เพราะความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ องค์กรใหญ่ด้านพลังงานอย่างกลุ่ม ปตท. จึงรวมพลังกับบริษัทพันธมิตรอีกหลายภาคส่วน ขอเป็นอีกแรงหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ ผ่านสถาบันวิทยสิริเมธี (Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology) หรือในชื่อย่อว่า VISTEC ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ (Education Zone) ในเมืองแห่งนวัตกรรม Smart City วังจันทร์วัลเลย์ (Wangchan Valley) จังหวัดระยอง ด้วยความตั้งใจให้มีสถาบันอุดมศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก เพื่อเน้นบ่มเพาะบุคลากรที่มีทักษะความสามารถ รวมถึงการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ ด้วยการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมโดยเฉพาะ

จากความขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในประเทศไทย VISTEC สถาบันการศึกษาระดับปริญญาโท-เอก จึงมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างบุคลากรและองค์ความรู้ชั้นแนวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยดำเนินการผ่าน 3 ภารกิจที่สำคัญ คือ 1. การสร้างนักวิจัยระดับโลกที่รอบรู้และมีความเป็นผู้นำ [Cultivate Global Well-versed Leader] 2. การบุกเบิกการวิจัยวิทยาศาสตร์ใหม่เพื่อการสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรม [Create Frontier Science and Innovation] และ 3. การนำความรู้ไปขับเคลื่อนการพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและสอดรับกับทิศทางระดับโลก [Contribute to National Demands and Global Challenges]

โดยปัจจุบัน VISTEC เปิดการเรียนการสอนทั้งสิ้น 4 สำนักวิชา ประกอบด้วย 1.สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (School of Molecular Science and Engineering: MSE) 2.สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (School of Energy Science and Engineering: ESE) 3.สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (School of Biomolecular Science and Engineering: BSE) และ 4.สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (School of Information Science and Technology: IST)

และในปี 2565 VISTEC มุ่งมั่นพัฒนาและนำเสนอผลงานวิจัยที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการผลักดันสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังสร้างคุณค่าให้กับสังคม อันได้แก่ 1. นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ (AI and Robotics) เช่น แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถปรับใช้ได้กับบุคคลทั่วไป และหุ่นยนต์ที่สามารถใช้ได้ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน 2. นวัตกรรมการกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Energy Storage & Environmentally Friendly Innovation) เช่น การพัฒนาสารตั้งต้นสำหรับแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนให้มีระยะการใช้งานยาวนาน มีคุณภาพและมีความปลอดภัยที่สูงขึ้น รวมถึงการพัฒนาวัสดุที่สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า และเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นสารที่มีมูลค่าสูง 3. นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เช่น การทำชีววิทยาสังเคราะห์และพัฒนาเอนไซม์เพื่อให้เกิดประโยชน์ในลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปตามการใช้งาน

ผลงานด้านวิชาการของ VISTEC ยังได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติทั้งในด้านผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับโลก และได้รับการจัดอันดับโดยเว็บไซต์ Nature Index (www.natureindex.com) ให้เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทยในด้านเคมี (Chemical sciences), วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life sciences) และวิทยาศาสตร์รวมทุกสาขา (All sciences) และเป็นอันดับ 2 ในด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical sciences) นอกจากนี้ ยังได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 3 ด้านเคมี (Chemical sciences) ในกลุ่มประเทศ ASEAN (ข้อมูล ณ วันที่ 14 กันยายน 2565) รวมถึงได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 12 ของมหาวิทยาลัยโลกที่ก่อตั้งมาไม่เกิน 30 ปี อีกด้วย

นอกจากนี้ VISTEC ยังเห็นถึงความสำคัญของการนำผลงานวิจัยชั้นแนวหน้าเข้าสู่การพัฒนาเพื่อผลักดันให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ จึงได้จัดตั้งนิติบุคคลภายใต้ชื่อ บริษัท วิสอัพ จำกัด (VISUP Company Limited) ทำหน้าที่บ่มเพาะและผลักดันให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) แบบเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep technology) ปัจจุบันมีโครงการที่จัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้ว คือ บริษัท วิสัย เอไอ จำกัด (VISAI Company Limited) ผลิตภัณฑ์หลักคือการพัฒนาแพลตฟอร์มทางปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับบุคคลทั่วไป และในอนาคต VISUP มีแผนผลักดันให้เกิด Startup อีกอย่างน้อย 3 โครงการภายในปี 2025

อย่างไรก็ตามในปี 2565 นี้ VISTEC ได้ผลิตและพัฒนาผลงานวิจัยที่มีความโดดเด่น และมีความสอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ

A. AI and Robotic จากสำนักวิชาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IST) ในด้านงานวิจัยทางด้านระบบปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ อาทิ งานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถปรับใช้ในงานด้านต่างๆ สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานด้านระบบ AI ให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในการใช้งานที่หลากหลายโดยใช้ฐานข้อมูลที่น้อยลง มาใช้แก้ปัญหาใหม่ที่ข้อมูลหายากหรือมีค่าใช้จ่ายสูง และงานวิจัยทางด้านหุ่นยนต์ ได้แก่ การพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนไหวในพื้นที่ซับซ้อนโดยได้รับแรงบันดาลใจของการเคลื่อนไหวในธรรมชาติ เช่น แมลงหรือหนอน เป็นต้น งานวิจัยดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนที่และใช้งานในพื้นที่ที่ซับซ้อน เข้าถึงยากและเป็นอันตรายสำหรับภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีงานวิจัยระบบต้นแบบเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริงอัจฉริยะ เพื่อใช้ในการศึกษาการควบคุมการทำงานของระบบหุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์ที่มีข้อมูลป้อนกลับจากสัญญาณชีวภาพและชีวกลศาสตร์ เช่น สัญญาณคลื่นสมอง, สัญญาณการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วยการประมวลผลผ่านแบบจำลองโครงข่ายประสาทเทียม ระบบสามารถปรับตัวทำงานให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยสนับสนุนและฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานแต่ละบุคคล

B. Energy Materials & Environment จากสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (ESE) และสำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (MSE) ซึ่งมุ่งเน้นงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน พัฒนาแบตเตอรี่และวัสดุคุณภาพสูง เช่น การวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ทั้งในด้านของวัสดุที่ใช้ทำขั้วบวกและขั้วลบ การสร้างสารละลายอิเล็กโตรไลต์ชนิดใหม่ที่มีความเสถียรและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เป็นต้น งานวิจัยด้านการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยานาโนยุคใหม่จากขยะหรือสารไร้มูลค่าเพื่อประยุกต์ในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมียุคใหม่ รวมทั้งอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและยา นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่สามารถเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารที่มีมูลค่าสูง เช่น สารนำพาประจุในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน รวมถึงการเปลี่ยนให้เป็นพอลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติพิเศษขั้นสูงและสารดูดซับขั้นสูงที่มีรูพรุนพิเศษเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน รวมถึงการพัฒนาวัสดุโปร่งใสที่สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า (Luminescent solar concentrator: LSC) อีกด้วย

C. Biotechnology จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (BSE) ซึ่งมุ่งเน้นทางด้านการพัฒนาด้านเซลล์และเอนไซม์ในระดับสูงเพื่อใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการแพทย์ และการเพิ่มมูลค่าของขยะอินทรีย์ โดยมีงานวิจัย อาทิ การพัฒนางานวิจัยด้านชีววิทยาสังเคราะห์ เพื่อออกแบบและสร้างเทคโนโลยีชีวภาพในระดับเซลล์ขึ้นมาใหม่ รวมถึงวิศวกรรมโปรตีน (Protein Engineering) ทำการสร้างเอนไซม์ชนิดใหม่เพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นประโยชน์และก่อให้เกิดสารมีมูลค่าเพิ่ม เช่น ฮอร์โมนพืชภายใต้ชื่อ BioVis งานวิจัยด้านการใช้สารชีวภาพโดยเฉพาะเอนไซม์ที่มีความจำเพาะอย่างสูงต่อสารที่ต้องวิเคราะห์ เพื่อวัดปริมาณการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว โดยมุ่งเน้นการสร้างอุปกรณ์ต้นแบบและนวัตกรรมทางเคมีไฟฟ้าหรือการเปล่งแสงเพื่อการประยุกต์ใช้งานได้จริง รวมถึงการศึกษาโครงสร้างของเอนไซม์เฉพาะทางเพื่อสร้างผลิตผลที่มีมูลค่าสูง เช่น ความสามารถในการเพิ่มผลิตผล เช่นสร้างน้ำตาลที่เกิดได้ยากและมีราคาสูงสำหรับตลาดเคมีภัณฑ์ และการพัฒนาโครงสร้างของอนุพันธุ์ไคโตโอลิโกแซคคาร์ไรด์ที่มีฤทธิ์เป็นยาต้านจุลชีพใหม่ เป็นต้น

ท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูที่เว็บไซต์ของสถาบันวิทยสิริเมธีได้ที่ www.vistec.ac.th