ทั้งนี้ มิเล เตรียมรับตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของอาร์เจนตินาอย่างเป็นทางการ ต่อจากประธานาธิบดีอัลแบร์โต เฟอร์นันเดซ ในวันที่ 10 ธ.ค. ที่จะถึง โดยเฟอร์นันเดซซึ่งเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ไม่ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง แม้ยังคงมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีอาร์เจนตินารอบตัดครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ ที่อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงลิ่ว โดยอยู่ที่ระดับ 143% เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่มิเลเสนอแนวคิด การปิดธนาคารกลางอาร์เจนตินา ยกเลิกเงินเปโซอาร์เจนตินา แล้วใช้เงินดอลลาร์สหรัฐแทน แม้เจ้าตัวกล่าวว่า จะดำเนินการแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” แต่แผนการดังกล่าวทำให้มิเลได้รับการขนานนาม ว่า “โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งอาร์เจนตินา”

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าในช่วงเวลาแบบนี้ มิเลไม่มีเวลาเฉลิมฉลอง การเป็นประธานาธิบดีอาร์เจนตินา กำลังเป็นหนึ่งในงานทางการเมืองซึ่งยากลำบากที่สุดในโลก แม้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นภายในประเทศแห่งนี้ “ระบุได้ไม่ยาก” แต่การแก้ไข “ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น”

นายฆาบิเอร์ มิเล เข้าพบประธานาธิบดีอัลแบร์โต เฟอร์นันเดซ ผู้นำอาร์เจนตินา ที่ทำเนียบ ในกรุงบัวโนสไอเรส

มิเลให้คำมั่นว่า จะทำให้อาร์เจนตินาเลิกใช้เงินเปโซอาร์เจนตินา “อย่างเด็ดขาด” ภายในปี 2568 โดยชื่อว่า การหันไปใช้เงินดอลลาร์สหรัฐอย่างเต็มรูปแบบ จะเป็นการหยุดยั้ง “มะเร็งเงินเฟ้อ” แต่การจะใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินหลัก หมายความว่า อาร์เจนตินาต้องมีทุนสำรองมหาศาลเพื่อรองรับ ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( ไอเอ็มเอฟ ) กล่าวว่า เศรษฐกิจของอาร์เจนตินายังไม่มีเสถียรภาพขนาดนั้น

อนึ่ง ไอเอ็มเอฟปล่อยกู้ให้แก่อาร์เจนตินาแล้ว 22 ครั้ง ครั้งล่าสุดคิดเป็นวงเงินมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 1.54 ล้านล้านบาท ) เมื่อปี 2561

ประชาชนถือธนบัตร 100 ดอลลาร์สหรัฐ ที่มีใบหน้าของนายฆาบิเอร์ มิเล ว่าที่ผู้นำอาร์เจนตินา

ด้านนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า แนวคิดดังกล่าว “เป็นการวาดวิมานในอากาศ” หมายความว่า ทำได้ยากมากในทางปฏิบัติ และการที่มิเลยังไม่มีเครือข่ายทางการเมืองมากนัก การลงมติในสภาจึงมีแนวโน้มเป็นเรื่องยากด้วย

ในส่วนของการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยรัฐบาลอาร์เจนตินาขวาจัดภายใต้การของมิเล เป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเช่นกัน เมื่อว่าที่ผู้นำอาร์เจนตินากล่าวว่า รัฐบาลบัวโนสไอเรสไม่ขอร่วมมือกับ “ประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์” และมุ่งหวังยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ

ขณะที่นางไดอานา มอนดิโน นักเศรษฐศาสตร์ในทีมงานของมิเล ซึ่งสื่อท้องถิ่นของอาร์เจนตินาคาดการณ์ว่า จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรมว. การต่างประเทศคนต่อไป กล่าวว่า อาร์เจนตินาจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของบริกส์ และจะไม่มีขอมีปฏิสัมพันธ์กับจีนและบราซิล ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกหลักของบริกส์

ทั้งนี้ ที่ประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์ ที่สมาชิกตอนนี้ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ มีมติร่วมกัน เมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา เตรียมขยายจำนวนสมาชิกเพิ่มอีกอย่างน้อย 6 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา อิหร่าน เอธิโอเปีย อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ( ยูเออี ) โดยจะมีผลอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 ม.ค. 2567

Guardian News

ด้านนางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งมีความยินดีและความมุ่งมั่น ร่วมงานกับรัฐบาลชุดใหม่ของอาร์เจนตินา เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ และขยายขอบเขตความร่วมมือระดับทวิภาคี ให้มีเสถียรภาพและความมั่นคงในระยะยาว โดยเฉพาะในบริบทที่เกี่ยวข้องกับการค้าและเศรษฐกิจ

ดังนั้น “จะถือเป็นความผิดพลาดมหันต์” หากอาร์เจนตินายุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน หรือแม้แต่บราซิล ซึ่งเป็นประเทศมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาร์เจนตินาในยุคของประธานาธิบดีเมาริซิโอ มาครี ซึ่งบริหารประเทศระหว่างปี 2558-2562 “ตั้งคำถาม” ต่อความสัมพันธ์กับจีนเช่นกัน แต่ทั้งสองประเทศยังคงร่วมมือกันได้อย่างตลอดรอดฝั่ง เหล่านักวิเคราะห์จึงมองว่า ในระยะยาวมิเลน่าจะต้องใช้กลยุทธ์รักษาสมดุลกับรัฐบาลปักกิ่งมากกว่า เนื่องจากเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาพึ่งพิงจีนมากกว่าสหรัฐ

ส่วนจีนนั้น ในความเป็นจริงแล้ว การที่ใครจะเป็นผู้นำอาร์เจนตินา ไม่ว่าจะสำคัญมากไปกว่า การที่โครงการทั้งหมดของจีนในอาร์เจนตินาต้องเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP