การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกาศเปิดใช้อาคาร “สถานีรถไฟหัวหินใหม่ วันที่ 11 ธ.ค. นี้ รองรับการเพิ่มประสิทธิการเดินรถไฟทางคู่สายใต้และอำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ เนื่องจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ระยะที่ 1 ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทางรวม 421 กม. คืบหน้ากว่า 98%

โดยช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 84 กม. งานโยธาแล้วเสร็จ รฟท.ได้เปิดใช้งานทางคู่ช่วงสถานีเขาเต่า-ประจวบคีรีขันธ์ 78 กม. แล้ว และมีแผนเปิดใช้งานทางคู่ช่วงสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร รวม348 กม. เร็วๆ นี้ แต่ยังใช้ระบบอาณัติสัญญาณเดิมไปก่อนระหว่างรอติดตั้งระบบใหม่

พิกัด “สถานีรถไฟหัวหินใหม่” ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสถานีหลังเดิมห่างกันประมาณ 30-40 เมตร เป็นอาคาร 3 ชั้นขนาดใหญ่รวมชั้นใต้ดิน รฟท. ออกแบบอาคารสถานีใหม่สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมสถานีเดิมอย่างสวยงามใช้โทนสีแดงสลับสีครีมแนววินเทจ ด้านบนหลังคาโปร่งโล่ง มีรถไฟทางคู่ยกระดับสูงประมาณ 14 เมตร หลีกเลี่ยงทางตัดรถไฟในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน เพิ่มความปลอดภัยและทำให้การเดินรถไฟใช้เวลารวดเร็วขึ้น

สถานีรถไฟหัวหิน (ใหม่)

พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งลิฟต์ บันไดเลื่อน บันไดทางขึ้นทางลง บันไดหนีไฟ ห้องสุขา ห้องพักรอพระภิกษุสงฆ์ ห้องให้นมบุตร ห้องรับฝากสิ่งของ ห้องจำหน่ายตั๋ว ห้องเจ้าหน้าการรถไฟ รวมทั้งอาคารสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะข้ามมาใช้อาคารแห่งใหม่ทั้งชานชาลาที่ 1 และ 2 มีบันไดเลื่อนลงชั้นใต้ดินไปอาคารใหม่

สำหรับสถานีรถไฟหัวหินแห่งเดิมที่เป็นอาคารอนุรักษ์ ถูกขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร เปิดใช้มานาน 112 ปี การรถไฟฯ ยังคงบำรุงรักษา อนุรักษ์ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาถ่ายรูป เช็กอิน เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของการท่องเที่ยว อ.หัวหิน พร้อมเปิดกว้างให้หน่วยงานต่างๆ ติดต่อเข้าใช้สถานีเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และร่วมอนุรักษ์สถานีไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2566 รฟท. ยังปรับเวลาให้บริการรถไฟสายใต้ 20 ขบวนไปกลับให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางเพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดยหากเปิดใช้รถไฟทางคู่สายใต้ ระยะที่ 1 ตลอดเส้นทางจะช่วยลดระยะเวลาเดินทางของประชาชนลงได้ถึง 25-30% อาทิ กรุงเทพ-หัวหิน จากเดิมใช้เวลา 4 ชม. เหลือเพียง 3 ชม.หรือ ช่วงกรุงเทพ-ชุมพร จากเดิม 8 ชม. เหลือเพียง 6 ชม. เท่านั้น

ตารางเวลารถไฟสายใต้
ตารางเวลารถไฟสายใต้

รถไฟทางคู่สายใต้ เป็น 1 ใน 7 เส้นทางของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟสที่ 1 ระยะทางรวม 993 กม. วงเงินรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่ง 106 กม. วงเงิน 1.02 หมื่นล้านบาท 2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 187 กม. วงเงิน 2.43 หมื่นล้านบาท และ 3.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 84 กม. วงเงิน 5.80 พันล้านบาท

