เมื่อวันที่ 5 ก.ย.รัฐบาล “นิด1” ได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ ต่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และรอวันที่ 11 ก.ย.ก็จะแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา จากนั้นก็ปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งในการประชุม ครม.นัดพิเศษนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง ได้ย้ำในที่ประชุมว่า

“ได้พูดไปหลายเวทีว่าเราเป็นรัฐบาลของประชาชน จะทำงานเพื่อประชาชน ปฏิบัติตัวเคร่งครัดตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายเรื่องการมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ  ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสังคม ปัญหาความแตกแยกความคิดทั้งหลาย รัฐบาลนี้จะพยายามแก้ไขให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้  เราจะทำงานด้วยความรวดเร็ว อะไรที่ทำได้ก่อนโดยไม่ติดข้อกฎหมาย อยากให้ทุกรัฐมนตรีสร้างผลงาน ทำเพื่อประชาชนที่กำลังเดือดร้อน และรอคอยการทำงานของพวกเราอยู่  วันนี้เรายังสั่งการไม่ได้ จนกว่าจะแถลงนโยบาย ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะมีการแถลงนโยบาย หากได้เข้ากระทรวงไปแล้วก็จะเป็นการเก็บข้อมูลนำมาประกอบในการทำงานต่อไป” 

ประเด็นที่น่าสนใจคือ นายกฯ ก้านยาวย้ำว่า “ขอให้เข้าใจเห็นใจข้าราชการที่ตั้งใจทำงานมาตลอดทั้งชีวิต ต้องการความก้าวหน้าทางด้านการงาน ไม่ต้องการให้มีเรื่องซื้อขายตำแหน่งให้เอาเปรียบข้าราชการ ขอให้ทุกท่านให้เกียรติข้าราชการ” ซึ่งเรื่องการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งนี้มีปัญหาในหลายหน่วยงานราชการ ใครๆ ก็อยากได้ทางลัดให้ตัวเองโต  ว่ากันว่า โดยเฉพาะสีกากี  ซึ่งนายกฯ จะต้องเป็นประธาน ก.ตร.เอง คราวนี้คงจะได้ตรวจสอบเข้มข้น…แต่หน่วยงานอื่นก็ต้องเข้มข้นด้วย เพราะการจ่ายเงินซื้อขายตำแหน่งทำให้เกิดการถอนทุนคืน ก็เบียดบังภาษีประชาชนแหละ  

นายกฯ นิดบอกอีกว่า “ส่วนการจัดเตรียมงบประมาณประจำปี ขอให้ ครม.ช่วยไปดูกระทรวงในกำกับว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการแถลงนโยบาย  ขอเน้นย้ำเรื่องความโปร่งใสในการทำงาน เรื่องการโยกย้ายข้าราชการ การบริหารงบประมาณ ให้มีความก้าวหน้าในการทำงานในทุกๆด้าน และขอให้ ครม.ตระหนักว่าเป็นรัฐบาลเพื่อประชาชน ขอให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อย่าให้มีการแบ่งแยกพรรรคพวก เป็นรัฐบาลที่ทำงานเพื่อประชาชนจริงๆ” นายกฯ นิดชอบย้ำคำว่า “รัฐบาลเพื่อประชาชน”  น่าจะเพราะต้องทำงานพิสูจน์ตัวเองหนัก จากการที่พรรคเพื่อไทยถูกครหาเรื่องตระบัตสัตย์ไปจับขั้วกับพรรคสองลุง ทั้งที่ตอนหาเสียงพูดปาวๆ ว่าไม่เอาคนทำรัฐประหาร

และคำติดปากของนายกฯ นิด ก็คงเป็นคำว่า “รอนิดนึง” จากที่สังเกตเห็น นายกฯ ชอบพูดเวลานักข่าวถามเรื่องนโยบายแต่ละอย่างจะทำได้เมื่อไร ซึ่งก็ต้องเห็นใจและเข้าใจด้วยว่า บางนโยบายมันมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน กับเอกชน อย่างเช่น กรณีใช้รถไฟฟ้าตลอดสาย 20 บาท ก็ต้องไปทำให้บีทีเอสมีระบบเชื่อมกับ รฟม. หาเงินจ่ายหนี้บีทีเอส หาเงินสนับสนุนเอกชนในช่วงแรกของนโยบายที่อาจมีการขาดทุนก่อน ดังนั้น มันจะสั่งกันวันนี้เสร็จพรุ่งนี้คงยาก อย่างที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ก็บอกว่า “น่าจะได้ในปี 69”

