นอกจากการดื่มนํ้าการกินผักผลไม้ที่มีปริมาณนํ้าสูง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย อีกส่วนสิ่งสำคัญรับมือกับอากาศร้อน ทั้งนี้นำเรื่องน่ารู้ ชวนสำรวจผักผลไม้ฤทธิ์เย็นปรับสร้างสมดุลคลายร้อน ให้ความสดชื่น โดย ดร.บุษราภรณ์ ธนสีลังกูร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้ว่า ช่วงหน้าร้อนอากาศที่ร้อนจัดร่างกายปรับตัวไม่ทันส่งผลให้ธาตุทั้งสี่เสียสมดุล โดยเฉพาะธาตุไฟจะกำเริบได้ง่าย และเมื่อธาตุไฟกำเริบจะส่งผลถึงธาตุอื่น ๆ เสียสมดุลตามกัน

“การดูแลสุขภาพดูแลธาตุไฟในร่างกาย ควบคุมอุณหภูมิในร่างกายไม่ให้สูงมากเกินไปจึงมีความสำคัญ โดยช่วงที่อากาศร้อนจัดควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ขณะเดียวกันควรดื่มนํ้าให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย”

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ ดร.บุษราภรณ์ กล่าวอีกว่า หน้าร้อนบรรยากาศภายนอกรอบตัวเราร้อน ซึ่งส่งผลกระทบกับร่างกายทำให้ไม่สบายตัว รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลียและอาจปวดศีรษะ วิงเวียนหน้ามืด หรือบางครั้งส่งผลกระทบกับผิวพรรณ ผิวแห้งเกิดผดผื่นขึ้นได้ง่ายกับสภาวะร่างกายที่เสียสมดุล โดยแต่ละบุคคลจะแตกต่างกัน โดยบางคนที่มีกิจกรรมอยู่ในที่ร้อน ๆ หรืออยู่กลางแดดกลางแจ้งนาน ๆ กลุ่มนี้จะมีภาวะเสี่ยงกับอาการที่กล่าว

ในหน้าร้อนอีกสิ่งที่จะช่วยปรับอุณหภูมิในร่างกายให้สมดุล เย็นลง ทำให้ธาตุต่าง ๆ สมดุลกัน สามารถนำ สมุนไพร ผักพื้นบ้าน ผลไม้ที่มีรสเย็นมีฤทธิ์ไปในทางเย็นหรือเย็นจืด นำมาปรับสมดุลร่างกายให้คืนสู่ภาวะปกติ โดยผักให้รสเย็นหรือฤทธิ์เย็น ผักที่ประกอบไปด้วยนํ้ามีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น ฟักเขียว บวบ มะรุม ใบเตย แตงกวา กระเจี๊ยบเขียว รางจืด ฯลฯ โดยผักเหล่านี้สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู

ผลไม้ก็มีไม่น้อย อย่างเช่น แตงโม แตงไทย พืชตระกูลแตงเกือบทั้งหมด หรือจะเป็น ชมพู่ แก้วมังกร หรือมังคุด ที่มักคู่กับการกินทุเรียน มังคุดช่วยปรับสมดุลร่างกายไม่ให้ร้อนจนเกินไป ผลไม้สามารถนำมาปรุงเป็นอาหาร เครื่องดื่มในช่วงหน้าร้อนได้หลากหลายเมนูอีกเช่นกัน อาทิ ไก่ตุ๋นฟักเขียว ผัดบวบใส่ไข่ หรือในกลุ่ม แกงจืด ทำได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแกงจืดมะระผักหวานบ้าน ซึ่งก็ให้รสเย็น หรือนำมาทำ แกงเลียง แต่ควรลดความเผ็ดร้อนของเครื่องเทศลง ทั้งนี้แกงเลียงอุดมไปด้วยผักไม่ว่าจะเป็นบวบ เห็ดฟาง ตำลึง ฯลฯ อีกเมนูดูแลสุขภาพในหน้าร้อนได้ดี”

สำหรับเครื่องดื่มนำมาปรุงเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร โดยที่เด่น ๆ เหมาะกับหน้าร้อน แก้กระหาย อย่างเช่น นํ้าใบเตย หรือปรุงนํ้าเก๊กฮวย นํ้าใบบัวบก นํ้าว่านหางจระเข้ หรือนํ้ารากบัว นํ้ากระเจี๊ยบแดง โดยกระเจี๊ยบแดง แม้ว่าจะมีรสเปรี้ยวแต่มีฤทธิ์จืดเย็น ช่วยขับปัสสาวะให้ความสดชื่นได้ดีในหน้าร้อน โดยสิ่งนี้เป็นภูมิปัญญาของอาหารไทย ของการแพทย์แผนไทย โดยศาสตร์การแพทย์แผนไทยจะเน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม

“ประเทศไทยเรามีพืชผักสมุนไพรตามฤดูกาล กินตามฤดูกาลจะช่วยปรับสมดุลร่างกายได้ดี อย่างเช่น ฤดูร้อน กินอาหารผักสมุนไพรที่มีรสจืดเย็น ฤดูฝน กินผักสมุนไพรรสเผ็ดร้อน ขณะที่ ฤดูหนาว กินผักสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยวขม ทั้งนี้อาหารไทยไม่ได้มีรสเดียว แต่ในมื้อนั้น ๆ อาจปรุงให้มีรสเด่นขึ้นมา อย่างเช่น แกงขี้เหล็ก ขี้เหล็กเป็นสมุนไพรรสเย็นขมช่วยลดความร้อน ช่วยระบายแก้ท้องผูก ทั้งช่วยให้นอนหลับสบาย เป็นอีกหนึ่งเมนูอาหารที่ปรับสร้างสมดุล ทั้งนี้การกินอาหารตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยยังมีเรื่องของเวลา อย่างเช่น หน้าร้อน ธาตุไฟจะกำเริบมากสุดในช่วงสิบโมงเช้าถึงบ่ายสอง ในช่วงเวลานั้นให้เน้นรสจืดเย็นไว้ก็จะช่วยให้ร่างกายไม่เสียสมดุลมาก เป็นต้น”

 ช่วงหน้าร้อนอีกตัวช่วยสำคัญอาจใช้เครื่องหอม ยาลมยาหอม ยาดม พิมเสนนํ้า ช่วยเพิ่มความสดชื่น โดยกลิ่นหอมของพืชสมุนไพรเป็นอโรมาเทอราปี หรือแม้แต่ ดินสอพอง ก็ช่วยลดคลายร้อน การเกิดผดผื่นคัน หรือใช้ว่านหางจระเข้ แตงกวา ฯลฯ ก็ช่วยลดความร้อน

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ ดร.บุษราภรณ์อธิบายเพิ่มถึงกลุ่มผักผลไม้เด่น ๆ ซึ่งมีอีกหลายชนิด อย่างเช่น ตำลึง ผักสมุนไพรริมรั้ว ผักพื้นบ้านที่สามารถเลือกหานำมาปรุงอาหารได้หลายเมนู ทั้งเป็นพืชที่ปลูกขึ้นก็ง่าย เป็นอีกหนึ่งผักที่มีรสจืดเย็น ช่วยลดความร้อน ทั้งมีไฟเบอร์สูง ช่วยระบาย

บวบ อีกหนึ่งผักที่คุ้นเคย โดยบวบมีรสจืดเย็น นอกจากช่วยลดความร้อนยังช่วยดับกระหาย ส่วน เตย นอกจากให้สีสันสวยยังมีกลิ่นหอม เป็นพืชที่ปลูกขึ้นง่ายสารพันประโยชน์ นอกจากให้รสเย็นยังเป็นสมุนไพรที่ช่วยบำรุงหัวใจแก้อ่อนเพลีย วิงเวียน แก้ร้อนในกระหายนํ้าโดยนำมาปรุงเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร หรือนำมาทำขนมไทยได้หลายเมนูเยอะมาก ขณะที่ รางจืด ก็ให้รสจืดเย็น นอกจากลดความร้อนในร่างกาย ยังช่วยขับปัสสาวะ ขับพิษออกจากร่างกายได้ดี

