การฝึกซ้อมรบดังกล่าว ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอาเซียน ที่เป็นการฝึกซ้อมโดยมีเฉพาะสมาชิกภายในประชาคมเข้าร่วม มีรหัสปฏิบัติการ “ASEAN Solidarity Exercise” หรือ ASEX 23 เสนอโดยอินโดนีเซียซึ่งทำหน้าที่ประธานอาเซียนปีนี้

พล.ร.อ.ยูโด มาร์โกโน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอินโดนีเซีย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการซ้อมรบ คือการเน้นย้ำ “ความสามัคคี” และ “ความเป็นกลาง” โดยการฝึกซ้อมมุ่งเน้นความปลอดภัยและการกู้ภัยทางทะเล เพื่อเพิ่มพูนความพร้อมของอาเซียน ในการเผชิญหน้าและรับมือกับ “สถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน” ตลอดจนเพื่อการสร้างความเชื่อมั่น และความไว้วางใจระหว่างสมาชิก

พล.ร.อ.ยูโด มาร์โกโน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอินโดนีเซีย กล่าวปิดการซ้อมรบร่วมครั้งประวัติศาตร์ของอาเซียน ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ

ก่อนการซ้อมรบครั้งนี้เกิดขึ้น เดิมทีมีรายงานเกี่ยวกับ “ความวิตกกังวล” ของสมาชิกอาเซียนบางประเทศ เนื่องจากการฝึกซ้อมเกิดขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นน่านน้ำพิพาทยืดเยื้อ ระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ ซึ่งตอนนี้มีปัญหาอย่างหนักกับจีน เกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิเหนือแนวสันดอนสการ์โบโรห์ ใกล้กับหมู่เกาะสแปรตลีย์

อย่างไรก็ตาม การซ้อมรบใกล้กับพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ อาจเป็นเจตนาของอินโดนีเซีย ในการส่งสัญญาณถึงจีน ว่าทะเลแห่งนี้ยังคงเป็นพื้นที่ซึ่งต้องมีการหารือ เพื่อหาทางออกร่วมกัน และอาเซียนคัดค้านการกล่าวอ้างกรรมสิทธิฝ่ายเดียว

ในภาพรวมถือว่า แม้กองทัพของแต่ละประเทศในอาเซียนยังคงมีศักยภาพมากและน้อยแตกต่างกันไป อีกทั้งพึ่งพาอาวุธจากกลุ่มมหาอำนาจต่างขั้ว นั่นคือ “สหรัฐกับกลุ่มตะวันตก” และ “จีนกับรัสเซีย” อย่างไรก็ดี การซ้อมรบครั้งนี้ เป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดี สำหรับการขยายขอบเขตความร่วมมือที่เกี่ยวข้องในอนาคต เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของอาเซียน ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2510 คือการรวมตัวเพื่อเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจและการทูต ไม่ใช่การก่อตั้งสหภาพทางทหาร

เครื่องบินคาซา 212 ของกองทัพอากาศอินโดนีเซีย สาธิตการหย่อนถุงเสบียง เพื่อภารกิจมนุษยธรรม

ด้วยการยึดมั่นต่อหลักการพื้นฐาน ที่เน้นเศรษฐกิจและการทูต ตลอดจน “การไม่ก้าวก่าย” กิจการภายในของสมาชิก อาเซียนขยายขอบเขตสมาชิกจากดั้งเดิมที่มีเพียง 5 ประเทศ เป็นอย่างน้อย 10 ประเทศ ภายในระยะเวลาไม่กี่ทศวรรษ มีประชากรรวมกันราว 662 ล้านคน และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจร่วมกันมากกว่า 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 116.7 ล้านล้านบาท ) โดยอินโดเซียเป็นประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด ตามด้วยไทย

ขณะเดียวกัน สมาชิกอาเซียนร่วมกันรักษาจุดยืนของการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างเจาะจง แต่เน้นการรักษาสมดุลความร่วมมือกับมหาอำนาจทุกขั้ว แตกต่างจากสหภาพยุโรป ( อียู ) และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) ซึ่งชัดเจนว่า สหรัฐมีบทบาทอยู่เหนือองค์กรทั้งสองแห่งมาก กระนั้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า อาเซียนกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ โดยเฉพาะวิกฤติการณ์ในเมียนมา ความขัดแย้งเรื่องทะเลจีนใต้ที่ยืดเยื้อ และผลกระทบสืบเนื่องด้านภูมิรัฐศาสตร์ จากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และปัญหาสิ่งแวดล้อม จากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก

การที่อาเซียนมีความเป็นพหุสังคมในระดับสูง ส่งผลให้ประชาคมแห่งนี้ยังไม่สามารถมีฉันทามติร่วมกันได้ในเรื่องสำคัญ และในหลายกรณีกลายเป็น “การเปิดโอกาส” ให้กับมหาอำนาจโดยปริยาย อย่างไรก็ดี ใช่ว่ากองทัพหรือฝ่ายความมั่นคงของอาเซียน จะไม่เคยมีภารกิจร่วมกัน เพื่อพิทักษ์ความมั่นคงภายในภูมิภาค

เรือหลวง “เคดี ตรังกานู” ของกองทัพเรือมาเลเซีย เข้าร่วมการฝึกซ้อมรบระหว่างสมาชิกอาเซียน ที่อินโดนีเซีย

ย้อนกลับไปสมัยสงครามอินโดจีนครั้งที่สาม ระหว่างปี 2521-2534 ผู้นำอาเซียนมีมติร่วมกัน เมื่อปี 2522 จัดทำแผนสำรองฉุกเฉิน เพื่อปกป้องอธิปไตยของไทย หลังกองทัพเวียดนามซึ่งสหภาพโซเวียตสนับสนุน ยาตราทัพเข้ามาในกัมพูชา และสถาปนารัฐบาลหุ่นเชิดที่มีนายเฮง สัมริน เป็นผู้นำ

เนื้อหาบางส่วนจากฐานข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐ ระบุว่า อินโดนีเซียและสิงคโปร์เตรียมพร้อมส่งทหารเข้ามาช่วยเหลือไทย ขณะเดียวกัน สิงคโปร์และมาเลเซียเตรียมความพร้อม ส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์บางส่วน เพื่อสนับสนุนกองทัพไทย จากการสู้รบในกัมพูชาที่อาจขยายวงกว้าง ข้ามพรมแดนเข้ามาในไทย การร่วมกันวางแผนดังกล่าวบ่งชี้ว่า อาเซียนมีศักยภาพพร้อมปกป้องตัวเอง และประเทศสมาชิก ในยามเกิดภาวะคับขันด้านความมั่นคง ที่อาจส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาค

สำหรับการซ้อมรบร่วมทางทะเลครั้งนี้ แม้ผ่านพ้นไปด้วยดี แต่หนึ่งในคำถามซึ่งน่าจะยังอยู่ในใจของหลายฝ่าย คือการซ้อมรบครั้งนี้ “จะเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย” หรือไม่.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP