ประธานสภาฯของพรรคไหนไม่แปลก!

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวกับทีมข่าว “Special Report” ว่าตอนนี้คอการเมืองโฟกัสไปที่ 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย กำลังชิงไหวชิงพริบกันว่าแต่ละฝ่ายจะเดินเกมอย่างไรเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ

แน่นอนว่าเรื่องความชอบธรรมนั้น พรรคอันดับ 1 คือก้าวไกล มีความได้เปรียบอยู่แล้ว จึงสามารถเดินไปตามเกมปกติ คือนอกจาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะผลักดันนายพิธา ลิ้มเจริญงรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลก็พยายามที่จะเอาเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรไว้ที่พรรคอีกด้วย และพรรคเพื่อไทยก็ต้องการตำแหน่งประธานสภาฯด้วยเหมือนกัน

ถามว่าแปลกหรือไม่ ตนว่าไม่แปลก เนื่องจากเที่ยวที่แล้วในการเลือกตั้งปี 62 พรรคอันดับ 1-2 ก็ไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาฯไปครอง

สัญญาณ!ไม่เอา “พิธา” หรือปฏิเสธ “ก้าวไกล” ด้วย!

ดร.สติธรกล่าวต่อไปว่า คราวนี้เมื่อมองนายพิธาและพรรคก้าวไกล จากกระแสปัจจุบันต้องจับตาว่ามี “สัญญาณพิเศษ” ที่จะไม่เอานายพิธาอย่างเดียวแค่นั้น หรือว่าไม่เอาพรรคก้าวไกลด้วย

เมื่อจะมีการโหวตเลือกประธานสภาฯในวันที่ 4 ก.ค.นี้ ถ้าส.ส.พรรคเพื่อไทยแตกแถว (โดยเฉพาะกลุ่มส.ส.อีสาน) และสุดท้ายคือพรรคก้าวไกลไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาฯ นี่คือสัญญาณมาแล้วว่าเขาไม่เอาพรรคก้าวไกล ชัดเจน!

“ผมมองว่ากลุ่มส.ส.อีสานเพื่อไทย ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ในพรรคเขาไม่ได้แคร์ ไม่ได้กลัวพรรคก้าวไกลนะ! จริงอยู่พรรคเพื่อไทยอาจจะพลาดเป้าส.ส.เขตในอีสานไปพอสมควร แต่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของเพื่อไทยในอีสานมากกว่าพรรคก้าวไกล เรียกว่ายังเป็นพื้นที่สีแดงเข้มข้นของพรรคเพื่อไทย ดังนั้นจึงต้องดูว่าวันโหวตประธานสภาฯ จะมีส.ส.เพื่อไทยแตกแถวหรือไม่ โดยมีตัวอย่างคุณอดิศร เพียงเกษ ถือว่าเป็นกลุ่มส.ส.อีสาน แสดงท่าทีแบบไม่กลัวกระแสพรรคก้าวไกล”

ต่อมาคือการโหวตเลือกนายกฯ แม้ว่าโดยส่วนตัวจะมองว่าส.ว.คงจะให้นายพิธาผ่าน! เพราะไม่อยากฝืนกระแสประชาธิปไตย จึงให้ผ่านไปก่อน แล้วค่อยรอดูกกต.-ศาลรัฐธรรมนูญ ใช้กฎหมายเล่นงานนายพิธาเกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติส่วนตัว (หุ้นไอทีวี-มาตรา112) น่าจะดูดีว่า

หรือถ้านายพิธาไม่ผ่านด่านส.ว. มาถึงคิวของแคนดิเดตนายกฯจากพรรคเพื่อไทย สมมุติว่าเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน ก็ต้องได้เสียงของส.ว. 64 เสียง ไปรวมกับส.ส. 312 เสียง ของ 8 พรรคร่วมฯ ตรงนี้นายเศรษฐาเป็นนายกฯได้ แต่ถ้านายเศรษฐาได้เสียงส.ว.ไม่ถึง 64 เสียง แสดงว่าเขาไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลได้ร่วมรัฐบาล ไม่ยอมให้คนของพรรคก้าวไกลเป็นรัฐมนตรี

โดยเป็นการบีบพรรคเพื่อไทยให้ย้ายขั้ว มาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย โดย 3 พรรคนี้ รวมกันได้ 252 เสียง และอาจดึงพรรคเล็กๆเข้ามาอีก 2-3 พรรค ถือว่าเกินครึ่งแล้ว บวกกับเสียงส.ว.เพื่อสนับสนุนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกฯ นี่ก็เป็นสูตรที่จะประมาทไม่ได้

“ผมมองว่าถ้าก้าวไกลไม่ได้ประธานสภาฯ มาถึงวันโหวตเลือกนายกฯ ถ้ามีคนเสนอชื่อพล.อ.ประวิตรลงแข่งกับนายพิธาในวันแรก แสดงว่ามีการเช็คเสียงส.ส.ว่าชัวร์ และเพื่อไทยเอาด้วย ซึ่งคงจะโหวตกัน 1-2 ครั้งก็จบ! ตำแหน่งนายกฯไม่น่าจะยืดเยื้อ เพราะทนแรงกดดันจากภาคธุรกิจ นักลงทุน รวมทั้งประชาชนไม่ไหว” ดร.สติธร ระบุ

ย้ายขั้ว-ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่ง่าย!

