หลังจากยึกยักเล่นแง่เล่นกลมานานด้วยข้ออ้างที่ “ฟังไม่ค่อยเข้าท่า” ของพรรคเพื่อไทย ว่า “เมื่อจำนวน ส.ส.ห่างจากพรรคก้าวไกลเพียง 10 คน ก็ควรแบ่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติมาให้พรรคเพื่อไทย” ทางฝั่งพรรคก้าวไกลดูเหมือนจะไม่ค่อยอยากคุยด้วย แบบว่า ดูจากหน้างานเหมือนเขาก็พูดหลักการของเขาไปเรื่อย และก็ให้ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา แคนดิเดตประธานสภาของพรรคก้าวไกลได้แสดงวิสัยทัศน์ทางเฟซบุ๊กของพรรคแล้ว … ซึ่งมองได้มุมหนึ่งคือ “ไม่ค่อยไว้ใจว่าจะมีการเสนอชื่อแข่ง เลยชิงแสดงวิสัยทัศน์เลย ( ถ้ามีคนชิงต้องแข่งกันแสดงวิสัยทัศน์ให้ลงคะแนนลับ )

แต่ในที่สุดเรียกว่า คืนสุดท้ายก่อนโหวตเลือกประธานสภา ก็ได้ข้อสรุปว่า “เอาคนกลางมาเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง” ชื่อของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ( ปช.) จึงถูกเสนอขึ้นมาและได้รับการยอมรับระหว่างสองพรรคคือเพื่อไทยกับก้าวไกล ซึ่งก็ไม่รู้ว่า พรรคก้าวไกลจะแฮปปี้แค่ไหนกับดีลนี้ …มีคนเปรียบเทียบว่า เหมือนสงครามนางงาม แบบว่า คนมงชนะ แถลงภารกิจนางงามแล้ว รองหนึ่งดันไม่ยอม กรี๊ดๆๆๆ ให้ได้ดังใจจนคนมงเอือม สุดท้าย มง ไปตกกับรองสามแทน เพื่อไม่ให้รองหนึ่งคลั่งกว่านี้

ในคืนเดียวกันนั้น พอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์เป็นข่าว ก็มีหลายคนแสดงความเห็นในเชิงไม่ค่อยพอใจ ตั้งแต่ว่าทำไมก้าวไกลต้องยอม แบบตาอินกะตานาโศกาอาวรณ์จริงเชียว ตาอยู่มาเดี๋ยวเดียวคว้าพุงเพียวเพียวไปกิน..ทางสายเสรีนิยมก็ว่าไม่พอใจและไม่สบายใจ เพราะนายวันมูหะมัดนอร์เป็นมุสลิมที่เคร่ง เดี๋ยวกฎหมาย“ก้าวหน้า” ที่ไปรื้อถอนธรรมเนียมปฏิบัติหรือกฎหมายเดิมจะไม่ผ่าน เช่น สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม ทำแท้งเสรี ค้าประเวณีถูกกฎหมาย

อาจเป็นรูปภาพของ 3 คน และ ข้อความ

แต่เอาจริงอำนาจหน้าที่“หลัก”ของประธานสภา เว้ากันซื่อๆ คือ “แค่บรรจุระเบียบวาระและคุมองค์ประชุม” รัฐบาลหรือวิปรัฐบาลเสนออะไรมาก็บรรจุระเบียบวาระตามเวลาที่เสนอมา ยกเว้นกรณีรัฐบาลขอให้บรรจุเป็นวาระเร่งด่วน เขาไปเถียงกันในสภาแล้วลงมติเองว่ากฎหมายจะผ่านหรือไม่ ประธานสภานี่แทบจะไม่มีส่วนในการลงมติ และเอาจริงถ้าจะว่านายวันมูหะมัดนอร์เรื่องนี้ ถ้าเลือกหมออ๋อง ปดิพัทธ์มาเป็นประธานสภาจะโดนว่าเหมือนกันไหม เพราะหมออ๋องเป็นคริสเตียนที่ค่อนข้างเคร่ง และก็แสดงจุดยืนไม่เอากฎหมายสมรสเท่าเทียมกับทำแท้งเสรีด้วย ..หรือว่าให้เป็นแค่พรรคก้าวไกล ตอนนี้กำลังหอมอยู่ในช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ หมออ๋องมาก็ไม่เป็นไร

เอาจริงก็ไม่รู้ว่า พรรคก้าวไกลไม่พอใจหรือไม่ เพราะที่สุดแล้ว“จากข่าว”คนที่หาทางลงคือเพื่อไทย ( แม้จะมีอีกกระแสหนึ่งว่านายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลเป็นคนไปเจรจา ) แต่นายพิธาให้สัมภาษณ์ก่อนการเลือกประธานสภาว่า ตัวเองรุกได้ ถอยเป็น  ขึ้นอยู่กับบริบท สถานการณ์และข้อมูล ดูเป็นกรณีไป คนเป็นผู้นำต้องตัดสินใจเป็นที่ประกอบไปด้วยข้อมูล บริบท และสถานการณ์ในแต่ละครั้ง พร้อมกับเปรียบเทียบถ้าจะก้าวกระโดดให้ไกลก็ต้องถอยเล็กน้อย แต่หากยืนอยู่กับที่จะกระโดดไม่ไกล แต่ยืนยันต้องไม่ขัดหลักการและสิ่งที่สัญญาไว้กับประชาชน

ส่วนข้อสังเกตเรื่องศาสนาของประธานสภา จะเป็นอุปสรรคต่อกฎหมายก้าวหน้าอะไรต่างๆ หรือไม่ นายพิธา โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมพรรคก้าวไกลถึงยอมถอยเรื่องตำแหน่งประธานสภาทั้งที่ได้ประกาศวาระที่ต้องการผลักดันไปแล้วกับประชาชน ผมขอยืนยันว่าการตัดสินใจของเรา เราตัดสินใจภายใต้การรักษาเอกภาพการทำงานระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล พวกเราถอยจากเงื่อนไขเดิมที่พวกเราตั้ง ภายใต้เงื่อนไขการบริหารงานสภาภายใต้นโยบายที่พรรคก้าวไกลแถลงไปแล้ว อ.วันนอร์ยังให้คำมั่นกับพวกเราว่ากฎหมายสำคัญของพรรคก้าวไกล เช่น สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม กฎหมายเพื่อกลุ่มพี่น้องแรงงาน และกฎหมายเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ จะไม่ถูกขัดขวางหรือถ่วงให้ช้าไม่ว่าด้วยความไม่ไว้วางใจหรือความไร้ประสิทธิภาพ ภายใต้การทำงานของ อ.วันนอร์ 

ผมกล้าพูดได้ว่า อ.วันนอร์เป็นหนึ่งคนที่ผมสามารถไหว้ได้อย่างสนิทใจ ภายใต้ฉากทัศน์ที่ไม่แน่นอนของการเมืองไทย พวกเราไม่ประมาทในทุกสถานการณ์  สุดท้าย ไม่ว่าฉากทัศน์จะเป็นอย่างไร ผมพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะเผชิญกับทุกสถานการณ์ การตัดสินใจของพรรคก้าวไกลในวันนี้ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อเหตุผลทางการเมืองเฉพาะหน้า แต่เราตัดสินใจจากคุณค่าพื้นฐานร่วมกันของพรรคในการทำงานการเมืองระยะยาวเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้สำเร็จได้ โดยมีเส้นที่เราจะไม่สามารถล่วงล้ำได้เลย คือการทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน”

ทีนี้ก็น่าจะจบเรื่อง “เลือกตัวคนเป็นประธานสภา” แล้วก็มาต่อกันเรื่องแถลงการณ์ร่วมในคืนวันที่ 3 ก.ค.ที่มีเนื้อหาสำคัญคือการที่สองพรรคจะร่วมมือกันในการแก้ไขกฎหมายด้านความมั่นคงต่างๆ เช่น พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม กฎอัยการศึก กฎหมายเกี่ยวกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ( กอ.รมน.) รวมถึงเห็นพ้องในเรื่องการนิรโทษกรรมคดีการเมือง ซึ่งเอาเข้าจริงไม่รู้เพื่อไทยจะเอาด้วยแค่ไหน

เรื่องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง มันมองได้ว่า “เป็นการนิรโทษกรรมให้ผู้ต้องคดีที่เกิดจากความเห็นต่างทางการเมือง” แต่ไม่ใช่คดีทุจริต ทีนี้ ที่เขาจับตาดูคือ “จะนิรโทษกรรมคดี ม.112 หรือไม่ ? โดยอ้างว่าเป็นคดีทางการเมือง” ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยเองก็อมๆ ไม่ได้ตอบชัดเจนเรื่องนิรโทษกรรมในส่วนนี้ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า  เรื่องนิรโทษกรรม เพื่อไทยเคยให้ความเห็นว่าเราไม่ประสงค์และไม่เห็นด้วยที่ระบุเรื่องนี้ในเอ็มโอยู โดยแถลงการณ์ที่ออกมายังพูดคุยกันได้และเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ การนิรโทษกรรมคงต้องพูดคุยกันอีก ( ซึ่งอาจรวมถึงเรื่องการปฏิรูปกองทัพด้วย )

ขณะเดียวกัน เรื่องแก้ไข ม.112 นายพิธายืนยันในหลักการเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ว่า “ก่อนเลือกตั้งเป็นอย่างไร หลังเลือกตั้งก็เป็นอย่างนั้น คือจะเสนอตัวร่างกฎหมายแก้ไขมาตรานี้เข้าสภา” ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ ตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงของพรรคร่วมรัฐบาล แต่พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคการเมืองหนึ่งของสภาก็อยากเสนอเข้ามา ก็ให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและข้อบังคับสภา”

พิธา” ชู 3 ข้อขับเคลื่อนประเทศไทย สู้รัฐรวมศูนย์–นายทุนปรสิต | เดลินิวส์

อย่างไรก็ตาม อำนาจหน้าที่หนึ่งของประธานสภา คือ การไม่บรรจุระเบียบวาระกฎหมายที่มีแนวโน้มขัดกับรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมสภา ซึ่งการแก้ไข ม.112 นี้เคยโดนสกัดมาแล้ว และอาจถูกยื่นตีความได้ว่า “ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ที่บุคคลจะต้องไม่ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หากผิดมาตรานี้ ก็ให้ร้องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญออกหนังสือทวงถามมายังอัยการ ทางอัยการก็ชี้แจงว่า กำลังดำเนินการอยู่ และเรื่องนี้เอาจริงแล้วประชาชนฟ้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

ก็ไม่รู้ว่า หลักการที่จะแก้ ม.112 นี่เอาจริงแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลจะยอมแค่ไหน จะสามารถใช้มติวิปรัฐบาลบีบคอให้พรรคร่วมรัฐบาลโหวตตามก้าวไกลได้หรือไม่ ? หรือสุดท้ายก็ไม่อยากขัดรัฐธรรมนูญงดออกเสียงไม่ให้เสียงถึงกึ่งหนึ่ง  เพราะเกิดศาลตีความในทางที่ไม่เป็นคุณขึ้นมา แล้วใครยกมือให้แก้ ม.112 ผ่านนี่ก็ไม่รู้ว่า “จะโดนไม่ใช่น้อย” อย่างไร ..ดังนั้น แม้ฉากหน้าจะดูเหมือนสงบเรียบร้อย 8 พรรคร่วมจับมือแฮปปี้ดี๊ด๊าว่าจะทำงาน แต่มันติดเงื่อนไขเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ( ซึ่งน่าจะหมายถึงคดี ม.112 ) และการแก้ไข ม.112 ซึ่งจะทำให้พรรคร่วมไม่เป็นเอกภาพหรือไม่

และอีกอย่างหนึ่งที่เชื่อว่า พรรคร่วมไม่ค่อยอยากแตะคือการไปแก้กฎหมายอะไรเกี่ยวกับทหาร เพราะองค์กรนี้เป็นองค์กร“แดนสนธยา” ที่มีอะไรทำกันเองตรวจสอบกันเองในองค์กร ไปล้วงลูกมากเดี๋ยวพวกหาเรื่องรัฐประหารเอาอีก  ใช้เหตุผลเรื่องการพยายามล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะจะไปแก้ ม.112 ก็อาจได้…เพียงแต่ก้าวย่างของทหารนั้นมันไม่ง่ายแบบเก่าแล้ว เพราะพรรคก้าวไกลเก่งเรื่องการสร้างกระแสในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค และสามารถสร้างกระแสไปถึงขั้น“โลกล้อมประเทศ” เกิดมีรัฐประหารขึ้นมา ไทยจะเสียผลประโยชน์ไม่ใช่น้อยๆ ต่างชาติบอยคอต หรือมีการแทรกแซงกิจการภายในเอาได้

หลังจากโหวตเลือกประธานสภาแล้ว คราวนี้ก็กำหนดวันประชุมเพื่อเลือกนายกฯ โดยประธานสภาเป็นผู้นัด ก็ไม่รู้ว่า “ระหว่างทางก่อนวันโหวต” ( ว่ากันว่าน่าจะสัปดาห์หน้า ) จะมีอะไรเกิดขึ้น โดยเฉพาะตัวแปรคือการไปแตะ ม.112 กับกองทัพ จนทำให้โหวตนายพิธาไม่สำเร็จหรือไม่ ขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลถือเสียงไว้ 312 เสียง ยังต้องหาเสียงสนับสนุนให้ถึง 376 เสียง ซึ่ง ส.ว.หลายคนก็ไม่แสดงท่าที ปล่อยตัวสายแทงก์ออกมาพูดบ่อยๆ  แต่พวกไม่แสดงท่าทีเขาอาจคิดอะไรไว้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องหากจะไปแก้กฎหมายความมั่นคง ปฏิรูปกองทัพ วุฒิสภาชุดนี้เป็นทหารแก่เยอะ เผลอๆ ก็เอาเสียงจากวุฒิสภาได้ไม่ถึง 70 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เรียกได้ว่า play safe

จะไปขอพรรคอื่นมาร่วม ด้อมส้มก็แรงกันเหลือเกิน ดูจากตอนมีการทาบทามพรรคชาติพัฒนากล้ามาร่วมรัฐบาลก็รู้ เห็นด่ากันระงม ..นั่นมันพรรคนั่งร้านเผด็จการ มีกรณ์ไม่มีกู..เอาให้มั่วไปหมด พรรคก็ต้องตามใจด้อมเลยล้มดีล แล้วถ้าไปขอเสียง ส.ส.จากพรรคไหนมา ก็ยากส์ที่จะไม่ให้เขาร่วมรัฐบาลแล้วต้องตบเก้าอี้รัฐมนตรีตอบแทนให้..เว้นแต่พยายามสะกดจิตกันไปเรื่อยๆ ว่า ..เคยพูดกันไม่ใช่เหรอว่าต้องปิดสวิตช์ ส.ว.ดังนั้นควรจะโหวตให้เราโดยไม่มีเงื่อนไข..

แถมตัวนายพิธาก็เห็นงานเข้าไม่หยุดหย่อนจากเรื่องหุ้นไอทีวี ซื้อขายที่ดินถูกกว่าปกติ และไม่รู้จะมีเรื่องอะไรมาอีกในอนาคต ..หลังเลือกประธานสภา รัฐบาลจะมีช่วงฮันนีมูนระยะหนึ่งที่สถานการณ์สงบและดี แต่หลังจากนั้นปุ๊บ เรื่องจะเข้ามาไม่หยุด จะกระทบนายพิธาและพรรคก้าวไกลแค่ไหนก็ไม่รู้

และวันนี้ก็ยังตอบไม่ได้หรอกว่า บางที“ตัวต้นเรื่อง”มาจากพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคหรือเปล่า

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”