ดังนั้น เพื่อเป็นการเช็กความพร้อม ตระเตรียมตัวไปออกเสียงในฐานะพลเมือง หลังศึกษาพรรคการเมืองที่ชอบ นักการเมืองที่ใช่ จดจำหมายเลขไว้ให้แม่นยำ “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” ขอทวนพื้นฐานการออกไปใช้สิทธิลงคะแนน และข้อห้าม ไม่ให้ “เผลอ” กระทำผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพื่อทุกคะแนนเสียงจะได้ไม่สูญเปล่า เริ่มจาก

พกหลักฐานแสดงตัว

ใช้ได้ทั้งบัตรประชาชน (บัตรหมดอายุก็ใช้ได้), บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของราชการหรือหน่วยงานรัฐที่มีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประชาชนของผู้ถือบัตร, หลักฐานภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดผ่านแอปพลิเคชันของหน่วยงานรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์

เข้าคูหา 5 ขั้นตอน

1. ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง

2. แสดงบัตรประชาชนหรือหลักฐานอื่นใดของราชการหรอหน่วยงานรัฐ หรือหลักฐานภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดผ่านแอป ต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง

3. รับบัตรเลือกตั้ง

4. ทำเครื่องหมายกากบาท (x) ในช่องทำเครื่องหมายของหมายเลขผู้สมัครในบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และช่องทำเครื่องหมายของหมายเลขบัญชีรายชื่อ, กรณีไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ทำเครื่องหมายกากบาทในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”

5. เมื่อลงคะแนนเสร็จ พับบัตรเลือกตั้ง แล้วหย่อนบัตรลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตัวเอง

“ข้อห้าม” ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

– ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้น พยายามออกเสียงลงคะแนน หรือออกเสียงลงคะแนนโดยแสดงบัตรหรือหลักฐานที่มิได้มีไว้สำหรับตนเองหรือปลอมแปลงขึ้น

– ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนำบัตรเลือกตั้งออกจากที่เลือกตั้งห้ามมิให้ผู้ใดจงใจทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดไว้ที่บัตรเลือกตั้ง

– ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว

– ห้ามมิให้ผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งใส่หีบบัตรเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ เพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนเพื่อออกเสียงโดยผิดไปจากความเป็นจริง หรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรเลือกตั้งเพิ่มเกินความเป็นจริง

– ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนำบัตรเลือกตั้งที่ออกเสียงลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าตนได้ลงคะแนนเลือก หรือลงคะแนนเลือกผู้สมัครใด

– ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใดโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิสามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง หรือมิให้ไปถึง ณ ที่ดังกล่าวภายในกำหนดเวลาลงคะแนนได้

– ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนหรืองดเว้นไม่ลงคะแนน

ไม่ไปลงคะแนน ไม่แจ้งเหตุ “5 สิทธิถูกจำกัด”

1. ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.

2. สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือก ส.ว.

3. สมัครรับเลือกเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชกการเมืองและข้าราชการฝ่ายการเมือง

การจำกัดสิทธิ กำหนดครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง ครั้งที่ผู้มีสิทธิไม่ไปใช้สิทธิ

เลือกตั้งครั้งนี้บัตร 2 ใบ 2 สี

คือบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต (สีม่วง) ไว้สำหรับลงคะแนนเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต อีกใบคือบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (สีเขียว) 

บัตรทั้ง 2 ใบนี้ นอกจาก “สี” ภายในบัตรยังแตกต่างกัน โดยบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต (สีม่วง) จะมีหมายเลขผู้สมัคร และช่องกากบาท  ส่วนบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (สีเขียว) มีเครื่องหมายพรรคการเมือง และชื่อพรรคการเมือง 

สังเกตและจดจำเลขหมายพรรคการเมือง และนักการเมืองที่ต้องการเลือกให้ดี และกากบาทเลือกในบัตรเลือกตั้งให้ถูกใบ

ขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าทุกคน ออกไปใช้สิทธิตามที่ลงทะเบียนไว้ ณ หน่วยเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. อนาคตประเทศจะเปลี่ยนไปแค่ไหน อยู่ที่ 1 สิทธิ 1 เสียงของทุกคน.