แล้วก็ถึงคราว!! ของบรรดาคนใช้น้ำมันเบนซิน ที่มารอลุ้นกันว่า…จะมี “เฮ” ได้ลดราคาน้ำมันเบนซิน จากรัฐบาล “เศรษฐา1” อย่างไร? หลังจากที่ก่อนหน้านี้ครม.ได้ไฟเขียวลดภาษีน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 2.50 บาท เพื่อให้ราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ข้อความ

นายกฯเศรษฐา ได้ตอบคำถามระหว่างการตรวจราชการที่จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 .. ที่ผ่านมา ถึงโอกาสการลดราคาน้ำมันเบนซิน ว่า “มีสิทธิ แต่ขอให้ใจเย็นนิดนึง ค่อย ๆ ทำทีละเรื่อง อะไรที่ทำได้ ทำไปก่อน ไม่อยากประกาศพร้อมกันหมด เพราะต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์

เช่นเดียวกับ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกฯและรมว.พลังงาน ที่โพสต์เฟซบุ๊ก ตอนหนึ่งระบุว่า ได้สั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงฯ เร่งหาวิธีลดราคาน้ำมันเบนซิน สำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่จำเป็นต้องพึ่งพาน้ำมันเบนซินในการประกอบอาชีพ เช่น วินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งคาดว่าจะได้แนวทางที่ชัดเจน ภายใน 1 สัปดาห์

คำมั่นสัญญา” นี้ จะออกมาอย่างไร? มีแนวทางอย่างไร? คนใช้เบนซินจะได้เฮเหมือนกันหมด เท่ากันหมด หรือได้เฉพาะผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ใช้เบนซินเพื่อทำมาหากิน ทั้งหมดก็ต้องมารอฟังคำตอบชัด ๆ กันต่อไป

เพราะ…ทั้งหมด คือส่วนหนึ่ง!! ของการดูแลปัญหาปากท้องพี่น้องประชาชนคนไทย ที่พรรคเพื่อไทยต้องเดินหน้าตอบแทนคะแนนเสียงทุกเสียงได้รับเลือกเข้ามาให้บริหารประเทศ

ก่อนหน้านี้!! หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอแนวทางการลดราคาน้ำมันไว้ 3 แนวทาง ทั้งการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล การลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน โดยเฉพาะการรื้อต้นทุนราคาหน้าโรงกลั่น ที่ปัจจุบันอิงราคาตลาดสิงคโปร์ที่มีต้นทุนสูง ทำให้ราคาค่าการตลาดสูงตามไปด้วย

แม้เวลานี้ ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรเพื่อปรับลดราคาน้ำมันเบนซิน แต่สิ่งหนึ่งที่เข้าไปดูแลคือเรื่องของค่าการตลาด ที่เบื้องต้นกำหนดไว้ไม่ให้สูงกว่าลิตรละ 2 บาท

Free photo oil pollution in water created with generative ai technology

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือสนพ. ได้แจกแจงโครงสร้างราคาน้ำมันทุก 1 ลิตร จะประกอบด้วย

1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน ( 40 – 60% ) คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย

2. ภาษีต่าง ๆ  ( 30– 40%) ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และบำรุงท้องถิ่น

3. กองทุนต่างๆ (5– 20%) เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน

นอกจากนี้ยังมี กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน

4. ค่าการตลาด (10– 18%) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน

Free photo man putting gasoline fuel into his car in a pump gas station

ที่สำคัญ!! ประเทศไทยไม่ใช่เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ โดยต้องนำเข้ามาผลิตและบริโภคภายในประเทศ!!

ล่าสุด…ในครึ่งปีแรกของปีนี้ ไทยนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยวันละกว่า 1.06 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4% ซึ่งเป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันไทยยังใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเฉลี่ยวันละ 31.96 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 5.9% ขณะที่กลุ่มดีเซลใช้ลี่ยวันละ 72.30 ล้านลิตร ลดลง 3.7% และยังคาดการณ์กันว่าในครึ่งปีหลัง นี้ ทั้งการนำเข้าและการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นอีกตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

สุดท้าย!!รัฐบาล “เศรษฐา” จะตอบสนองความหวังของคนใช้เบนซิน ได้มากน้อยเพียงใด ก็มารอลุ้นกัน…

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”