ทางด้าน ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่ากรณีของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย น่าจะจบลงด้วยดีแล้วก่อนวันโหวตเลือกประธานสภาฯ เพียงแต่ก่อนถึงจุดนั้น ก็ต้องรักษาฟอร์มของทั้งสองฝ่ายเอาไว้บ้าง

แต่ถ้าวันที่ 3 ก.ค.นี้ ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา คิดว่าพรรคเพื่อไทยมีอะไรต่อรองแน่ เนื่องจากคงดูออกว่ามีสัญญาณอะไรจากส.ส.ในพรรค และส.ส.พรรคอื่นๆด้วยหรือเปล่า เพราะการโหวตเลือกประธานาสภาฯไม่เกี่ยวกับส.ว. 250 คน และตัวแข่งของพรรคก้าวไกล คือพรรคเพื่อไทย มีชื่อของนายสุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานฯโผล่ออกมาด้วย

ถ้าพรรคก้าวไกลไม่ได้เก้าอี้ประธานสภาฯจะลำบาก เพราะเก้าอี้นายกฯสำหรับนายพิธานั้น โดยส่วนตัวมองว่าโอกาสที่นายพิธาจะผ่านด่านส.ว.มีน้อยกว่าไม่ผ่าน นั่นคือ “ไม่ผ่าน” และถ้าไม่ผ่านก็คงแก้ตัวได้อีกครั้งเดียวพอ คือโหวตใหม่ ถ้าไม่ผ่านครั้งที่ 2 นายพิธาต้องรู้ตัวแล้วว่าควรต้องถอยให้พรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นนายเศรษฐา หรือน.ส.แพทองธาร ชินวัตร

เมื่อมาถึงคิวแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย คราวนี้ต้องดูเหตุผลของส.ว.ว่าคุณจะอ้างอะไรอีก อ้างเรื่อง 112 ไม่ได้แล้ว หรือจะอ้างว่าไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล เพื่อไม่เอานายกฯจากพรรคเพื่อไทยอย่างนั้นหรือ ถ้าไปถึงจุดนั้นสังคมไทยคงไม่ยอมส.ว.แล้ว เพราะคุณจะอ้างเรื่อยไปไม่ได้ ส.ว.จะถูกตั้งคำถามว่าควรไปตรวจสอบเรื่องนาฬิกาหรูยืมเพื่อนไม่ดีกว่าหรือ ไม่ใช่ไม่เอาทั้งนายพิธา และไม่เอาพรรคก้าวไกล เพื่อบีบพรรคเพื่อไทยให้ย้ายขั้วมาสนับสนุนพล.อ.ประวิตรอย่างนั้นหรือ คงไม่ง่ายหรอก

“การเมืองในเวลานี้ ผมคิดว่าการย้ายขั้วเป็นเรื่องยาก และรัฐบาลเสียงข้างน้อยเป็นไปได้อยากเช่นกัน อย่าซ้ำเติมประเทศ อย่าดันทุรังไปสู่จุดนั้นเลย” ผศ.ดร.วันวิชิต กล่าว

รัฐธรรมนูญปี 60 ทำให้ติดกระดุมเม็ดแรกผิด!

ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าตอนนี้เป็นกระแสของกองเชียร์ 2 พรรค ใช้สังคมออนไลน์ต่อสู้กัน ใครชอบฝ่ายไหนของเชียร์ข้างนั้น ทั้งที่กระแสในโลกโซเชียลนั้นมี 2 ด้าน คือ 1.มีเหตุผล 2.สร้างความกลัว

ทั้งที่กรณีของพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย นั้น การต่อรองถือเป็นเรื่องปกติในระบบรัฐสภา และโดยปกติแล้วการจะรวมกันตั้งรัฐบาลนั้นต้องมีการเจรจาต่อรองกันก่อนที่จะไปทำเอ็มโอยู

แต่นี่เป็นการเมืองที่ไม่ปกติ เพราะมีการ “คลุมถุงชน” คือรีบทำเอ็มโอยูกันก่อน แล้วจึงมีการเจรจาต่อรองกัน ดังนั้นจึงต้องถอยกลับมาดูว่าหลักการของเอ็มโอยูคืออะไร และถูกบีบด้วยอะไร ด้วยกระแสโซเชียลอย่างนั้นหรือ

แต่ทั้งหลายทั้งปวงคือปลายเหตุแล้ว แต่ต้นเหตุคือการติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก เมื่อผิดตั้งแต่เม็ดแรก กระดุมเม็ดต่อๆมาจึงผิดหมด นั่นคือการมีรัฐธรรมนูญปี 60 มีส.ว.มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร และส.ว.ยังมาร่วมโหวตเลือกนายกฯได้ด้วย

“ถ้าไม่มีประเด็นของส.ว.เข้ามาเกี่ยวข้อง พรรคอันดับ 1-2 คือพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย คงไม่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นไปได้ เพราะบางกรณีไปด้วยกันไม่ได้ เช่น ตัวนโยบายการทำงานของพรรคในช่วงหาเสียง และจุดยืนทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่อง 112 ถามว่านอกจากพรรคเพื่อไทย มีพรรคไหนที่เอาด้วยกับพรรคก้าวไกลเรื่อง 112 บ้าง ตรงนี้จึงเป็นปัญหาใหญ่ของนายพิธาที่จะไม่ผ่านด่านส.ว.สูงมาก” ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว