ปีนี้มีการพูดถึงกันมากเกี่ยวกับปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” ซึ่งเป็นรูปแบบสภาพอากาศที่เกิดขึ้นตลอดมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน โดยเฉลี่ยทุก 5 ปี เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก ด้วยอุณหภูมิอุ่นขึ้นหรือเย็นลงผิดปกติ ซึ่งเรียกว่าเอลนีโญและลานีญาตามลำดับ โดยเอลนีโญก่อให้เกิดสภาพอากาศเลวร้าย เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจหลักเกี่ยวกับเกษตรกรรมและการประมง

วันนี้ทีมข่าว Special Report สนทนากับ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ถึงผลกระทบของปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” ต่อประเทศไทยในปัจจุบัน

สัญญาณเตือน1พ.ค.66-ปัจจุบันฝนตกน้อยกว่าปกติ19%

ดร.ทวีศักดิ์กล่าวว่าตอนนี้ประเทศไทยกำลังเจอสภาวะ “เอนโซ่” คือความแปรผันของสภาพภูมิอากาศ เป็นสัญญาณเตือนว่า “เอลนีโญ” กำลังคืบคลานเข้ามาในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.66 แล้วจะไปอ่อนกำลังลงในเดือนเม.ย.67

สภาวะ “เอนโซ่” ทำให้ไทยมีฝนตกน้อยกว่าปกติโดยเฉลี่ย 19% (1พ.ค.66-ปัจจุบัน) แต่ถ้าจำแนกเป็นภาคที่มีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติทุกภาค คือ ภาคเหนือ 29% ภาคกลาง 37% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13% ภาคตะวันออก 31% ภาคใต้ฝั่งอันดามัน 7% และภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 2%

เมื่อทุกภาคมีปริมาณฝนตกน้อย จึงส่งผลต่อน้ำต้นทุน จากข้อมูล ณ วันที่ 26 ส.ค.66 มีน้ำในอ่าง (เขื่อน) ขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศเพียงแค่ 41,954 ล้าน ลบ.ม. จากความจุรวม 76,337 ล้านลบ.ม. นั่นหมายถึงยังสามารถรับน้ำฝนได้อีก 34,383 ล้าน ลบ.ม. (45%) ขณะที่ข้อมูลวันที่ 26 ส.ค.65 มีน้ำ 48,373 ล้าน ลบ.ม. โดยวันเดียวกัน แต่ปีนี้มีน้ำในอ่างน้อยกว่าปีที่แล้ว 6,419 ล้าน ลบ.ม.

4เขื่อนใหญ่ที่มีผลต่อภาคกลางมีน้ำแค่41%

จากข้อมูลข้างต้นเป็นน้ำที่ใช้การได้ 18,014 ล้าน ลบ.ม. (26ส.ค.66) ขณะที่วันที่ 26 ส.ค.65 มีน้ำใช้การได้ 24,424 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับ 4 อ่างเก็บน้ำ (เขื่อน) ที่มีอิทธิพลต่อพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัดภาคกลาง คือ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 26 ส.ค.65 มีน้ำในอ่าง 13,089 ล้าน ลบ.ม. (53%ของความจุ) แต่วันที่ 26 ส.ค.66 มีน้ำในอ่าง 10,205 ล้าน ลบ.ม. (41%ของความจุ) ยังสามารถรับน้ำฝนได้อีก 14,666 ล้าน ลบ.ม. และเป็นน้ำที่ใช้การได้ 3,509 ล้าน ลบ.ม.

ดังนั้นภาพรวมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศในตอนนี้ จึงน่าห่วง เพราะเหลือช่วงฤดูฝนอีกแค่ 2 เดือน (ก.ย.-ต.ค.) จึงได้แต่ภาวนาให้มีพายุ ไต้ฝุ่น ร่องมรสุม เข้ามาบ้าง 1-2 ลูก ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ไว้ เพื่อเติมปริมาณน้ำในอ่างให้มากขึ้นกว่านี้

เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งของทุกปี ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.-30 เม.ย. กรมชลประทานจะต้องบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อการบริโภค-อุปโภค-การเกษตร-อุตสาหกรรม-ผลักดันน้ำเค็ม-รักษาสมดุลในระบบนิเวศ

1พ.ย.ถ้ามีน้ำใช้การได้ไม่ถึง22,000ล้านลบ.ม.-ลำบากแน่!

โดยจะต้องบริหารน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักในการทำนาปรัง เมื่อถึงวันที่ 1 พ.ย.ของทุกปี จะต้องกักเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด เพื่อไว้ใช้ตามกิจกรรมต่างๆในข้างต้น จนถึงวันที่ 30 เม.ย. นี่คือแผนการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน

สำหรับวันที่ 1 พ.ย.66 เราหวังว่าอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศควรมีน้ำที่ใช้การได้ 22,000 ล้าน ลบ.ม. (ช่วง 1 พ.ย.65-30 เม.ย.66 มีน้ำใช้การได้ 35,800 ล้าน ลบ.ม.) ถ้าวันที่ 1 พ.ย.66 มีน้ำใช้การได้ไม่ถึง 22,000 ล้าน ลบ.ม. จะส่งผลกระทบต่อการอุปโภค-บริโภค และน้ำสำหรับการเกษตรอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการทำนาปรัง อาจจะต้องเข้มงวดในบางพื้นที่ หรือทำนาปรังได้ในบางพื้นที่เท่านั้น ที่มีน้ำในอ่างมากพอสมควร

“ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ และกรมชลประทาน เริ่มรณรงค์ให้ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรเตรียมการรับมือกับปัญหาภัยแล้ง อาจจะต้องงดทำนาปรัง หันไปปลูกพืชระยะสั้นใช้น้ำน้อย รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์อายุสั้นใช้น้ำน้อย และการทำอาชีพเสริม
ในส่วนของหมู่บ้าน-ครัวเรือน ที่มีคู คลอง สระน้ำ แทงค์น้ำ โอ่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ ต้องเตรียมการสำหรับเก็บน้ำไว้ใช้ภายในครัวเรือนให้พร้อมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้เป็นต้นไป เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาเอลนีโญที่หลบเลี่ยงไม่ได้ ส่วนปัญหาน้ำท่วมอาจมีบ้างในบางพื้นที่ลุ่มต่ำ”

ดร.ทวีศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีพื้นที่รวมทั้งหมด 321 ล้านไร่ มีฝนตกโดยเฉลี่ยปีละ 1,400 มิลลิเมตร คิดเป็นปริมาณน้ำฝน 2.8 แสนล้าน ลบ.ม. แต่เรามีเครื่องมือ (อ่าง) ในการกักเก็บน้ำไว้ได้ไม่ถึง 80,000 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลือไหลลงทะเลไปหมด

ขณะเดียวกันมีพื้นที่ทำการเกษตร 149 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีประมาณ 60 ล้านไร่ ที่สำรวจว่าเหมาะสมในการพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทาน โดยปัจจุบันเรามีพื้นที่ชลประทาน 35 ล้านไร่ จากงบประมาณและกำลังที่มี สามารถพัฒนาเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ปีละ 2-3 แสนไร่ สูงสุดไม่เกิน 3.5 แสนไร่

น่าห่วง!ไม่มีการสร้างอ่างความจุเกิน100ล้านลบ.ม.

ปกติเรามีแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 10 ปี มีอยู่ในแผนว่า 10 ปีข้างหน้าจะต้องเพิ่มน้ำกักเก็บเป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่ช่วงนี้ไม่มีโครงการสร้างอ่างขนาดใหญ่ ขนาดความจุเกิน 100 ล้าน ลบ.ม.ไม่มีเลย หรืออาจจะมีคือโครงการผันน้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 1,800 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี มาเติมลงในเขื่อนภูมิพล มูลค่าโครงการกว่า 70,000 ล้านบาท ขณะนี้เรื่องแบบเสร็จแล้ว ผลการกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมผ่านแล้ว เหลือเพียงแผนงบประมาณ และการพิจารณาเกี่ยวกับผู้ร่วมทุน

แต่การสร้างอ้างขนาดความจุเกิน 100 ล้าน ลบ.ม.ยังไม่มี เพราะถ้ามีโครงการสร้างก็จะมีคนออกมาประท้วง เป็นห่วงว่าจะมีการตัดไม้ทำลายป่า ทั้งที่การสร้างอ่างเก็บน้ำเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมที่สุด สร้างอ่างแล้วป่าไม้สูญเสียไม่เกิน 5 แสนไร่ แต่มีการปลูกป่าขึ้นมาชดเชย 2-3 เท่า โดยป่าไม้ 5 แสนไร่ที่ว่านั้น บางพื้นที่สูญเสียป่าไม้ไปมากกว่าการสร้างอ่างเก็บน้ำเสียอีก

“ลองนึกภาพว่าวันนี้ถ้าไม่มีเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ที่กักเก็บน้ำได้รวมกัน 22,972 ล้าน ลบ.ม. จะเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่ 22 จังหวัดภาคกลาง ดังนั้นนี่คือคุณูปการของคนที่คิดสร้าง 2 เขื่อนดังกล่าว เมื่อ 50-60 ปีก่อน มาจนถึงยุคปัจจุบันหลายคนบอกว่า ประเทศไทยยังวนเวียนซ้ำซากอยู่กับปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วม ต้องใช้งบประมาณจากหลายหน่วยงานเพื่อจ่ายชดเชยเยียวยาปีละเป็นแสนล้านบาท แล้วไม่มีวิธีการ ไม่มีโครงการอะไรที่จะช่วยแก้ปัญหาได้เลยหรือ? โดยส่วนตัวมองว่าประการสำคัญเราต้องเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นเรื่องที่ป้องกันยาก และทำได้แค่การบรรเทาจากหนักเป็นเบา” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว