สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เสนอ“ที่สุดแห่งปี”ในมุมมองของตัวเองไปแล้ว ทั้งเหตุการณ์แห่งปี บุคคลแห่งปี นโยบายแห่งปี คำแห่งปี วันนี้เรามาว่ากันด้วยเรื่องแห่งปีกันต่อ อันที่ 4 “คำแห่งปี”ในครั้งที่แล้วมีคนบอกว่า คำว่า “ชายแทร้”มันไม่ mass แนวๆ ไม่ค่อยรู้จักเป็นวงกว้าง ซึ่งจริงๆ มันเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นการสร้างมาตรฐานจริยธรรมนะ กับการที่ได้เห็นนักการเมืองที่ถูกข้อหาล่วงละเมิดทางเพศถูกขับพ้นพรรค ซึ่งก่อนหน้านี้เท่าที่จำได้ไม่เคยปรากฏว่าเรื่องแบบนี้มีการไขข่าวให้ดัง ก็เป็นเช่นนี้ในยุคสิทธิมนุษยชนเสรีมากขึ้น

มีคนเสนอคำแห่งปีคือ “สลิ่ม” ซึ่งจะบอกว่า ไม่อยากให้คำนี้ได้เพราะไม่ได้ใช้กันเยอะในปีนี้แต่ใช้มานานแล้ว และปัจจุบันมีสลิ่มเฟสสองเฟสสามอะไรเขาก็ไม่รู้ .. ทำความเข้าใจยาก เขาบอกให้มัดรวมความเป็นสลิ่มไว้ด้วยนิยามแนวๆ บูชาตัวบุคคล เน้นวาทกรรมโจมตีฝั่งตรงข้าม ไร้เหตุผลในการถกเถียงคิดแต่ตัวเองถูก ด้อยค่าคนอื่น..ซึ่งพออ่านนิยามแนวๆ นี้ คนที่ยกตัวเองเป็น“นักประชาธิปไตย”บางคนก็นิสัยไม่ต่างจากสลิ่มเท่าไร แค่เอาเปลือกความเป็นประชาธิปไตยหุ้มเอาไว้ พอไปรวมตัวกันมากๆ เข้าก็เริ่ม..ไงดีล่ะ..แนวๆ หลอนๆ ว่าตัวเองดีเลิศกว่าคนอื่น

อีกคำแห่งปีที่มีผู้ส่งเข้าชิงคือ “ซอฟต์พาวเวอร์” ชนิดที่ว่าฟังกันจนเอียน อะไรๆ ก็ซอฟต์พาวเวอร์ รัฐบาลต้องจัดงบให้แต่ละหน่วยงานไปทำซอฟต์พาวเวอร์ ภายใต้คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นิยามศัพท์คำนี้ ออกจะแนวๆ “การใช้อะไรจูงใจ กระตุ้นให้มองวัฒนธรรมของเราเป็นเรื่องน่าอภิรมย์และตามรอยบริโภค” ซึ่ง“อะไร”ที่ว่า คือเครื่องมือของซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งสื่อ ทั้งตัวบุคคลที่เป็นไอดอล ..ส่วนตัววัฒนธรรม จะนำเสนอผ่านผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการ สถานที่ท่องเที่ยวอะไรก็ตามแต่ แต่เอาเป็นว่าต้องกระตุ้นให้ตรงนี้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้

อุ๊งอิ๊ง" เผย จ่อออก "พ.ร.บ.ซอฟท์พาวเวอร์"

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของซอฟต์พาวเวอร์ไทย คือ “เรายังติดขายภาพวัฒนธรรมชาววังอยู่หรือไม่ ?” ซึ่งซอฟต์พาวเวอร์มันต้องมีความเป็น pop culture ระดับหนึ่งที่สามารถหาบริโภคได้ทั่วไป ในราคาที่เข้าถึงได้ไม่ยาก หรือมีหลายเกรด อย่างญี่ปุ่น ขนมมันก็แป้งห่อถั่วแดงบดซะหลายอย่าง แต่เขาสามารถปรับปรุงให้กลายเป็นขนมแบบหาซื้อได้ทั่วไป หรือเป็นขนมเกรดพรีเมี่ยมก็ได้ .. พอคิดถึงซอฟต์พาวเวอร์ไทยก็ต้องมองในประเด็นความ mass ด้วย ไม่ใช่คิดแต่เรื่องไทยวิจิตร ไทยทาทองซึ่งมันแพง ให้แต่งชุดไทยรัดเครื่องรำเดินเที่ยวกลางคืนเผลอๆ คนนึกว่าผี เราดันเอาชุดไทยไปผูกกับผีซะอย่างนั้น  

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ก็เพิ่งตั้งไข่ เขาก็พยายามจะทำอะไรที่เป็นประเพณีประจำเดือนให้มันได้ใช้เวลามากกว่าวันที่เดือนนั้นมีประเพณี เช่น ที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะทำสงกรานต์เป็นเฟสติวัลทั้งเดือนไม่ใช่แค่วันที่ 13-15 เม.ย. ก็โดนเอาไปเหน็บแนมเย้ยหยันไยไพกันใหญ่ แนวๆ ใครจะบ้าสาดน้ำทั้งเดือน คิดถึงภัยแล้งหรือไม่ ..ซึ่งมันก็ไม่ใช่ขนาดนั้น แค่ให้มีกิจกรรมที่เป็น “กลิ่นอายของสงกรานต์” ได้ตลอดทั้งเดือน อาจจัดที่สถานบันเทิง การแต่งตัว อะไรอย่างนี้ ..ทีคริสต์มาสนี่เขาก็ไม่ได้ฉลองแค่วันที่ 25 ธ.ค. ล่อไปเกือบทั้งเดือน ธ.ค.ก็มี  แล้วทำไมเราจะไม่ลองคิดอะไรให้มันเป็นเฟสติวัลในไทยที่มีกระแสต่อเนื่องกันบ้าง

เห็นทีว่าคำแห่งปีน่าจะพอก่อน เรามาเข้าถึงแห่งปีข้อที่ 5 กฎหมายแห่งปี คือ “ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ….หรือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หมายถึง เพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสและได้สิทธิ์เท่าการสมรสชายหญิงทุกประการ ซึ่งได้ผ่านวาระแรกรอบสองไปแล้วเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา จริงๆ ผ่านวาระแรกรอบแรกตั้งแต่สมัยรัฐบาลประยุทธ์ แต่บังเอิญเปิดสภาแล้วจัดตั้งรัฐบาลไม่ทันห้วงเวลาตามกฎหมายกำหนดว่า จะต้องเอากฎหมายค้างสภาขึ้นมายืนยันว่าจะพิจารณาวาระสองต่อหรือไม่ ก็เลยเข้าวาระแรกใหม่อีกรอบ คราวนี้รับหลักการไปสี่ร่าง เอาร่างของรัฐบาลเป็นหลัก แล้วปรับปรุงตามข้อเสนอของอีกสามร่างให้สิทธิการสมรสเพศเดียวกันสมบูรณ์ที่สุด

สิทธิเดียวกัน ทำไมต้องมีกฎหมายแยกสำหรับ LGBT? คำถามต่อ 'ร่างพรบ.คู่ชีวิต'

ที่ต้องจับตามากคือ “สิทธิ์กรณีคู่สมรสรับราชการ” อย่างฝั่งหนึ่งเป็นข้าราชการ อีกฝั่งไม่ใช่ ฝั่งที่ไม่ใช่สามารถใช้สิทธิ์ราชการฝั่งของคู่สมรสได้หรือไม่ เช่น สิทธิ์รักษาพยาบาล ซึ่งคาดว่ารัฐบาลคงจะพยายามเร่งให้เสร็จวาระสามก่อน 14ก.พ.เพื่อให้มีการจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกันจริงๆ ในวันแห่งความรัก แปรญัตติก็ใช้เวลาแค่ 15 วัน ..ที่ยกให้เป็นกฎหมายแห่งปี เพราะ “ตั้งแต่เปิดสภามา เพิ่งมีกฎหมายผ่านแค่ไม่กี่ฉบับ” เดือน ธ.ค.นี่คือเปิดสมัยประชุมสภาครั้งที่ 2 แล้ว ..ส่วนครั้งแรกไม่มีกฎหมายพิจารณา พอเดือน  ธ.ค. กฎหมายฉบับนี้ผ่าน และกฎหมายติดดาบ ป.ป.ท.ผ่านวาระแรก ..และความที่มันควรได้เป็นกฎหมายแห่งปี เพราะกระบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้ให้ได้กฎหมายมันยาวนาน ..ยืนยันถึงหลักการความเท่าเทียมกัน และเป็นกฎหมายที่แสดงถึงความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิมนุษยชนของเรา ยิ่งถ้าผ่านแบบได้สิทธิ์สมรสครั้งเดียวครบ ไม่ต้องค่อยๆ แก้กฎหมายเพิ่มสิทธิ์ ยิ่งแสดงให้เห็นถึง “ความเปิดกว้าง”ของสังคมไทย ซึ่งมีซอฟต์พาวเวอร์คือซีรีย์วาย หรือแนวบอยเลิฟเป็นตัวขายสำคัญ ..แนวๆ ขายวายแต่กีดกันสิทธิ์ มันดูไม่จริงใจ

อย่างไรก็ตาม มีเสียงกระซิบมาว่า กฎหมายแห่งปีที่อยากได้ คือ “กฎหมายถอนใบประกอบวิชาชีพแพทย์ กรณีช่วยเหลือผู้ต้องหาไม่ให้ขึ้นศาล”  เขาว่าเห็นบ่อยแล้วกับกรณีที่พอถึงวันศาลนัดยื่นใบลาป่วยๆๆๆ เลื่อนไปเรื่อยๆ ประวิงเวลาคดีไม่จบเสียที สิ่งที่รายนี้ติดใจมากคือกรณีคดี “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” ชนตำรวจตายตั้งแต่สมัยรัฐบาลปู เลื่อนขึ้นศาลกันได้เป็นว่าเล่นเพราะพอจะขึ้นศาลทีก็ป่วยที สุดท้ายหายวับออกนอกประเทศ …เป็นคดีที่ชวนขันแบบตลกร้ายที่สุดเพราะคนขับรถชนตำรวจตายไม่มีปัญญาเอาผิด แต่คนเกี่ยวข้องกับการทำคดีถูกเอาผิดเป็นหางว่าว ..อาจออกกฎหมายประเภท “ต้องให้แพทย์ที่ศาลแต่งตั้งร่วมรับรองใบรับรองแพทย์ด้วย” ไม่ใช่แค่ของผู้ต้องหา ..เราคาดหวังกระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็วก็อย่าให้มีการใช้หมอมาช่วยตอแหลหนีขึ้นศาล ประวิงเวลาไปเรื่อย

6.วุ่นวายแห่งปี จริงๆ ก็ต้องยกให้เหตุการณ์จัดตั้งรัฐบาล แต่ได้เป็นเหตุการณ์แห่งปีไปแล้ว มองไปมองมาเหตุการณ์ไหนดี ? ก็ได้ข้อสรุปว่า “เหตุการณ์การเลือก กก.บห.ชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์” ที่สองรอบแรกเหมือนจะหาหัวไม่เจอว่า เอาใครมานำดี แล้วก็เกิดเหตุตอนโหวตองค์ประชุมล่ม ..คุ้นๆ ว่า โหวตครั้งแรกล่มเพราะองค์ประชุดไปไหนตอนบ่ายก็ไม่รู้…แบบว่านี่หรือคนทำพรรคการเมืองเก่าแก่ “ประชุมมาเลือกหัวหน้าพรรคแต่ไม่อยู่เลือกเพราะจะไปทำภารกิจอื่น” มันเหมือนไม่รู้หน้าที่ตัวเอง ..ครั้งต่อมา องค์ประชุมล่มครั้งที่สองไม่รู้ด้วยสาเหตุใดอีก น่าจะไม่ยอมแก้ข้อบังคับการประชุมพรรค ที่ สส.มีสิทธิ์ในการโหวต 70% สมาชิกอื่น 30% เลยมีคนน่าจะไม่พอใจไม่อยู่เป็นองค์ประชุมโหวต จนทำให้ “เสี่ยต่อ” นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคขณะนั้นควันออกหู

“เสี่ยต่อออกมาด่าปาวๆ ว่า รู้ไหมประชุมแต่ละครั้งมันใช้เงินมากขนาดไหน” และก็จำไม่ใคร่จะได้ว่าเสี่ยต่อบอกครั้งต่อไปให้ไปนั่งโหวตกันที่สนามหญ้าหรือศาลาวัดสักอย่าง ..ในพรรคก็มีคลื่นใต้น้ำกันอยู่  เพราะมีข่าวลือตลอดว่า “ผู้มีอิทธิพลในพรรค” ที่มีเสียง สส.ในมือมากที่สุด เขาอยากไปร่วมรัฐบาล เพื่อสร้างผลงาน  แต่มัน “ขัดกับอุดมการณ์เดิมของคนเก่าแก่พรรค ที่ไม่เอาทักษิณ” ..ทีนี้ มันก็อารมณ์แบบสองขั้วอำนาจกลายๆ คนที่เป็นคนรุ่นใหม่หวังอยากเข้ามาเปลี่ยนแปลงพรรคอย่าง “มาดามเดียร์” น.ส.วทันยา บุนนาค ก็ถูกสกัดดาวรุ่งไม่รับรองให้ลงสมัครหัวหน้าพรรค คนที่ดูอยู่ก็เห็นอารมณ์ประมาณ “คนเก่าคนแก่เขาจะงัดข้อกัน” และสุดท้าย เสี่ยต่อก็ได้เป็นหัวหน้าพรรค

ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์ประกาศเป็นฝ่ายค้าน แต่ดูเหมือนบางคนในพรรคนี่.. ก็ไม่ค่อยทำตัวเป็นฝ่ายค้านสักเท่าไร ไปทุบพรรคก้าวไกลเสียหลายเรื่อง ก็ไม่รู้ว่าจะทำงานเป็นเนื้อเดียวกันได้ดีมากน้อยแค่ไหน หลังปีใหม่คงเห็นตอนอภิปรายงบประมาณฯ อภิปราย พ.ร.บ.เงินกู้มาทำดิจิทัลวอลเลต อภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ภาพจะชัดขึ้นจากการยกมือไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ ( ตอนนี้รู้สึกว่ารัฐมนตรีที่น่าจะโดนหมายหัวไว้แล้วคือนายกฯ เรื่องดิจิทัลวอลเลตเรื่องนึง และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ก็เรื่องนายทักษิณ ชินวัตร ที่ป่วยปริศนาอยู่ 120 วันแล้ว )

มีคนว่า “พรรคประชาธิปัตย์ควรรักษาเกียรติโดยการเดินเกมเป็นฝ่ายค้านร่วมกับก้าวไกลแบบเต็มตัว” ไม่ใช่เหลี่ยมทุกดอกบอกเพื่อนกัน คือเปิดหน้าเป็นฝ่ายค้าน ลับหลังไปอวยรัฐบาลแถมจะทุบพรรคก้าวไกลอีก เพราะตอนนี้ประชาธิปัตย์ไม่ใช่ตัวแปรสำคัญทางการเมืองแล้ว ..ภาพการแบ่งขั้วใหม่ ขั้วอนุรักษ์นิยมคือฝั่งรัฐบาล และขั้วเสรีนิยมคือพรรคก้าวไกล ถ้าประชาธิปัตย์สามารถทำงานสอดรับเป็นอันดีกับพรรคก้าวไกลได้ ในอนาคตก็อาจมีโอกาสร่วมรัฐบาลกันได้ ..เพราะตอนนี้เรายังประเมินไม่ได้หรอกว่า กระแส “ตระบัดสัตย์”ที่กล่าวหาเพื่อไทยจะถูกหยิบยกมาใช้ทางการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้งอีกหรือไม่ และไม่รู้ว่า รัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ เผลอๆ นายกฯ ต้องลาออก ยุบสภาหาก พ.ร.บ.เงินกู้ไม่ผ่าน เนื่องจากเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการที่รัฐสภาไม่ไว้ใจกฎหมายการเงิน

 7.วาระพายเรือในอ่างแห่งปี  ยกให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ คือไม่ทราบว่า พอหมดบทเฉพาะกาลปี 67 แล้วจะมีปัญหาอะไรกันมาก นอกจากที่มาของรัฐธรรมนูญ แต่มีมายาคติกำกับอยู่ว่า “รัฐธรรมนูญ 60 นี่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการเขียน ดังนั้นเราต้องร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนขึ้นใช้”  ก็ศึกษาโน่นนี่กันวุ่นวาย เดี๋ยวจะต้องมีค่าทำประชามติ ค่าเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) อีก ฝั่งหนึ่งที่ท่องคาถาคนเท่ากันก็ให้เลือกตั้งให้หมด อีกฝั่งหนึ่งที่ท่องคาถาต้องมีความหลากหลายและคนมีความรู้ ก็บอกเลือกตั้งน่ะได้ส่วนหนึ่ง แต่ต้องมีตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ คนพิการ ความหลากหลายทางเพศ คนชายขอบอื่นๆ เข้าไปร่วมด้วย รวมถึงต้องมีนักวิชาการที่สามารถยกร่างกฎหมายเป็นเข้าไปร่วมด้วย กระบวนการก็แนวๆ ให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกฎหมายนี่เป็นกรรมาธิการร่าง แล้วให้ ส.ส.ร.รับรองชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะไปทำประชามติให้รับรองรัฐธรรมนูญอีก ก็ไม่รู้ว่ากว่าจะได้ฉบับใหม่หมดเงินไปกี่พันล้าน

มติ กมธ.สภา เคาะแก้ มาตรา 256 เปิดทาง! แก้รัฐธรรมนูญ แล้ว - ข่าวสด

และก็ไม่รู้สรุปสุดท้ายแก้เพื่อผลประโยชน์นักการเมืองหรือไม่ อาทิ เอื้อระบบเลือกตั้งให้การเข้าสู่อำนาจทำได้ง่ายขึ้น จัดการการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งถ้าเป็นการจัดการให้ตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมืองยากก็ไม่อยากสนับสนุน แต่สนับสนุนเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลที่ต้องไม่มีองค์กรไหนเป็นซูเปอร์องค์กรที่แตะไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้ และประชาชนรู้ช่องทางตรวจสอบองค์กรนั้นอย่างชัดเจนไม่ใช่ไปเขียนไว้จนงงว่าต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง

พูดแต่เรื่องปัญหา ความแตกแยก ยังไม่ได้แตะเรื่องความหวัง ขอติดไว้อาทิตย์หน้า

………………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”