อย่างไรก็ตาม กับกรณี “ปัญหาหนี้ครู” นี่ในประเทศไทยก็ถือเป็น “ปัญหาใหญ่-โจทย์หิน” ระดับ “อมตะนิรันดร์กาล” มาเนิ่นนานแล้ว ซึ่งกรณีปัญหาเกี่ยวกับ “หนี้ครู” ในไทยเรานั้น วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็จะขอสะท้อนต่อข้อมูล-จะขอพาไปย้อนรอยย้อนดู…

“ปมปัญหา” เกี่ยวกับ “หนี้สินของครู”

ที่ “มุมวิชาการก็มีการสะท้อนไว้มาก”

ถึง “สาเหตุปัญหา” รวมถึง “ข้อเสนอ”

ทั้งนี้ “หนี้สินครู” ในไทยนี่แม้ไม่ใช่กรณีปัญหาใหม่ โดยมีความพยายามจะค้นหาแนวทางแก้ปัญหาให้กับคุณครูและบุคลากรทางการศึกษากันมาเป็นระยะ ๆ แต่ก็กล่าวได้ว่า…ประเด็นปัญหานี้ “รัฐบาล” ทุกยุคทุกสมัยยังถูกคาดหวังว่าจะหยิบยกขึ้นเป็น“โจทย์ใหญ่เพื่อจะช่วยแก้??”ขณะที่…ที่ผ่าน ๆ มาก็มีการ “เสนอแนะ-ชี้แนะ” ไว้อย่างหลากหลาย อย่างเช่น… เสนอให้ตั้ง“ธนาคารครู”เพื่อให้ ครูสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ได้มากขึ้น …นี่เป็นตัวอย่างข้อเสนอ

กับแนวคิดต่าง ๆ ที่เคยถูกเสนอไว้ให้มีการนำมาใช้แก้ไขปัญหาหนี้สินครูนั้น ก็ยังมี…เสนอให้ “นำหนี้สินครูทั้งหมดไปรวมกันไว้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู” เพียงแห่งเดียว เพื่อที่จะได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำกว่าดอกเบี้ยของธนาคารทั่วไป โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ อีกทั้งยังเคยมีอีกแนวคิด-เคยมีการเสนอแนะต่อรัฐบาลไว้…ให้ “งดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ครูอย่างน้อย 3-5 ปี” และก็ยังรวมถึงแนวคิด-การเสนอให้รัฐ “ปรับโครงสร้างหนี้ให้ครู” โดยในส่วนนี้โฟกัสที่กลุ่มครูที่เกษียณ หรือครูที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป …ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นตัวอย่าง “ข้อเสนอที่เคยมีในอดีต” เกี่ยวกับการ“แก้ปัญหาหนี้ให้ครู”

หลังพบว่า“ครูไทยมีปัญหาหนี้ท่วม!!”

และกับปัญหา“หนี้สินของครู” นี่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยนำเสนอ-เคยสะท้อนข้อมูลเรื่องนี้มาเป็นระยะ ส่วนที่อยากชวนพลิกแฟ้มดูกันด้วยเมื่อไทยมีรัฐบาลใหม่ ก็คือ “ภาพสะท้อน” ถึง “ปัจจัย-สาเหตุ” ที่ทำให้ “ครูไทยมีปัญหาหนี้สินมาก” ผ่านบทความเชิงวิชาการ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีวิทยานิพนธ์เรื่อง “กระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” โดย ปรีชา วิยาภรณ์ ในฐานะนักศึกษาหลักสูตรปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา ภาควิชาการบริหารการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่จัดทำไว้เมื่อกว่า 7 ปีที่แล้ว ซึ่งถึงวันนี้ก็ยัง… 

“ฉายภาพหนี้สินครู” ได้ “อย่างมีนัยยะ”

ยัง “สะท้อน” ถึง “มูลเหตุปัญหาหนี้ครู”

จากข้อมูลงานเชิงวิชาการชิ้นดังกล่าว ได้มีการระบุไว้บางช่วงบางตอนว่า… การเกิดหนี้สินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นั้น…มี “มูลเหตุ 3 ด้านหลัก” ประกอบด้วย…“ด้านความต้องการ” ได้แก่… เป็นหนี้เพราะผ่อนบ้าน-ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย หรือเป็นหนี้เพราะต้องนำเงินไปใช้เพื่อการดำรงชีวิต, “ด้านค่านิยม” ได้แก่… ค่านิยมทางวิชาการ โดยเป็นหนี้สินเพราะศึกษาต่อ และเป็นหนี้จากการทำผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนตำแหน่ง ตลอดจนค่านิยมทางเศรษฐกิจ ค่านิยมทางสังคม และมูลเหตุการเกิดหนี้สินอีกด้านคือ “ด้านพฤติกรรม” ได้แก่… บางส่วนนิยมการกินอาหารนอกบ้านหรูหรา ขณะที่บางส่วนมีการนำเงินไปใช้จ่ายด้านอบายมุข …อย่างไรก็ตาม จากทั้ง 3 ด้านนั้น “ความต้องการ” ถือเป็น“ปัจจัยสำคัญ” ที่…

กระตุ้น“ทำให้ครูเกิดหนี้สินมากที่สุด!!”

อนึ่งนอกจากข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเชิงวิชาการดังกล่าวข้างต้นแล้ว เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ยังมีข้อมูลเชิงวิชาการอีกแหล่งที่น่าสนใจเช่นกัน นั่นคือ…ผลการศึกษาของ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตครู องค์กรภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่ได้ศึกษาสภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของคุณครูโรงเรียนเอกชนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ซึ่งแม้จะเป็นข้อมูลตั้งแต่ปี 2556 แต่ถึงวันนี้ก็ “ยังน่าคิด” กล่าวคือ… กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization Trends) ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเกิดปัญหาการเงินรุนแรง จนต้องเผชิญ“วิกฤติรายได้ไม่พอกับรายจ่าย” ส่งผลทำให้…

ครู” เกิด “หนี้สินเพิ่มขึ้นตลอดเวลา!!”

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในส่วนนี้ชี้ไว้ว่า… “หนี้ที่เกิดขึ้น” นั้นจำแนกได้ “2 ประเภท” คือ… “หนี้เพราะจำเป็น” กับ “หนี้เพราะค่านิยมผิด ๆ” โดยหนี้จากความจำเป็น ก็มีอาทิ… กู้เงินเป็นทุนการศึกษาตนเอง หรือบุตรหลาน, กู้ซื้อยานพาหนะเพื่อใช้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่, กู้เงินนำไปปรับปรุงที่อยู่อาศัย, กู้ไปเป็นค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ส่วนหนี้จากค่านิยมผิด ๆ ที่ศึกษาพบ ก็มีอาทิ… กู้ไปใช้จ่ายสังสรรค์, กู้ยืมไปเล่นพนัน-เล่นหวย เป็นต้น …ทั้งนี้ เหล่านี้คือ “ภาพสะท้อน-มุมสะท้อน” เกี่ยวกับ “ปัญหาหนี้สินครู” ที่ด้าน-ประเภท “ความต้องการ-ความจำเป็น” ย่อมจะมากกว่าด้าน-ประเภทอื่น และ “น่าเห็นใจครู”…

“ต้องการเพราะจำเป็น” นั้น “น่าเห็นใจ”

“ครูไทย” ไม่น้อยเลย “ยังยิ้มเปื้อนหนี้”

รอดูกึ๋น??…“รัฐบาลใหม่ช่วยยังไง??”.