ตามกฎหมายดังกล่าวมีบัญชีแนบท้าย 3 บัญชี ก่อนหน้านี้บังคับใช้แล้วในบัญชีที่ 2 ส่วนบัญชีที่ 1 และ 3 เพิ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา หนึ่งในกฎหมายใกล้ตัวที่จะถูกปรับเป็นพินัย คือ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

อย่างไรก็ตาม เพื่อความเข้าใจกฎหมายใหม่ฉบับนี้“ทีมข่าวอาชญากรรม”สอบถาม นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองโฆษกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถึงหลักการและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมหลังจากนี้

นายวีรศักดิ์ ชี้หลักการสำคัญของพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯว่ามาจากเดิมกฎหมายได้กำหนดโทษทางอาญา กรณีผู้กระทำความผิดต้องถูกลงโทษปรับ แต่หากผู้กระทำผิดนั้น“ไม่”สามารถชำระค่าปรับได้ ก็จะถูกนำตัวไป“กักขัง”แทนค่าปรับ แต่การเรียงลำดับความร้ายแรงของโทษทางอาญานั้น ไล่เรียงตั้งแต่หนักสุดคือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ยึดทรัพย์

ดังนั้น การที่มีผู้กระทำผิดไม่มีเงินค่าปรับกลับต้องถูกกักขังทั้งที่เป็นโทษที่รุนแรงกว่า เป็นการถูกจำกัดด้วย“ฐานะ” หากมีเงินก็ไม่ต้องเข้าคุก จึงมีแนวคิดว่าหาก“โทษปรับสถานเดียว”เปลี่ยนให้ไปทำอย่างอื่นแทนตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย ที่กําหนดให้การตรากฎหมายพึงกําหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดที่ร้ายแรง

พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯจึงใช้บังคับ เพื่อเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาและโทษปรับทางปกครองมาเป็น“โทษปรับเป็นพินัย” ความหมายคือ เงินค่าปรับเป็นพินัยที่ต้องชำระให้แก่รัฐ ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ในมาตรา 3 ความผิดทางพินัย คือการกระทำ หรืองดเว้นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย และกฎหมายนั้นบัญญัติให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย

ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปรับ และอยู่ภายใต้การบังคับใช้ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯนั้นเป็นไปตามบัญชีท้ายซึ่งมี 3 บัญชี รวม 204 ฉบับ

การปรับเป็นพินัยมีหลักการสำคัญคือ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่บังคับใช้กฎหมายแต่ละฉบับนั้นมีอำนาจหน้าที่ในการ“ออกคำสั่งปรับเป็นพินัย” แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ถ้าจำนวนเงินที่จะต้องสั่งปรับไม่เกิน 10,000 บาท ให้เจ้าหน้าที่1คน สามารถออกคำสั่งได้ แต่ถ้าปรับเกิน 10,000 บาท จะต้องทำในรูปของคณะกรรมการไม่เกิน2 คน และจำนวนเงินค่าปรับให้เป็นไปตามที่กฎหมายฉบับนั้นๆบัญญัติไว้

อย่างไรก็ตาม จากหลักการเดิมหากไม่มีเงินเสียค่าปรับจะถูกกักขังแทนนั้นพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯได้เปลี่ยนรูปแบบใหม่ ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกศาลสั่งปรับ เป็นบุคคลยากจน ทุกขเวทนา มีเหตุจำเป็นให้ต้องละเมิด สามารถยื่นคำร้องต่อศาล “ขอลดค่าปรับ” หรือขอผ่อนชำระเป็นงวดๆ

หาก“ไม่มีเงินเลย” ก็สามารถขอศาลอนุญาตให้ผู้กระทำผิด “ขอทำงานบริการสังคม”หรือ“ทำงานสาธารณประโยชน์”แทนค่าปรับเป็นพินัยก็ได้ โดยศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะอนุญาตตามคำร้องหรือไม่ “ไม่ใช่ว่าทุกคนจะใช้แรงงานแทนค่าปรับได้เพราะมีเงื่อนไข”

ถ้าผู้กระทำผิดไม่ได้ขอศาลผ่อนชำระ หรือขอทำงานบริการแทนค่าปรับเป็นพินัยแล้วชำระไม่ทันเวลาที่ศาลกำหนด ให้ศาลออก“หมายบังคับคดี” เพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้น เพื่อชำระค่าปรับเป็นพินัยได้ ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้ “ห้าม”ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบันทึกลงใน“ประวัติอาชญากรรม”กับผู้กระความผิดทางพินัย

นายวีรศักดิ์ ยังกล่าวถึง ศาลที่เกี่ยวข้องเรื่องการดูแลการปรับเป็นพินัยว่าอยู่ที่คดีนั้นมี“ทุนทรัพย์”เท่าไร ตั้งแต่ศาลแขวง ศาลจังหวัด แล้วแต่ประเภทของทุนทรัพย์ และผู้ที่สามารถเป็นโจทก์ฟ้องร้องได้ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กฎหมายบัญญัติ เช่น พนักงานอัยการ ประชาชนด้วยกันไม่มีสิทธิมาฟ้องร้องเรื่องดังกล่าวเหล่านี้ได้

กฎหมายฉบับนี้มอบโอกาสให้คนที่มีความจำเป็นต้องทำ แต่ไปละเมิดกฎหมายแล้วฐานะยากจน ก็ยังสามารถขอใช้แรงงานแทน ก็จะทำให้คำพูดที่บอกว่า คุกตะรางมีไว้เพื่อขังคนจนเท่านั้น ได้รับการขจัดออกไป”

ทุกวันนี้ในวงการกฎหมายของไทยกำลังมีการปรับกฎหมาย โดยแนวความคิดเช่นเดียวกับกฎหมายฉบับนี้ ยกตัวอย่าง การปรับในความผิดทางอาญาที่หากไม่มีเงินต้องกักขังแทนนั้น จะมีการปรับแก้กฎหมายได้หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าในเมื่อมีพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯแล้วก็ควรนำมาใช้ เพื่อให้สอดรับกัน

...ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ ถือเป็นอีกมิติใหม่ๆของกฎหมายที่น่าจับตา ทิศทางกระบวนการยุติธรรมต่อจากนี้.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]