จะว่าไป รัฐบาลเสี่ยนิด เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง เพิ่งมาทำงานได้ไม่ถึงปี แต่ก็มี “แรงบีบ” จากหลายเรื่อง อันดับแรก คือการที่ไม่ยอมจับมือพรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาล ไม่เอาขั้ว คสช. ทำให้ ข้อหาตระบัดสัตย์ ยังถูกกองเชียร์ฝั่งส้มพูดถึงอยู่ไม่รู้แล้ว ต่อมาก็เรื่อง “นักโทษเทวดา” ( ซึ่งไม่ใช่คำเหน็บแนมแต่อย่างใด เพราะมีคนเคยไปคอมเมนท์ในไอจี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถามว่านายทักษิณเป็นคนหรือเทวดา อุ๊งอิ๊งตอบว่าเทวดา แล้วมาแก้ต่างทีหลังว่าพ่อเป็นเทวดาของลูก แต่สายไปเสียแล้วเมื่อมันกลายเป็นการใช้ด่า “ยุติธรรมสองมาตรฐาน” หนึ่งในไทย )

มีคนเหน็บแนมแกมประชดว่า ประเทศไทยนี่สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลสุดดีเริ่ด ป่วยโรคคนแก่ธรรมดาๆ มีอาการอื่นบ้างคือเคยติดโควิด ดูแลประคบประหงมเสียยิ่งกว่าไข่ในหิน โรงพยาบาลราชทัณฑ์เอาไม่อยู่ก็ต้องไปนอนรักษาตัวโรงพยาบาลตำรวจ นานแค่ไหนก็ได้ แต่เดี๋ยวสงสัยวันที่ 20 ก.พ. เข้าระยะเวลาพักโทษได้คงหายเองแหละ there can be miracle , when you believe ..แต่ก็ไม่รู้นะว่าจะได้ออกมาเห็นเดือนเห็นตะวันบ้างไหม เพราะถ้าป่วยร่อแร่นอนโรงพยาบาลครึ่งปีจริงๆ สภาพตอนออกมาคงออกมาแบบผัก .. ถ้าแข็งแรงดีอาจเป็นพลเรือนที่มีม็อบไล่บ่อยที่สุดก็ได้

มีฝ่ายพรรคเพื่อไทยบอกว่า ให้วิจารณ์เรื่องทักษิณด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิผู้ป่วยและเกณฑ์การพักโทษ..ทางนี้ก็ได้แต่..อ๋อเหรอคะ.. ถามว่า ถ้าป่วยหนักแล้วจะได้รับสิทธิการรักษาแบบนอนโรงพยาบาลห้องเดี่ยว ตรวจรักษาละเอียดยิบแบบนี้หรือเปล่า ? บางคนแถวนี้ป่วยไม่มีค่ารักษาจะหาเรื่องไปป่วยในตะรางบ้าง ..แต่ไม่ใช่เทวดาอ่ะเนาะ เขาคงโยนพาราเซตามอลให้สองเม็ด ปวดท้องเหรอ เอ้า ยาธาตุน้ำแดง

ต่อมา ก็เป็นที่น่าจับตาเมกะโปรเจคขนาดใหญ่ของรัฐบาล คือ แลนด์บริดจ์ อารมณ์ประมาณเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิค โดยสร้างท่าเรือที่ระนอง และชุมพร เรือที่ขนสินค้ามาก็ใช้แลนด์บริดจ์เพื่อลดระยะเวลาได้ ไม่ต้องไปอ้อมผ่านสิงคโปร์ เพียงแต่ต้องขนสินค้าทางรางไปชุมพรด้วย ..แต่โดนสงสัยเรื่องความคุ้มทุนมากมาย เพราะต้องมีการขนถ่ายสินค้า ไม่ใช่วิ่งเรือยาว แล้วร่นระยะเวลาได้กี่วัน ?  ที่เสี่ยนิดบอกว่า ต่างประเทศอย่างอินเดีย สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์สนใจจะมาดูพื้นที่ จะมีโอกาสลงทุนจริงเท่าไร  โครงการนี้ดูจะเป็นโครงการร่วมภาครัฐและเอกชน รัฐมีหน้าที่แค่เวนคืนที่ จ่ายค่าชดเชย และมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สนับสนุนโครงการรอบด้านที่เป็นกิจการของคนไทย