ขี้เหล็ก จากที่กล่าวมีรสขมเย็น เป็นสมุนไพรช่วยลดความร้อนและช่วยลดอาการไข้ ทั้งช่วยให้เจริญอาหาร นอนหลับขับถ่ายสะดวก ช่วยเรื่องระบาย และสำหรับ ย่านาง สมุนไพรรสเย็นที่ถือว่าเย็นมาก ๆ ช่วยลดไข้ บรรเทาอาการร้อนในแผลในปาก ฯลฯ เช่นเดียวกับ แตงกวา มีรสเย็นสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นต้มจืด หรือนำมาผัดกับไข่ หรือกินสดกับนํ้าพริก แตงกวามีคุณสมบัติเด่นนอกจากลดความร้อนในร่างกาย ยังลดความร้อนให้กับผิว ช่วยเรื่องผดผื่นคัน

นอกจากนี้ มะเขือเทศ ก็มีความเด่นในช่วงหน้าร้อน มะเขือเทศให้รสเปรี้ยวเย็น ช่วยขับเสมหะได้ดี ทั้งช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ฯลฯ อีกทั้งในฤดูกาลต่อเนื่องจากร้อนไปฝนในช่วงเดือนพฤษภาคมจะมี ผักหวาน เป็นอีกหนึ่งผักที่ช่วยลดความร้อนในร่างกายได้ดี และในช่วงหน้าร้อนจากที่กล่าวการดื่มนํ้าอย่างเพียงพอมีความจำเป็น ทั้งนี้จากปกติดื่ม 6-8 แก้ว หน้าร้อนอาจต้องเพิ่มขึ้นเป็น 8-10 แก้ว หรือบางกลุ่มที่มีกิจกรรม ทำงานกลางแจ้งอาจต้องเพิ่มขึ้นกว่าปกติ ดื่มนํ้าสะอาดหรืออาจเพิ่มเติมนํ้าสมุนไพรด้วยก็ได้

“นํ้าสมุนไพร ถ้าต้องการให้ได้ประโยชน์จากพืชสมุนไพร หากไม่ปรุงใด ๆ เพิ่มได้ก็ดีหรือหากต้องการความหวานอาจใส่เพียงเล็กน้อย หรือใส่นํ้าผึ้งมีรสหวานเพียงเล็กน้อย และในหน้าร้อน การสวมเสื้อผ้า การเลือกชุดที่ระบายอากาศได้ดีก็มีความสำคัญ และรวมถึงการขับถ่าย ต้องไม่ควรปล่อยให้ท้องผูกซึ่งจะส่งผลให้มีความร้อนในร่างกายเพิ่มขึ้น อีกทั้งการทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอยังคงมีความสำคัญ

การนำรสอาหารมาดูแลสุขภาพ ปรับสร้างสมดุลทางการแพทย์แผนไทยให้ความสำคัญเรื่อง รสยา โดยรสยาสามารถสื่อไปถึงสรรพคุณที่จะเกิดขึ้นกับสมุนไพรนั้น ๆ การกินพืชผักสมุนไพรยังช่วยสร้างเสริมภูมิต้านทาน โดยทางการแพทย์แผนไทยเน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดยหากร่างกายแข็งแรง อาการเจ็บป่วยก็จะไม่เกิดขึ้น และที่สำคัญแม้อากาศจะร้อนอบอ้าว แต่ใจต้องไม่ร้อนไปตามอากาศ โดย ดร.บุษราภรณ์นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษแนะนำหลักธรรมานามัย นำมาดูแลสุขภาพกายใจสมดุล

หลักธรรมานามัยประกอบด้วย กายานามัย จิตตานามัยและชีวิตานามัย ดูแลสุขภาพแบบองค์รวมครอบคลุมทุกกระบวนการบูรณาการร่วมกันตามศาสตร์แผนไทย ปรับสมดุลทางร่างกายและสิ่งแวดล้อมภายนอก เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สามารถนำมาปรับใช้

สร้างความสุขสมดุลในช่วงหน้าร้อน.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