประสานกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อสำรวจศึกษาและออกแบบสะพานข้ามเกาะช้าง โดยเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 66 ได้ประสานขอข้อมูลจาก ทช. เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความเหมาะสม กทพ. กำลังจัดทำร่างขอบเขตงาน (TOR) เพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการฯ ภายในปีนี้ ใช้เวลาศึกษาราว1 ปี เบื้องต้นมีจุดเริ่มต้นในพื้นที่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด เชื่อม อ.เกาะช้าง จ.ตราด

2 โครงการสุดท้ายถูกพูดถึงกันมานานในรูปแบบของสะพาน กำลังจะพัฒนาเป็นทางด่วนข้ามอ่าวไทย 2 สายแรกเชื่อมเกาะสมุยและเกาะช้าง แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็วยิ่งขึ้น

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…