ที่เหลือ 4 เส้นทาง อยู่ระหว่างก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ งานล่าช้าเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้แก่ 1.ช่วงนครปฐม-หัวหิน 169 กม. วงเงิน1.57 หมื่นล้านบาท โดยสัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล 93 กม. คืบหน้า 97.21% ล่าช้า 2.79% และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน 76 กม. คืบหน้า 98.29% ล่าช้า 1.70% 2.ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 กม. วงเงิน1.24 หมื่นล้านบาท โดยสัญญาที่ 1 ช่วงประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย 88 กม. คืบหน้า 94.73% ล่าช้า 5.26% และสัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร 79 กม. คืบหน้า 97.56% ล่าช้า 2.43%

3.ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 148 กม. วงเงิน 1.86 หมื่นล้านบาท โดยสัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม 29 กม. คืบหน้า 88.51% ล่าช้า 11.49% และสัญญาที่ 2 ช่วงท่าแค-ปากน้ำโพ 116 กม. คืบหน้า 80.17% ล่าช้า 19.83% และ 4.ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 132 กม. วงเงิน 2.99 หมื่นล้านบาท โดยสัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร 58 กม. คืบหน้า 96.31% ล่าช้า 3.69% สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 69 กม. อยู่ระหว่างแก้ไขแบบก่อสร้าง และสัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ 3 อุโมงค์ คืบหน้า 98.18% ล่าช้า 1.81%

สถานีรถไฟหัวหิน (เก่า)

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ บอกว่า งานก่อสร้างรถไฟทางคู่ล่าช้าจากปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้ปรับแผนเปิดบริการมาหลายครั้ง จะเร่งงานให้แล้วเสร็จเพื่อเดินรถไฟบนทางคู่เฟสแรกให้ได้มากที่สุดในปี 2567 ระหว่างรอติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ ขณะเดียวกันกำลังเร่งจัดทำประกาศร่างขอบเขตงาน (ทีโออาร์) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะ (เฟส) ที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา

นับเป็นเส้นแรกของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เฟสที่ 2 จากทั้งหมด 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,483 กม. เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดประกวดราคา (ประมูล) ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ประมาณเดือน ม.ค. 2567 ได้ผู้ชนะประมูล และเริ่มก่อสร้างประมาณเดือน พ.ค. 2567 เปิดบริการประมาณปี 2570

รวมทั้งผลักดัน 6 เส้นทางที่เหลือให้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม. ภายในปี 2566-2567 โดยเร็วๆ นี้ จะเสนอเส้นทางช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45 กม. วงเงิน 6,661 ล้านบาท ให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. พิจารณา ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม และ ครม. พิจารณาต่อไป ลัดคิวเส้นทางนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อน จากเดิมถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ในอันดับสุดท้ายของแผนงาน ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเปิดการค้าชายแดนให้มากขึ้น

สถานีรถไฟหัวหิน (เก่า)

จากนั้นจะเสนอช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย 285 กม. วงเงิน 59,399 ล้านบาทและช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 308 กม. วงเงิน 36,683 ล้านบาท ในลำดับถัดไป ทั้ง 3 เส้นทางนี้ ต้องเร่งเช่นกันหากล่าช้ารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้วจะหมดอายุ

คาดว่าภายในปี 2567 จะเปิดประมูลทั้ง 3 เส้นทางนี้ได้ ส่วนอีก 3 เส้นทางช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 168 กม. วงเงิน 24,294 ล้านบาท ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา 321 กม. วงเงิน 57,375 ล้านบาท และช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ 189 กม. วงเงิน 56,837 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำรายงานอีไอเอ

สถานะล่าสุดของโครงการรถไฟทางคู่เฟส 1-2 รวม 14 เส้นทาง ระยะทาง 2,476 กม. วงเงินลงทุนเกือบ 4 แสนล้านบาทของกระทรวงคมนาคม ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ก่อกำเนิดในรัฐบาลยุค คสช. ได้รับการผลักดันสานต่อจากรัฐบาลใหม่ เพื่อให้การเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าทางรางได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ไม่ต้องรอสับหลีกรางเดี่ยว

—————————————-
ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์