เชื่อว่า ถ้าเขียนเรื่องการตั้งรัฐบาลอีก หลายคนคงเบื่ออย่างรุนแรง เพราะว่า ไม่รู้จะเล่นแง่อะไรกันให้เยอะแยะมากมาย ล่าสุดมีการบีบคอจากว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลมาอีก ว่า “ต้องแบ่งโควตากระทรวงให้เรียบร้อยก่อนโหวตนายกฯ” พร้อมมีข่าวว่ามีการขู่หากไม่ทำเรื่องนี้ จะไม่โหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน หรือเสี่ยนิด แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ..แถมยังมีข่าวขอกดดันพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯเพราะเสี่ยนิด “พูดไม่เข้าหู”ทำนองว่า “เห็นว่าการเปลี่ยนรัฐบาล รัฐมนตรีเดิมก็ควรเปลี่ยนกระทรวง” ซึ่งคนที่น่าจะไม่เข้าหูคือนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เพราะข่าวว่าต้องการคุมสาธารณสุขต่อ และอาจรวมถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ( ชทพ.) ที่อยากดูกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ( ทส.) ต่อ แต่ให้จับตา พลังงาน-เกษตรและสหกรณ์ สองกระทรวงนี้แย่งกันสนุก

มีกระทั่งข่าวว่า ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลเขาแบ่งโควตากันเรียบร้อยแล้ว และเสี่ยนิดพูดแบบนี้คือมันดูท่าทางไม่ค่อยน่าไว้ใจ ถ้าเสี่ยนิดขึ้นเป็นนายกฯ แล้ว คราวนี้อำนาจเต็มในการตั้ง ครม. ซึ่งความเป็นหน้าใหม่ทางการเมือง ก็ไม่รู้ว่า จะเจรจารอมชอมอะไรได้มากแค่ไหน หรือใช้อำนาจตัวเองเต็มๆ แบบไม่สนเสียงพรรคร่วม จึงมีข่าวการบีบให้เอา อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นแคนดิเดตนายกฯ แทน เพราะนายทักษิณก็เก๋าเกมอยู่ในแวดวงการเมืองมานาน เพื่อนพ้องเยอะ คนในพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ก็มาจากเพื่อไทยซะเยอะ ถ้าเป็นอุ๊งอิ๊ง ก็พอเจรจาได้ง่าย ( คุยกับลูกสาวไม่ได้ก็คุยกับพ่อได้มั๊ง )

สูตรการแบ่ง ครม.เบื้องต้นที่ออกมา คือ สส.9 คน ได้รัฐมนตรี 1 เก้าอี้ นับๆ ดู เพื่อไทยเอาไป 16 เก้าอี้ ภูมิใจไทย 8 เก้าอี้ พปชร 5 เก้าอี้ รทสช. 4 เก้าอี้ ประชาชาติ 1 เก้าอี้ ชาติไทยพัฒนา 1 เก้าอี้ รวมแล้ว 35 เก้าอี้ ที่นิ่งที่สุดคือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จากประชาชาติได้ รมว.ยุติธรรม ส่วนคมนาคม ภูมิใจไทยน่าจะพยายามตบมาให้ได้ แต่ข่าวว่า จะยกให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค หรือไม่ก็นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร  แล้วภูมิใจไทยไปเอากระทรวงด้านสังคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนที่เล็งอยู่คือนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร แต่ข่าวว่า ทาง พปชร.จะส่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเข้าชิง

