หากเอ่ยถึงเด็กและการหายตัวไป คดีน้องชมพู่ เด็กน้อยวัย 3 ขวบ ที่หายตัวจากบ้านตั้งแต่เช้าวันที่ 11 ..2563 ในพื้นที่บ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ก่อนพบร่างไร้วิญญาณบนภูเหล็กไฟ เป็นหนึ่งคดีดังที่ต้องนึกถึง ขณะเดียวกันนับเป็นเรื่องน่าเสียดายสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ กลับถูกบดบังด้วย“ดราม่า”

จากที่ควร“โฟกัส”ล้อมคอกปัญหา กลายเป็น“ปลุกปั้น”ผู้ต้องสงสัยให้กลายเป็น“ดาวค้างฟ้า” จนเกิดคำถามตามมา…แล้วสังคมได้อะไรจากความสูญเสียเพราะเวลาต่อมาก็ยังปรากฎการหายตัวไปของเด็กๆเป็นระยะ โดยเฉพาะ“เด็กเล็ก”ที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

ยกตัวอย่าง คดีดังปี 2566น้องต่อ” เด็กวัย 8 เดือน หายตัวจากบ้านในพื้นที่อ.บางเลน จ.นครปฐม ผ่านไป 22 วัน ความจริงถูกเผย แม่อ้างว่าทำลูกหล่นแล้วเสียชีวิต กลัวความผิดจึงโยนทิ้งน้ำ แต่ทุกวันนี้ร่างเด็กน้อยยังไม่ถูกค้นพบ

หรือเดือน ส.ค.2566เกิดเหตุคนร้ายลอบลักพาทารกวัยแรกเกิดจากรพ.บางเลน จ.นครปฐม โชคดีติดตามตัวคืนอ้อมอกแม่ได้ ถัดไปไม่กี่เดือนเกิดขึ้นอีกเหตุ ต.ค.2566 ที่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ มีเหตุชายลักพาตัว“น้องแบงค์”เด็กชายวัย 8 ขวบ ไปเร่ร่อนขอทาน ก่อนพลเมืองดีตามชี้เป้า โดยคนร้ายมีประวัติเคยลักพาตัวเด็กมาก่อน

ทีมข่าวอาชญากรรม”สอบถามภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้นนี้กับ นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา สะท้อนภาพคนหายโดยเฉพาะกลุ่ม“เด็ก”ว่า หากย้อนกลับไป 10 ปีก่อน สถานการณ์เด็กหายจะสูงสุด ส่วนปัจจุบันกลุ่ม“สูงวัย”มีมากกว่ากลุ่มอื่น แต่การหายของ“เด็ก”ก็ยังน่าเป็นห่วง เฉพาะปี 2565 มีสถิติรับแจ้งคนหายในอายุ 0-18 ปี จำนวน 252 ราย ส่วนปี 2566 ปี ตัวเลขขยับสูงขึ้นเป็น 296 ราย

สาเหตุการหายมีหลายรูปแบบ แต่หากเจาะจงไปที่กลุ่ม“เด็กเล็ก”จะแบ่งได้เป็น การถูกลักพาตัว รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะข้อหลังชี้แจงว่าอาจเป็นกรณีเด็กออกมาวิ่งเล่นตามลำพังแล้วเกิดอุบัติเหตุ เช่น จมน้ำ หรือตกลงไปในท่อน้ำแล้วเสียชีวิตโดยไม่มีใครทราบ

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังที่เกิดขึ้นกับ“น้องชมพู่” ผ่านไปกว่า 3 ปี มีทิศทางปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ในเรื่องนี้ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มองว่าสำหรับสังคมไทยเปรียบเหมือน“ไฟไหม้ฟาง” เนื่องจากผู้คนมักจับจ้องมองคดีนั้นๆในแง่มุมของความ“ดราม่า” โดยไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรือระบบการจัดการปัญหา

หลังคดีน้องชมพู่ก็ยังมีกรณีเด็กหายรวมถึงมีเด็กถูกลักพาตัวที่มาแจ้งกับทางมูลนิธิกระจกเงาอีกหลายราย ที่สำคัญยังพบว่าไม่ได้มีกลไกที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือประสิทธิภาพเพิ่มเติมออกมารองรับ พร้อมย้ำบทเรียนคดีน้องชมพู่ไม่ได้สะท้อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างการแก้ไขปัญหาเด็กหายเลย เห็นได้จากช่วงต้นปี 2566ก็มีกรณี“น้องต่อ”ซึ่งมีการเล่าเรื่องราวดราม่ากันอีก รวมไปถึงกรณีการลักพาตัว“น้องแบงค์”ไปขอทาน

โดยเฉพาะรายหลังผู้กระทำความผิดเคยลักพาตัวเด็กมาแล้วในพื้นที่เดิม นั่นหมายความว่าขาดการเฝ้าระวังและติดตามผู้กระทำความผิดหรือไม่ เมื่อเกิดกรณีเด็กหายก็เกิดเป็นไฟไหม้ฟาง เกิดเป็นข่าวแล้วก็จบไป แล้วฟางเส้นใหม่ก็คือเด็กหายรายใหม่ที่เกิดขึ้นอีก”

หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย ชี้ว่าที่ผ่านมาเคยเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)จัดตั้งหน่วยงานตรง เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการเกี่ยวกับเรื่องคนหาย โดยเฉพาะกรณีเด็กหาย ยกตัวอย่าง กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ แต่ข้อจำกัดคือการรับทำคดีแค่ในพื้นที่กทม. แต่ระดับภูมิภาคยังไม่มี

ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุคนหายก็ต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ตำรวจท้องที่ ซึ่งมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ทั้งกำลังคนและงบประมาณที่อาจไม่เพียงพอ รวมถึงปริมาณงานที่ตำรวจท้องที่ต้องทำในแต่ละวันที่มากอยู่แล้ว

เราคาดหวังว่า หากจะเอาจริงเอาจังกับกรณีคนหาย หรือเด็กหาย ตำรวจควรมีหน่วยงานกลางขึ้นมาโดยตรง” หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย ย้ำข้อเสนอทิ้งท้าย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]