ความคุ้มทุนนี่ถูกตั้งคำถามมากมาย เพราะการอ้อมสิงคโปร์ มันไม่ใช่ระยะทางไกล “อย่างมีนัยยะสำคัญ” ขนาดที่ต้องขุดคลองเชื่อม อย่างคลองสุเอซ นี่คือเชื่อมมหาสมุทรอินเดีย เข้าทะเลแดง เข้าทะเลเมดิเตอเรเนียนได้เลย โดยไม่ต้องไปอ้อมแอฟริกาทั้งทวีป ส่วนคลองปานามา ก็เป็นคลองตัดข้ามมหาสมุทร ที่ทำให้การขนส่งไม่ต้องไปอ้อมทวีปอเมริกาใต้ ..และคำว่า ช่องแคบมะละกาคับแคบ ..แถมสิงคโปร์ก็มีความพร้อมกว่า เขาจะขยายท่าเรืออีกด้วย

คือการโร้ดโชว์โครงการนี้ สิ่งที่นายทุนต่างชาติและคนไทยอยากรู้ชัดๆ เลยคือ “ทำแล้วได้ผลประโยชน์คุ้มค่าแค่ไหน” “ใช้เวลานานแค่ไหนจะมาถึงจุดคุ้มทุน” “ช่วยสร้างงานในพื้นที่ได้มากแค่ไหน” และก็จะมีกลุ่มออกมาพูดถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกส่วนหนึ่ง แต่คิดว่ากลุ่มที่ใหญ่กว่าน่าจะเป็นพวกถามเรื่องค่าเวนคืนที่ดิน ซึ่งคงมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากจากการตัดเส้นทาง

เห็นมี สว. นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ  อภิปรายว่า  ความเห็นของตนจากการพิจารณาข้อมูลที่ได้จากกระทรวงคมนาคม ในประเด็นปัจจัยความสำเร็จของโครงการแลนด์บริดจ์ 4 ด้าน คือ

สนข.อัพเดท 'แลนด์บริดจ์' ลุยเปิดประมูลปี 68 ลงทุน 1 ล้านล้านบาท สัมปทาน 50  ปี

1.ระยะเวลาที่สั้นลง ตนเห็นว่าแม้สภาพทางภูมิศาสตร์ประเทศไทยจะมีระยะทางที่สั้นลงเมื่อเทียบกับช่องแคบมะละกา 1,000 กิโลเมตร  สามารถร่นระยะเวลาเดินเรือเหลือเพียง 2-3วัน แต่ของไทยไม่สามารถเดินเรือผ่านโดยตรงได้เพราะไม่ได้ขุดคลองไทย ดังนั้นต้องใช้การขนถ่ายสินค้า จากเรือขนาดใหญ่ 2-3หมื่นทียู ซึ่งจะใช้เวลาขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 3 วัน จากนั้นต้องใช้การขนส่งทางรถ และรถไฟ1วัน จากท่าเรือ จ.ระนองไป จ.ชุมพร จากนั้นเมื่อถึงท่าเรือต้องขนถ่ายสินค้าลงเรือ อีก 3วัน ซึ่งรวมเวลา7วัน ดังนั้นที่กระทรวงคมนาคมแจ้งว่าจะสั้นลงนั้นจริงหรือไม่ เพราะต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นถึง5วัน

2. ค่าใช้จ่าย เมื่อมีการขนถ่ายสินค้าจากเรือไปการขนส่งอื่น รวม 6 ครั้ง ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย ประมาณหมื่นบาท ไม่ทราบว่าประหยัดค่าใช้จ่ายจริงหรือไม่

3.มีอุตสาหกรรมหลังท่า หรืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดย กมธ.แลนด์บริดจ์ของสภาฯ ศึกษาและระบุว่าโครงการจะสำเร็จได้ เมื่อมีอุตสาหกรรมหลังท่า หรือ เอสอีซี  ต้องพิจารณาจุดแข็งของพื้นที่ที่นำไปสู่ความสำเร็จ เพราะเมื่อเทียบกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น  ยังไม่พบความสำเร็จ ขณะที่โครงการอีอีซีที่มีโครงการปิโตรเคมี แต่จนถึงวันนี้ยังไม่สำเร็จเท่าที่ควร

4. ผู้ร่วมลงทุน จากที่มีมติ ครม. ให้ทำโรดโชว์ในต่างประเทศ  นายกฯ  เดินทางไปแล้ว 4 ประเทศ ขอเรียกร้องให้นายกฯ  ชี้แจงว่ามีนักลงทุนหรือประเทศใดสนใจหรือไม่

สำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่เคยเป็นข่าวสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ประกอบด้วย 

1. พื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง เป็นระเบียงฯ ภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor: NEC – Creative LANNA เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน 

2. พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย เป็นระเบียงฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor: NeEC – Bioeconomy เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต

3. พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นระเบียงฯ ภาคกลาง – ตะวันตก หรือ Central – Western Economic Corridor: CWEC เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำ ด้านอุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ กทม. และพื้นที่โดยรอบ และ EEC 

4. พื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นระเบียงฯ ภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor: SEC เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ ..ดูๆ แล้ว แลนด์บริดจ์ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ของรัฐบาลเศรษฐา ซึ่งอาจรวมถึงภูเก็ตด้วย

เรื่องนี้ถูกตั้งแง่ไว้มากมายหลายประเด็น ซึ่งเอาเข้าจริง จะค้านไปทุกเรื่องประเทศก็อยู่กันไม่มีความสุข ทำอะไรก็ติดขัดไปหมด เช่น จะออกกฎหมายลดอายุเยาวชนที่ต้องรับโทษเท่าผู้ใหญ่ ก็จะมีพวกนักสิทธิเด็กออกมาอีกล่ะ ว่า สังคมต้องให้โอกาสเยาวชนในการปรับตัวเป็นคนดี เรามีสัญญาคุ้มครองเด็กกับต่างประเทศ ฯลฯ …

คือมองแง่ดีว่ารัฐบาลพยายามลดความเสี่ยงลงเรื่องงบประมาณแผ่นดินแล้ว ในการที่จะให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ เริ่มประมูลปี 68 โครงการแล้วเสร็จปี 73 ก็ต้องลองให้โอกาสเขาดูก่อน ก็อย่างที่คนฝั่งรัฐบาลว่าไว้ว่า “เอกชนที่จะมาลงทุนเขาก็มาดูความคุ้มทุนเหมือนกัน ไม่ใช่จะลงทุนง่ายๆ” ก็ให้โครงการเดินหน้าดูสักตั้ง แล้วรอดูผลที่ตามมา ภาคใต้จะได้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ มีทั้งการท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่งในโครงการขนาดใหญ่

เอาเรื่องแลนด์บริดจ์เรื่องแรก เรื่องต่อมาคือ จัดซื้อเรือดำน้ำจีนซึ่งจีนทำตามสัญญาไม่ได้ ตรงที่เราขอซื้อเครื่องยนต์เยอรมัน จีนประกอบ แต่ไปๆ มาๆ เยอรมันไม่ขายเครื่องยนต์ให้เพราะมันเกี่ยวข้องกับมิติความมั่นคง ซึ่งก็มีการจ่ายเงินไปแล้วบางงวด แล้วทีนี้เอาไงดี ? ตอนเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านด่าปาวๆ แต่ตอนนี้เข้าใจความจำเป็นของกองทัพแล้ว ซึ่งเมื่อถามไปยังอัยการสูงสุด ( อสส.) ก็บอกว่า “ให้เป็นมติ ครม.)” ดังนั้น นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เลยจะตั้งกรรมการพิจารณา เอาตัวตึงพรรคก้าวไกลมาร่วมด้วย ( ซึ่งเขายังไม่ตอบรับเป็นทางการทั้งนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร , นายรังสิมันต์ โรม ) พิจารณาแนวทางเสนอต่อ ครม. กรอบการทำงาน 1 เดือน ก็คงจะต้องพิจารณาความคุ้มค่าเรื่องประเภทยอมซื้อเรือจีนเครื่องจีนดีไหม เปลี่ยนเป็นฟริเกตดีไหม

เริ่มจากเรื่องจัดซื้อเรือดำน้ำ ต่อไปฝ่ายค้านก็จะขุดเรื่องการปฏิรูปกองทัพและการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ อีก ถ้าไม่ “เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ” รัฐบาลก็จะโดนด่าไม่ใช่น้อย ..การเปลี่ยนแปลงที่ว่า คือ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร , เหตุรุนแรงที่เกิดในพื้นที่กองทัพ ต้องปรับโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมที่ฝ่ายพลเรือนรับรู้และเข้าไปมีส่วนร่วมหรือเปิดเผย เช่น เรื่องการทำร้ายพลทหาร , การลดนายพลในตำแหน่งที่ไม่จำเป็นเช่นผู้ทรงคุณวุฒิหรือที่ปรึกษา ..ส่วนเรื่องงบลับนั้นคิดว่าค่อนข้างปรับเปลี่ยนอะไรค่อนข้างยาก เพราะบางครั้งในงานความมั่นคงมันคือความลับจริงๆ , แก้ไขโครงสร้างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ( กอ.รมน.) ไม่ใช่เป็นองค์กรที่มีผีรับเงินเดือนเต็มไปหมด

เรื่องดิจิทัลวอลเลตก็น่าจะโดนไม่ใช่น้อย หลายคนเริ่มคิดแล้วว่าที่ดึงเช็งไปเรื่อยนี่ สงสัยรัฐบาลหาทางลงไม่ได้อยู่ เนื่องจากกู้มาแจกถ้ากระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้จริงก็กลายเป็นหนี้เน่า บางคนเขาแอบเชื่อว่า รัฐบาลรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า “กู้ไม่ได้ ผิดวินัยการเงินการคลัง” แนวๆ ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจวิธีนี้ ซึ่งเคยมีเรื่องลักษณะนี้มาแล้วในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ออก พ.ร.บ.เงินกู้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 2 ล้านล้านบาท แต่ถูกเบรกด้วยความเห็นตุลาการคนหนึ่งที่ว่า ปัญหาถนนลูกรังยังไม่หมดเลย

ส่วนตัวนายกฯ นิดเองนั้น บุคลิกดี ยิ้มตลอด พูดเพราะ ไหว้สวย ไม่ดูมู้ดดี้แบบบิ๊กตู่ .. บุคลิกแบบนี้คือยังมีคะแนนเอ็นดู สิ่งที่ประชาชนจับตาคือ “ที่นายกฯ เดินสายพบเอกชนรายใหญ่ระดับโลก แล้วบอกว่า เขาสนใจมาลงทุนในไทย เอาจริงมาลงทุนกี่เจ้า” และต้องเป็นเจ้าที่มาลงทุนใหม่ด้วยนะ ไม่ใช่ลงทุนอยู่ก่อนในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ …พวกมองโลกในแง่ร้าย หรือไม่ชอบรัฐบาลเพื่อไทยก็คิด ..การไปต่างประเทศบ่อย ไปภูเก็ต, เชียงใหม่บ่อยๆ ของนายกฯ นี่มี “วาระซ่อนเร้น” ( hidden agenda ) อะไรที่เอื้อต่อบริษัทแสนสิริหรือไม่ ..เช่นนั้นก็ให้รอดูว่ามีการปรับเปลี่ยนกฎหมายการถือครองที่ดินของต่างชาติหรือไม่อย่างไรในสมัยรัฐบาลนี้

อย่างไรก็ตาม 4 เดือนงานยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมชัดนัก แต่รัฐบาลนี้ก็คงโดนอภิปรายหรือสภาเชิญมาตอบกระทู้อ่วม อันดับแรก สว.จะอภิปรายทั่วไปตาม ม.153 แล้ว ซึ่งคงไม่น่าจะยาก คงเล่นเรื่องทักษิณกับเรื่องแลนด์บริดจ์ เรื่องนายทักษิณนั้นนายทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรมคงตอบเดิมๆ “เป็นหน้าที่ของข้าราชการพิจารณา รัฐมนตรีแค่รับทราบ เราทำตามกฎเกณฑ์ไม่มีสองมาตรฐาน” แลนด์บริดจ์นั้นคิดว่านายกฯ ถ้าไปโร้ดโชว์มาคงพูดได้ปร๋อ

ต่อมา รัฐบาลก็จะเจอกับศึกอภิปรายของ สส. ซึ่งทางพรรคก้าวไกลเขาดูๆ อยู่ว่าจะเล่นตาม ม.151 ไม่ไว้วางใจ หรือ 152 อภิปรายทั่วไปดี ก็น่าจะอภิปรายในสมัยประชุมนี้ และรัฐบาลก็ต้องถูกซักฟอกเรื่องการจัดงบปี 67 และปี 68 ในปีเดียวกัน..และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นคือ พรรคเพื่อไทยโดนกระแสหมั่นไส้เรื่องตระบัดสัตย์ คราวนี้ถ้าเกิดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอะไรในทางเป็นโทษกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล หรือเป็นโทษกับพรรคก้าวไกลในคดีหาเสียงล้มล้างการปกครอง คะแนนสงสารยิ่งตีไปทางฝั่งก้าวไกล ..เพื่อไทยก็ยอมรับว่า การตั้งรัฐบาลสูตรนี้คือหืดขึ้นคอมากในการทำงานเพื่อเรียกศรัทธาคืนมา  ก็ทำดีหลายเรื่อง แต่เรื่อง “พ่อแม้ว” กับ “ดิจิทัลวอลเลต” กลับมาเป็นตัวที่ถูกใช้ด้อยค่าเพื่อไทยที่สุด หลังจาก “ตระบัดสัตย์” เริ่มเชยแล้ว

แล้วรัฐบาลก็ต้องรับมือกับข่าวลืออีก ว่า เสี่ยนิดอาจอยู่ไม่ครบวาระ รอ“นายกฯตัวจริง”พร้อม ..แต่จะให้หลุดจากเก้าอี้ด้วยเหตุไหนก็มาดูกัน ว่าจะให้หลุดจริงหรือไม่.