ปริมาณการจราจรพุ่งวันละ 2.5 แสนคันต่อวัน สำหรับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) สายแรกของประเทศไทย หมายเลข 7 หรือ M7 กรุงเทพมหานคร-บ้านฉางระยะทางยาว149.300 กม. ขนาด 8 ช่องจราจร

โครงข่ายทางหลวงสำคัญที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯกับภาคตะวันออก แม้จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรคับคั่งบนทางหลวงหมายเลข 3 (ทล.3หรือถนนสุขุมวิท) และทล.34 (สายบางนา–ตราดหรือถนนเทพรัตน) แต่ปัจจุบันM7มีปัญหารถติดสะสมช่วงระหว่างศรีนครินทร์-สนามบินสุวรรณภูมิ

ล่าสุดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจการเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษ(ทางด่วน) สายศรีนครินทร์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18 กม.

เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการ ความเป็นมาเหตุผลความจำเป็นของการพัฒนา ตลอดจนแนวทางการศึกษาและขั้นตอนการศึกษาที่สำคัญ รวมทั้งนำเสนอแนวเส้นทางโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากประชาชน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน ไม่ได้คัดค้านโครงการ

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการฯกทพ. บอกว่า แต่เดิมกรมทางหลวง(ทล.) เป็นผู้ศึกษาความเหมาะสมโครงการมอเตอร์เวย์สายทางยกระดับศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (M7) แต่เมื่อปี 2565 กระทรวงคมนาคม มีนโยบายบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม จึงมอบหมายให้ กทพ. ดำเนินการแทนซึ่งจะนำผลการศึกษาของ ทล. มาประกอบการศึกษาความเหมาะสมฯ ของโครงการด้วย

เบื้องต้นจะปรับรูปแบบทางยกระดับซึ่งแต่เดิมมีเสาสองข้าง แยกไป-กลับ จะรวบเหลือเพียงเสาเดียวไว้ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง และลดจาก 6 ช่องจราจร (ไป 3 กลับ 3 ช่อง) เหลือ 4 ช่อง (ไป 2 กลับ 2 ช่อง) เพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณการจราจร

การปรับให้ทางด่วนรวบเหลือเพียงเสาเดียว ทำให้การใช้พื้นที่น้อยลง และเวนคืนที่ดินก็ลดลง ช่วยลดผลกระทบให้ประชาชน ขณะเดียวกันวงเงินลงทุนโครงการคาดว่าจะลดลงได้ประมาณ 30-40%จากเดิมประมาณ 2.5หมื่นล้าน เหลือประมาณ 1.6-1.7หมื่นล้านบาท

ทางด่วนจะใช้แนวเส้นทางเดิมของมอเตอร์เวย์ มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางด่วนศรีรัช ส่วน D บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ไปตามแนวมอเตอร์เวย์M7 แล้วแยกเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิบริเวณกม.13+000 และสิ้นสุดโครงการบริเวณ กม.18+500 เขตลาดกระบัง

แนวทางด่วนจะอยู่บริเวณร่องระบายน้ำระหว่างมอเตอร์เวย์ กับถนนคู่ขนานด้านข้าง ไม่สร้างตรงกลางมอเตอร์เวย์ เนื่องจากมีข้อจำกัดทางกายภายของพื้นที่ และกระทบการจราจรM7 อีกทั้งบริเวณนั้นยังมีระบบสาธารณูปโภคจำนวนมากด้วย เบื้องต้น กทพ. จะใช้เวลาศึกษาฯ 450 วัน หรือประมาณ 15 เดือน ให้แล้วเสร็จเดือน ก.ย.2567

คาดว่าจะใช้รูปแบบการลงทุนในลักษณะเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP) แต่จะขอดูผลศึกษาด้านผลตอบแทนทางการเงินอีกครั้ง หากขาดทุน หรือมีผลตอบแทนทางการเงินไม่มาก กทพ. อาจลงทุนสร้างเอง หรืออาจจะเจรจาเรื่องสัมปทานกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานทางด่วนศรีรัช ยืนยันว่า กทพ. จะดำเนินการทุกอย่างด้วยความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ผู้ว่าการฯกทพ.ย้ำ

เปิดไทม์ไลน์แผนดำเนินงาน คาดว่าปี 2568 จะขออนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และเสนอโครงการตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(PPP) พ.ศ.2562 เริ่มกระบวนการการคัดเลือกเอกชน ช่วงปี 2568-2570 และปี 2569-2571 จะจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เริ่มก่อสร้างปี2570 แล้วเสร็จและเปิดบริการประมาณปี 2573

จะช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดบนM7โดยเฉพาะจุดตัดศรีนครินทร์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิช่วงเวลาเร่งด่วนช่วยแยกรถเข้าสนามบินสุวรรณภูมิกับที่ใช้M7รวมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยต่อประชาชนมากขึ้น

ได้เวลายกกำลังมอเตอร์เวย์ด้วยทางด่วน”ศรีนครินทร์สนามบินสุวรรณภูมิ” คร่อมM7ให้รวดเร็วยิ่งขึ้นและเพิ่มความฉิวในการเดินทางมอเตอร์เวย์สู่ภาคตะวันออก

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์