ตอนนี้ทางพรรคร่วมก็ส่งสัญญาณ “แบ่งเก้าอี้ให้เสร็จก่อนค่อยโหวตนายกฯ” เพื่อไทยก็ลำบากใจ พปชร. หรือภูมิใจไทยถอยออกไป ก็กลายเป็นรัฐบาลเสียงปริ่ม แล้วคราวนี้ก็จะโดนกรรมตามสนองคือ สภาจะล่มรัวๆ เหมือนที่เพื่อไทยทำสภาล่มตอนปลายรัฐบาลประยุทธ์เพื่อบีบให้ยุบสภา และก็จะกลายเป็นรัฐสภามหาสนุก ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ปรากฏว่า พรรคที่เพื่อไทยตกลงเก้าอี้รัฐมนตรีไม่ได้  ก็ไปกับพรรคก้าวไกลไม่ได้ กลายเป็นพรรคอิสระ ..ก็โหวตตามกำลังเงินสะพัดหรือเปล่าไม่รู้นะ.. ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้น..ลองไปนับโควตาเก้าอี้ตามที่เป็นข่าว ..ไม่เหลือเก้าอี้รัฐมนตรีไว้ให้แล้วจ้า  ไปร่วมรัฐบาลก็ดูซมซานไปเนาะ ..เชิดหน้าเป็นฝ่ายค้านรีแบรนด์พรรคไปเถอะ ..อาจทำงานกับก้าวไกลได้ถ้าเอา “ตัวแทงก์”บางคนที่ชอบด่าก้าวไกลไปเก็บ      

จริงๆ แล้ว ครั้งที่วันวานยังหวานอยู่ ก้าวไกลยังเตรียมร่วมหอลงโรงกับเพื่อไทย ถ้าว่ากันตามข่าวการจัดโผ ครม.แรกตั้งแต่ยังทำเอ็มโอยูแปดพรรค  ก้าวไกลนี่แทบจะเน้นกระทรวงสังคม  อาจเอากระทรวงเศรษฐกิจแค่การคลังที่วางตัว น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล มาตั้งแต่แรก เพื่อไทยเจรจาเอากระทรวงเศรษฐกิจง่ายกว่า แต่ไหนๆ ก็แยกกันมาถึงขั้นนี้แล้ว เลือกแล้ว  จะย้ายขั้วไปง้อขอคืนดีก้าวไกลก็ยาก หัวหน้าพรรคเพื่อไทยพูดแนวๆ ถูกคุลมถุงชนด้วย ..และ ก้าวไกลเขามีมติแล้วว่าจะไม่โหวตให้นายกฯ พรรคเพื่อไทย มันก็เหมือนประกาศศัตรูกลายๆ และยิ่งการย้ายขั้วจัดตั้งรัฐบาลด้วยเหตุว่า “สว.ไม่เอาก้าวไกล และพรรคไม่มีนโยบายแก้ ม.112” คือ..หลายคนว่ามันฟังไม่ค่อยขึ้น

อย่างเรื่องแก้ ม.112 เสนอมาสิ ไม่เห็นด้วยก็ใช้เสียงสภาตีตก หรือไม่ถ้าไม่อยากอภิปรายให้เป็นข่าว ขอประธานในที่ประชุมทำประชุมลับก็ได้ หรือไม่ประธานสภาก็ใช้ดุลยพินิจตีตกเอง ไม่บรรจุระเบียบวาระ โดยบอกว่า อาจสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ม. 49 ..ศาลรัฐธรรมนูญก็ส่งสัญญาณว่า สำนวนที่ร้องมาเรื่องพรรคก้าวไกลหาเสียงแก้ไข ม.112 ไม่ได้ถึงยุบพรรค แค่เตือนให้เลิกการกระทำถ้าเห็นว่าเข้าข่ายขัด ม.49 จริง ถ้ายุบพรรคต้องให้ กกต.ทำสำนวนส่งมาใหม่

ใครเป็นนางแบกก็เหนื่อยหน่อย ล่าสุด นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มาช่วยแบ่งเบาภาระนางแบก โดยการโพสต์ว่า การดำเนินงานการเมืองของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้กับความพยายามคลี่คลายความขัดแย้งที่ดำรงอยู่มาเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี หัวใจสำคัญคือแต่ละฝ่ายยอมถอยออกคนละก้าว ให้มาอยู่ในจุดที่ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชน กระบวนทัศน์เดิมในทางการเมืองมองพรรคการเมืองคู่แข่งคือ การเอาชนะคะคานกัน กระทั่งปัจจุบันยังเพิ่มอารมณ์เหยียดหยาม ด้อยค่าอีกฝ่ายที่ไม่ใช่ฝ่ายเราอย่างหนักหน่วงโดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ หากเปลี่ยนมุมคิดโดยใช้การเมืองเป็นเวทีที่ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ช่วยสลายขั้วความขัดแย้ง และนำพาบ้านเมืองออกจากหล่มความขัดแย้ง  

ภูมิธรรม เวชยชัย” รำลึกจาก 19 ก.ย. 49 ถึง 19 ก.ย. 63 สังคมไทยเรียนรู้อะไร -  พรรคเพื่อไทย

“การคิดและดำเนินการเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในภารกิจใหญ่เช่นนี้ มิใช่เรื่องง่าย สำหรับพรรคเพื่อไทย  เพราะในอดีตเราเคยเป็นฝ่ายถูกกระทำมาโดยตลอด แต่ภายหลังการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันภายในพรรค พวกเราได้ข้อสรุปที่ตระหนักดีว่าหากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีของสังคมอย่างที่ทุกคนคาดหวัง  พรรคต้องคิดใหญ่ ด้วยใจที่ใหญ่ ใจที่กว้าง ภายใต้สถานการณ์ทางเลือกที่คับแคบอย่างยิ่ง พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องทำงานกับความคิด ความรู้สึกของทุกคนภายในพรรคอย่างมาก  พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกที่ดีที่สุดและเป็นรูปธรรมโดยเปิดใจกว้าง จับมือทำงานร่วมกับทุกพรรคการเมืองที่ล้วนแล้วแต่ได้รับคะแนนเสียงการเลือกตั้งมาจากประชาชน  เพราะนี่คือตัวแทนของประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศที่ต่างก็มีสิทธิ์และเสียงเท่าเทียมกัน” 

นายภูมิธรรมยอมรับว่า “การตัดสินใจครั้งนี้ของพรรคเพื่อไทย  เรายอมเสียต้นทุนทางการเมืองบางส่วนด้วยความเชื่อว่า ทารกที่คลอดจากครรภ์มารดาล้วนผ่านความเจ็บปวดฉันใด การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งใหม่ที่ดีขึ้นย่อมต้องผ่านความเจ็บปวดฉันนั้น พรรคเพื่อไทยจะใช้ความมุ่งมั่นตั้งใจทำงาน เพื่อพิสูจน์ตัวเองต่อประชาชน เรารับผิดชอบในสิ่งที่เราคิด เราทำ โดยอนาคตจะเป็นบทพิสูจน์”  ก็แล้วแต่ใครจะคิดว่า การตัดสินใจนี้เป็น “ทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งหรือไม่” แต่บางคนเขาว่า มันก็ยิ่งทำให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมือง คือขั้วอำนาจเก่าและอำนาจใหม่ ..อำนาจเก่าก็คือนักการเมืองหน้าเดิมๆ ที่ซูเอี๋ยผลประโยชน์กันได้ อำนาจใหม่คือกลุ่มการเมืองใหม่ที่หวังสร้างความเปลี่ยนแปลงตามอุดมคติของตัวเอง ( ซึ่งฝ่ายที่ไม่ชอบขั้วใหม่เขาก็ว่าหลายเรื่องฝันเฟื่อง )

และที่ไม่รู้ว่ากระเทือนใจกันเยอะหรือเปล่าคือ มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า

1.ที่สุดพรรคเพื่อไทยก็ไม่ใช่พรรคเพื่อประชาชน แต่เป็นพรรคเพื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพราะการตัดสินใจที่จะเอาพรรคสองลุงหรือพลังประชารัฐ ( พปชร.) รวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) เข้าร่วมรัฐบาล ก็เพื่อการหวังเสียง สว. และมีคนเชื่อว่า “สองลุงนั่นแหละจะเป็นตัวประกันความปลอดภัยให้แม้วได้” ถ้าเอามาร่วมรัฐบาล

ดังนั้น พันหมื่นเหตุผล…ให้อ้างยังไงก็ได้เพื่อไทยฉีกเอ็มโอยูแน่ๆ เพราะตอนผลเลือกตั้งออกมาก็เหมือนว่าจะโดนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รวบหัวรวบหางรวมมาจัดตั้งรัฐบาลเลย ..ก็เสียหน้าด้วยที่ไม่เป็นไปตามแผนแลนด์สไลด์ อารมณ์ก็เลยดูเหวี่ยงๆ หน่อย ที่ให้ก้าวไกลไปหาเสียง สว.สนับสนุนเอง พอเขาหาไม่ได้ให้พรรคอันดับสองจัดตั้งรัฐบาล  จากนั้นก้าวไกลดึงสติเท่าไรก็ไม่ค่อยจะอยู่

เรื่องนายทักษิณนี่ทางพรรคเพื่อไทยต้องสงวนท่าทีอย่างมาก ที่จะไม่มีแอคชั่นอะไรเลยแม้จะเป็นบุคคลสำคัญของพรรค ให้เป็นเรื่องของบุคคลไป มิฉะนั้นไม่แน่..จะกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดม็อบเคลื่อนไหวอีกเหมือน กปปส.

2.เมื่อก่อนเพื่อไทยพูดมาตลอดว่า ตัวเองเป็น“ฝ่ายประชาธิปไตย” ก็ไม่รู้ว่าต่อไปจะพูดคำนี้แล้วใครจะโห่เอาหรือไม่ ตอนนี้นายภูมิธรรมออกมาช่วยนางแบกแล้วว่า “เราจำเป็นต้องตัดสินใจในสถานการณ์ที่คับแคบ และต้องยอมเสียต้นทุนทางการเมืองบางส่วน ( เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ )” แต่สุดท้ายไม่รู้พอเสียหน้าที่ถูกตีตรา “ผสมพันธุ์เผด็จการ”จะทำให้พรรคเพื่อไทยตอบโต้อย่างไรว่า ข้านี่ฝั่งประชาธิปไตยนะโว้ย

ตอนนี้มีแต่คนปรามาสว่า เพื่อไทยสูญพันธุ์แน่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะประชาชนจำ เหมือนที่ทำงูเห่าก้าวไกลแพ้ยับทุกเขตในการเลือกตั้งที่ผ่านมา .. แต่เอาจริงโอกาสที่พรรคลดขนาดลงมันพอมี ไม่ถึงกับสูญพันธุ์ เพื่อไทยเล่นการเมืองมานาน คะแนนหลักในพื้นที่มี แฟนคลับมี เพียงแต่ว่า ทำพื้นที่และผลงานถี่ๆ หน่อย ตอนนี้ก็เห็นเริ่มปล่อยนโยบายประชานิยม “ทำทันที” ทางเพจเฟซบุ๊กรัวๆ ทั้งแจกหมื่น ลดค่าน้ำมัน ค่าไฟ พักหนี้เกษตรกร ส่วนเรื่องค่าแรงนี่เขาบอกไว้ก่อนแล้วว่าขึ้นเป็นขั้นบันได อยู่ได้ 4 ปี ได้ถึงหกร้อย

แต่ที่วัดใจคือ เพื่อไทยจะยอมให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ถ้าทำแล้วอยู่ไม่เต็มวาระ  ข่าวว่าทางเพื่อไทยเคยคำนวณว่า กระบวนการคือทำประชามติโดย ครม.เสนอ ให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ ตั้ง สสร.หรือเลือกตั้ง สสร. จากนั้น พอได้รัฐธรรมนูญจะเอาไปทำประชามติอีกครั้ง เวลาก็ราวๆ สองปีกว่า เท่ากับอยู่ได้ไม่ครบเทอม ดังนั้น สสร.ครั้งนี้คือเดิมพันสูง จะยกร่างอย่างไรให้เป็นคุณกับ “ฝ่ายที่มีอำนาจ” ณ ขณะยกร่างรัฐธรรมนูญ กลไกอำนาจมันเป็นเรื่องซับซ้อน แต่ธรรมชาติเบื้องต้นคือแต่ละคนก็ต้องการมีอำนาจและคงอำนาจ

เสียดายที่ประเทศไทยวุ่นวายในวันนี้.. ถ้ามองแบบนางแบก ไม่ใช่เพราะเพื่อไทย แต่เพราะกติกาบิดเบี้ยวที่ให้ สว.โหวตเลือกนายกฯ นี่แหละ

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”