เรื่องการลดราคาพลังงาน การลดค่าไฟฟ้าก็เช่นกัน คือจะไปใช้วิธีไหน ปรับลดภาษีสรรพสามิต ลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน เปิดโอกาสในการจัดหาแหล่งพลังงานจากเจ้าใหม่ ฯลฯ มันก็ต้องใช้เวลาพิจารณาถึงความคุ้มค่าด้วย ให้มันเป็นระยะยาวไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นด้วยนโยบายแจกหมื่น ( ซึ่งนายกฯ นิดคาดว่าจะเริ่มวันที่ 1 ก.พ.67 ) เท่านั้น นโยบายเกี่ยวกับการประหยัดพลังงานมีหลายอย่างก็ต้องวัดกึ๋นรัฐมนตรี  

ส่วนนโยบายที่พอจะทำได้เร็ว นายกฯนิดก็พยายามเร่ง โดยอันดับแรกคือการกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายผ่านการท่องเที่ยว อาจเปิดฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวบางชาติ เช่น จีน อินเดีย แต่ทั้งนี้ต้องทำงานประสานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ( ตม.) อย่างเข้มข้นเพื่อให้ตรวจสอบที่อยู่นักท่องเที่ยวเหล่านั้นได้ ไม่มาแผ่อิทธิพลเป็นมาเฟียอยู่ในประเทศไทย  ..สำหรับนโยบายที่หลายคนทวงถามกันมากโดยเฉพาะวัยรุ่น อย่างยกเลิกเกณฑ์ทหาร ( ซึ่งเห็นคนในรัฐบาลป้ายแดงใช้ว่า “เกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ” ไม่รู้ความหมายเดียวกับยกเลิกเกณฑ์ทหารหรือไม่ ) อาจเริ่มได้ในฤดูจับใบดำใบแดงปีหน้า

ของสาธารณสุข ขอดูนโยบาย หมอชลน่าน ศรีแก้ว ผู้ลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยมาเป็น รมว.สาธารณสุข ( นัยว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบที่ตระบัตสัตย์ แต่ไม่ลาออก สส. เพราะเดี๋ยววุ่นวายค่าเลือกตั้งซ่อม และมารับตำแหน่งรัฐมนตรีสวยๆ เพราะเหมือนเป็นหนังหน้าไฟให้พรรคเพื่อไทยตั้งหลายรอบก่อนตั้งรัฐบาล ) ว่า นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ จะสามารถทำได้จริงหรือไม่ บางคนเขาอยากให้ครอบคลุมถึงสิทธิ์อื่น อย่างประกันสังคม ถ้าไปรักษาที่ไหนก็ได้เหมือนกันก็ดี แต่เรื่องนี้คงต้องดูการเจรจากับ รมว.แรงงาน

ส่วนนโยบายที่คนถามกันมาก..ม๊าก..มาก คือแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทเพื่อ “กระตุกเศรษฐกิจระยะสั้นอย่างรวดเร็ว” เขาก็อยากรู้รูปแบบการแจก แต่เชื่อว่า ระบบจะใช้ยากหรือง่ายถ้าเป็นของฟรีเดี๋ยวมีผู้รู้ออกมาช่วยอธิบายให้ทำเป็นกันทุกคนเอง แค่ว่า ให้มันได้หมื่นนึงตามที่บอก ..ซึ่งแว่วเสียงครวญจากคนในกรุงเทพฯหลายคนว่า อยากให้แก้นโยบายว่า เงินดิจิทัลใช้ที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่เฉพาะร้านใกล้เคียงบ้านที่มีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้าน เพราะปัจจุบันคนหลั่งไหลเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯมาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.เองก็บอกว่า อยากเสนอนโยบายรัฐบาลเรื่องกรุงเทพฯ

นโยบายที่ว่า ผู้ว่าฯทริป เขาอยากผลักดันให้ กทม.เป็นศูนย์กลางของบริษัทข้ามชาติ เพราะเศรษฐกิจคือหัวใจของเมือง ให้เพิ่มการสร้างเมือง สร้างรายได้ สร้างตลาดแรงงาน  จะมีงานได้ต้องดึงบริษัททั่วโลกให้มาที่ กทม. เพื่อให้เกิดการจ้างงาน หากมีบริษัทที่มีคุณภาพจากทั่วโลกมาอยู่ในไทยจะเป็นการสร้างงาน ครอบคลุมไปถึงผู้ที่มีห้องให้เช่า คนขับรถแท็กซี่ ร้านอาหาร เกษตรกร ผลที่ได้จะเป็นห่วงโซ่การบริโภค ที่จะสามารถลงไปถึงรากหญ้าได้ ..ซึ่งแน่นอนหากมีการดึงการจ้างงานให้เข้ามาในกรุงเทพฯ มาก คนต่างจังหวัดก็เข้ามามากแต่เขาไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้าน แต่อยากให้เงินหมื่น

และในยุคปัจจุบัน ยานพาหนะที่คนนิยมใช้มากคือมอเตอร์ไซด์รับจ้าง เพราะถูกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ เช่นส่งอาหาร ส่งของด่วน หรือนั่งเข้าซอย นั่งในชั่วโมงเร่งด่วน คนที่ต้องการถอยมอเตอร์ไซด์มาทำงานพวกนี้มีมาก แต่บางทีอาจเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยาก ตรงนี้นายกฯ นิดได้รับปากกับตัวแทนวินมอเตอร์ไซด์ว่า อาจให้ ธ.ออมสินพิจารณาเรื่องกู้ ตรงนี้ก็ช่วยคนตัวเล็กตัวน้อยได้เยอะ แต่มีผู้เสนอว่า มอเตอร์ไซด์เยอะก็ควรต้องคุมเข้มให้ขับขี่ตามระเบียบจราจรเยอะๆ ด้วย ไม่ใช่ขับแซงซ้าย ไม่ใช่ขับย้อนศร ขับบนฟุตบาธ ขอให้กระทรวงคมนาคมเคร่งครัดกับเรื่องนี้ด้วย

อีกเรื่องหนึ่งคือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยใช้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อันนี้เป็นการรณรงค์ของภาคประชาชน ทำนองว่า รัฐธรรมนูญปี 60 เป็นรัฐธรรมนูญที่เผด็จการวางกับดักไว้เยอะ และทำให้เกิดซูเปอร์องค์กรที่ตรวจสอบได้ยาก แต่ทีนี้ก็เกิดความหวาดระแวงว่า “ถ้าให้แก้รัฐธรรมนูญ ม.256 โดยให้เลือกตั้ง ส.ส.ร.เกรงว่า คนจาก ‘บางพรรคการเมือง’ จะได้รับเลือกแล้วลักไก่แก้หมวด 1 หมวด 2” ซึ่งเรื่องนี้ก็ who know, only time เวลาเท่านั้นที่จะตอบได้ว่าจะเป็นไปตามที่สายหวาดระแวงเขาตั้งแง่ไว้หรือไม่   ..บางทีคงต้องมีการมานั่งถกกันก่อนว่า จำเป็นต้องยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ ในเมื่อกับดักเผด็จการสำคัญคือเรื่อง สว.เลือกนายกฯ ปีหน้ามันก็หมดแล้ว เพราะมันเป็นแค่บทเฉพาะกาล จะยกร่างใหม่คุ้มเหรอเพราะอาจต้องเข้าคูหา 3 ครั้ง คือ ถามว่า ประชาชนต้องการให้แก้ใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ , เลือกตั้ง ส.ส.ร. , ทำประชามติรับรองรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร.ยกร่าง

แต่ประเด็นที่ควรแก้เพราะมันบูดๆ เบี้ยวๆ คือเรื่องการที่พรรคการเมืองเสียงข้างมากอันดับหนึ่งไม่ได้เป็นนายกฯ ขึ้นอยู่กับการจับขั้วทางการเมืองหลังเลือกตั้ง เราต่างเห็นความบูดกันมาตั้งแต่หลังเลือกตั้งว่า เดิมก้าวไกลจับมือเพื่อไทย สักพักตั้งรัฐบาลไม่ได้ สว.ไม่เห็นด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ออกมาครวญว่าเหมือนถูกคลุมถุงชนให้แต่งงานกับก้าวไกล แล้วสุดท้ายก็ไปจับมือพรรคสองลุง ขัดกับที่เคยบอกว่าจะไม่จับมือเด็ดขาด แต่ฝ่ายนางแบกเขาก็อ้างไปเรื่อย อาทิ ลุงตู่ไม่เล่นการเมืองแล้ว ลุงป้อมไม่ได้ทำรัฐประหาร จำเป็นต้องจับมือกันเพื่อสลายความขัดแย้งที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน พรรคก้าวไกลส่งเสริมเยาวชนในทางให้หัวรุนแรง ฯลฯ พันหมื่นเหตุผลที่จะอ้าง รักจะเป็นนางแบกต้องอดทน

แก้เรื่องนี้ให้เหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 ก็ดี คือ ก็รู้กันไปเลย พรรคอันดับหนึ่งตั้งรัฐบาล พรรคอันดับสองฝ่ายค้าน จะได้ไม่เกิดกรณี สส.ห่างกันสิบเสียงแล้วขบเหลี่ยมกัน ลามมากัดประชาชนด้วยทำนองว่า เนี่ย เพราะไม่เลือกเราให้แลนด์สไลด์ ถึงได้เป็นแบบนี้ แล้วที่อยากให้แก้คือ โละองค์กรอิสระชุดปัจจุบันออก หาวิธีสรรหาใหม่ และไม่ให้องค์กรไหนมีสภาพเป็นซูเปอร์องค์กรที่ตรวจสอบไม่ได้ ..ในส่วนศาลรัฐธรรมนูญ อยากให้มีแค่ฝ่ายประจำ ฝ่ายเลขาธิการ ส่วนตุลาการนั้น หาระบบเลือกองค์คณะพิจารณาแต่ละคดีๆ ไป เพื่อได้คนรู้จริง เข้าใจความละเอียดอ่อนของปัญหา อย่างเช่นกรณีเรื่องสมรสเท่าเทียม มีข่าวว่อนไปหมดว่า คำวินิจฉัยมีลักษณะเหยียดเพศ  

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะทำงานดีหรือไม่ ตอนนี้ก็ต้องใช้คำนายกฯ คือ “รอนิดนึง” แต่ปีนี้คงเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ..ซึ่งก็มีคนฝากมาเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมในเมืองไทย ให้มันเป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย ..มีเสื้อแดงบางคนแถวๆ นี้เขาเป็นห่วงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ประกาศพร้อมกลับไทยมารับโทษ เพราะอยู่เมืองนอก 17 ปี อยากกลับมาเลี้ยงหลาน อยากกลับมาใช้ลมหายใจในประเทศไทยร่วมกับคนไทยทุกคน.. อนแรกคนก็หมิ่นว่าไม่กล้ากลับมาหรอก ปรากฏกลับมาจริง คนว่าไม่กล้ากลับมาเลยกินอาหารหมาไปเล็กน้อย

ปรากฏว่า ไม่รู้อากาศไม่สะอาดหรืออย่างไร กลับมาวันเดียวอดีตนายกฯ น็อคเลย ถูกหามส่ง รพ.ตำรวจตั้งแต่คืนวันที่ 22 ส.ค.ที่กลับมานั่นแหละ ซึ่งก็น่าสนใจว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์ห่วยขนาดดูแลนักโทษความดันไม่ได้เชียวหรือ ? แล้วตอนนี้ล่อมาวันที่ 7 ก.ย.แล้วก็ยังไม่มีวี่แววจะออกมา ..แฟนคลับเสื้อแดงเขาห่วงว่านายกฯ ในดวงใจเป็นอะไรมากหรือไม่ ถาม ผอ.รพ.ตำรวจก็ตอบอมๆ ถามใครก็ตอบอมๆ กันหมด แบบว่าพูดเรื่องนี้แล้วน้ำท่วมปาก

ทีนี้ เราก็มาจับตาดูว่า นายทักษิณจะขอพักโทษเนื่องจากแก่และป่วยหรือไม่ เหมือนกำนันเป๊าะ สมชาย คุณปลื้ม ซึ่งถ้าขอพักโทษก็อยู่ในเงื่อนไขคุมประพฤติ ไม่ต้องติดตะรางก็ได้ เพียงแค่อยู่ที่ใดที่หนึ่งแล้วก็ไปรายงานตัวตามกำหนด ไม่ต้องใส่กำไลอีเอ็มก็ได้เพราะไม่มีคู่กรณีที่ห้ามเข้าใกล้ หรือมีลักษณะอันตรายที่ห้ามออกนอกพื้นที่ ก็คนป่วยอ่ะ… ถ้าไม่ขอพักโทษ ก็ลุ้นเอาว่า มีวาระสำคัญให้ออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษหรือไม่ แล้วทางเรือนจำแต่ละแห่งจะพิจารณานักโทษที่เข้าเค้าในการลดโทษหรืออภัยโทษต่อไป

บางเรื่องก็มาจากน้ำผึ้งหยดเดียวได้.. รัฐบาลปูถูก กปปส.ไล่เพราะกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวจะนิรโทษกรรม ระวังว่า ถ้าลดแลกแจกแถมสิทธิพิเศษให้นายทักษิณมาก ระวังจะเกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านหนัก ..ภาระก็คงอยู่กับรัฐบาลที่จะต้องทำผลงานดีๆ ไม่ให้คนอึงเรื่องนี้กันมาก

แล้วทำผลงานได้ดีแค่ไหน ก็บอกว่า“รออีกนิดนึง” ก็จะเห็น ก็ขอให้ “นิดนึง”ตามที่นายกฯนิดชอบพูดจริงๆ นะ

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”