ดูเหมือนจะเป็นการเคลื่อนไหวอ้างว่า เป็นการขับไล่รัฐบาลเผด็จการ ด้วยสโลแกน“ให้มันจบที่รุ่นเรา” ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจได้กับคำนี้ เพราะกลไกของรัฐธรรมนูญ ที่ให้รวมเสียงข้างมากตั้งรัฐบาลได้ พลังประชารัฐ ( พปชร.) ก็เดินเกมชิงตั้งรัฐบาล มีกระบวนการทำให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ต้องขาดคุณสมบัติจากการถือหุ้นสื่อในบริษัทที่เลิกผลิตสื่อไปแล้วแต่ยังไม่ได้จดแจ้งเลิกกิจการ ทำให้เพื่อไทยและอนาคตใหม่จับมือกันตั้งรัฐบาลไม่ได้ และมีการใช้กระบวนการทางกฎหมายในการจัดการพรรคอนาคตใหม่ ที่ตอนนั้นดูปลุกกระแสภาพการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ..การเคลื่อนไหวจึงมาในแนวๆ ความคิดที่ว่า “อะไรกดทับการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนอยู่” และต่อไปถึงการเรียกร้องสิทธิในการแสดงออก สิทธิเหนือร่างกาย สิทธิ ฯลฯ

และในขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวก็มีความพยายามนำสถาบันมาโยงให้เกี่ยวกับการเมือง มีการเสนอให้ยกเลิกหรือแก้ไข ป.อาญา ม.112 บอกว่า “มันเป็นกฎหมายที่กดทับการแสดงความเห็นของประชาชน” ซึ่งก็แล้วแต่คนมอง แต่ถามว่า “กฎหมายคุ้มครองประมุขแห่งรัฐไม่ให้ถูกครหาด่างพร้อยนี่ต้องมีหรือไม่ ?” คนปกติยังมีกฎหมายดูหมิ่น หมิ่นประมาทมาใช้ขู่ปิดปากคนวิจารณ์ตัวเอง อย่างนักร้องสาวที่เพิ่งออกซิงเกิลเพลงไทยคำอังกฤษคำรายหนึ่ง ก็ประกาศจะฟ้องคนด้อยค่าตัวเอง รับคำขอโทษเป็นเงินสดเท่านั้น

ทำไมประมุขแห่งรัฐต้องได้รับการคุ้มครองด้วยกฎหมายต่างหาก ? ก็เป็นเพราะมันเป็นอุดมการณ์และวัฒนธรรมที่ถูกถ่ายทอดมาในรูปแบบต่างๆ อาทิ แบบเรียน ที่สร้างองค์ประกอบรัฐชาติของความเป็นไทยคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การบันทึกประวัติศาสตร์ มักจะเป็นเรื่องของบูรพกษัตริย์ หรือเจ้านายรายอื่นๆ กับพระราชกรณียกิจเพื่อการพัฒนาชาติ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ประกอบกับการรับแนวคิดสมมุติเทพมาใช้ ..การสะสมอุดมการณ์เหล่านี้ทำให้ประชาชนศรัทธาต่อสถาบัน และสถาบันจะไม่ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือเป็นคู่กรณีของใคร ..ในสมัยรัชกาลที่ 9 มีการถ่ายทอดพระราชกรณียกิจให้เห็นมากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ว่ากันว่า ถ้าในหลวง ร.9 ไม่ทรงไปพัฒนาน่าจะโกร๋นทั้งเขาด้วยการทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น ค้ายาเสพติด โครงการหลวงมีมากมาย..สถาบันจึงยิ่งเป็นที่รักและเทิดทูน

เมื่อสถาบันเป็นที่ศรัทธา เป็นหนึ่งในอุดมการณ์รัฐชาติของความเป็นไทย กฎหมายปกป้องสถาบันจึงต้องมี และอัตราโทษรุนแรงกว่ากฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป เนื่องจากมีเรื่องของความศรัทธาเข้ามาเกี่ยว ผู้ก่อเหตุในบางครั้งอาจจงใจที่จะเหยียบย่ำความศรัทธา หรืออุดมการณ์ของผู้อื่น โดยอ้างแต่เสรีภาพๆๆๆ ยันตัวเองไว้ ดันลืมไปว่าเสรีภาพต้องตามมาด้วยการไม่ละเมิดผู้อื่น การต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำตามเสรีภาพนั้น พอต้องรับผิดชอบก็โวยวายว่าโดนกดทับ ๆๆๆ แบบนี้มันก็ดูไม่ดีเท่าไร คนที่หมิ่นสถาบันเอง เวลาโดนหมิ่นตามอินเทอร์เนตนี่ฟ้องคนหมิ่นตัวเองหรือไม่ ?

ต่อมา กระบวนการปลดแอกจากการถูกกดทับก็ลดๆ ลง เพราะเลือกตั้งใหม่ หรือไม่ก็หลายคนก็กลับไปตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน ไอ้ที่จะไปวิ่งสู้คดีจนเสียอนาคตมันไม่ได้คุ้ม แต่ก็ยังเหลือบางกลุ่มที่ยังคงพฤติกรรมเดิมๆ คือกลุ่มทะลุวัง ที่ล่าสุด น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ได้ก่อเหตุที่ทำให้กลุ่มคนรักสถาบันไม่ยอมรับ คือการขับรถไล่ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนกลายเป็นกระแสต่อต้านกลุ่มทะลุวังขึ้นมา ซึ่งเข้าใจว่าคงมีคนหมั่นไส้มาพอสมควรแล้ว เนื่องจากยังมีพฤติกรรมกวนเมืองไม่เลิกแบบเสรีภาพกู

ในที่สุดก็มีกระแสเรียกร้องให้ถอนประกัน วันที่ 13 ก.พ. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. ได้มีวิทยุราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 0001(มค)/98 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ถึง ผบช.น. (ผู้รับปฏิบัติ) และ ผบ.ตร., ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในสายงานมั่นคง (ผู้รับทราบ) ใจความว่า “ด้วยได้ปรากฏข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆเสนอเรื่องที่ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 20 ปี กับพวก ได้ขับรถยนต์ยี่ห้อเอ็มจี สีขาว หมายเลขทะเบียน 8 กจ 1711 กรุงเทพมหานคร บีบแตรรถยนต์ลากยาว ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะเสด็จผ่านทางร่วมต่างระดับมักกะสัน โดยขับรถยนต์ด้วยความเร็วเพื่อไปให้ทันขบวนเสด็จ

ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่รถปิดท้ายได้สกัดกั้นรถยนต์คันดังกล่าวไว้ จนได้มีการโต้เถียง แม้ต่อมามีกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ยังปรากฏข่าวว่ากลุ่มบุคคลของ น.ส.ตะวัน มีการนัดหมายทำกิจกรรมที่สกายวอล์ค สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม เพื่อทำโพลถามความคิดเห็นในหัวข้อ “คุณคิดว่าขบวนเสด็จฯ สร้างความเดือดร้อนหรือไม่” อีกด้วยนั้น พฤติกรรมดังกล่าว อาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข เป็นภัยต่อความมั่นคงที่สามารถขยายตัวจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้ ดังนั้น เพื่อเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งส่งเสริมให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงและความสงบของสังคม จึงให้ บช.น. ดำเนินการ ดังนี้ 

1.กำกับ ติดตามและเร่งรัดดำเนินการในทุกข้อหาความผิด รวมทั้งให้พิจารณาพฤติการณ์ก่อนการกระทำผิด ขณะกระทำผิด และหลังจากกระทำความผิด ว่ามีการยุยงปลุกปั่นด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนและให้ผู้อื่นล่วงละเมิดกฎหมาย ที่จะเข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 ด้วยหรือไม่

2.กำหนดแนวทางในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้งและแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรความสงบของสังคม เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก

ซึ่งก็เป็นไปตามหนังสือที่บิ๊กโจ๊กระบุ คือ “เรื่องแบบนี้มันกลายเป็นการปลุกปั่นให้สถานการณ์ลุกลามได้” ซึ่งน่ากลัวว่าจะซ้ำรอยกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และนำไปสู่ความแตกแยกทางความคิดระดับต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์อัปยศอีกครั้ง ..ฟังหลายเสียง เขามองว่า น.ส.ทานตะวันนี่ทำตัวเลยเถิด เป็นการใช้เสรีภาพเกินขอบเขตจนไปเหยียบย่ำศรัทธาและความรู้สึกของคนอื่น มันน่ากลัวตรงที่ในอินเทอร์เนตเริ่มมีกระแสขู่ฆ่า และเหมือนจะคุกคามไปถึงที่พักของ น.ส.ทานตะวันแล้ว ซึ่งในยุคอินเทอร์เนตเฟื่องฟูแบบนี้“หาเป้าหมาย”ไม่ยาก ไม่เหมือนยุคปี 19 ที่คนเห็นต่างหนีเข้าป่า

ซึ่งน่าตั้งคำถามกับสิ่งที่นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พูดว่า “อย่าสร้างปีศาจตัวใหม่ในสังคม” ว่า “ปีศาจ”คือตัวอะไรกันแน่ ฝ่ายที่เอาแต่ใจใช้เสรีภาพเกินขอบเขตจนกระทบความรักและศรัทธาของคนอื่น หรือฝ่ายที่ลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงตอบโต้ฝ่ายที่ย่ำยีหัวใจตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลเห็นตรงกัน คือ “การต้องมีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเรื่องความขัดแย้ง” โดยพื้นที่ปลอดภัยที่สุดคือรัฐสภา ซึ่งมี สส.ที่มาจากการเลือกตั้ง หรือถ้าจะให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ก็เปิดเวทีที่ลานสภา หรือไม่ก็มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ

ตอนนี้ก็มีความพยายามสลายความขัดแย้ง โดยการจะออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมความผิดทางการเมือง ซึ่งต้องดูว่า “พฤติการณ์แบบไหนที่เข้าข่ายได้รับนิรโทษกรรมบ้าง” ที่เถียงๆ กันหนักๆ คือ “ผู้ต้องคดี ม.112 ควรต้องได้รับการนิรโทษกรรมด้วย” มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็พอสมควรอยู่ เพราะมองว่า “ไม่ใช่คดีความเห็นต่างทางการเมือง” แต่เป็นคดีที่เกี่ยวกับการสร้างความพยายามขัดแย้งกับสถาบัน ดูหมิ่น ใส่ร้าย ไปจนถึงอาฆาตมาดร้าย ..ซึ่งคนที่โดนคดีนี้หลายคนมีแนวคิด “ไม่เอาสถาบัน”อยู่แล้ว นิรโทษไปครั้งนึง ต่อมาก็กลับมาก่อเหตุความผิดคดีเดิมๆ อีก ..และไม่รู้ว่าจะเพิ่มระดับสร้างความปั่นป่วนได้อีกแค่ไหน ..ดังนั้น ถ้าจะนิรโทษกรรม ม.112 นี่ คือต้องมีคณะกรรมการดูเจตนา บางคนถูกปลุกปั่นมา บางคนกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือโดนกลั่นแกล้ง ก็ควรต้องนิรโทษ

อย่างไรก็ตาม “ตัวต้นเรื่อง” คือ ม.112  ซึ่งถ้าไม่หูหนวกตาบอด ก็คงจะพอเห็นว่ามันถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกันระดับหนึ่ง พูดอะไรไม่เข้าหูพวกขวาสุดโต่งก็โดนเอาไปฟ้อง ซึ่งที่น่ากลัวคือการมีกลุ่ม ศปปส. เป็น “หน่วยใช้ความรุนแรง” ..ศปปส.จะถูกดำเนินคดีอะไรหรือไม่ก็ไม่เห็นประโคมข่าวกัน ระวังอย่าให้เกิดภาพ..รักเจ้าแล้วกลายเป็นอภิสิทธิ์ชน หรือยกคำว่า“รักสถาบัน”มาอ้างแล้วจะทำอะไรก็ได้ .. เพราะมันยิ่งไปรดน้ำต้นไม้ชื่อความเกลียดชังให้เติบโต

หลายครั้งที่ยกฟ้อง ม.112 แต่ใครถูกฟ้องแล้วมันก็ไม่ได้จะรู้สึกดี แล้วบางครั้งกลายเป็นการกลั่นแกล้ง เช่น ไปฟ้องที่แม่สาย ไปฟ้องที่พิบูลมังสาหาร ให้เป็นภาระการเดินทาง การฟ้องก็มั่ว ขนาดฟ้องหมิ่นสุนัขทรงเลี้ยงยังมี ฟ้องหมิ่นพระนเรศวรมหาราชยังมี จนจะกลายเป็นความหวาดกลัวในสังคมไป และจะกระทบต่อสถาบัน

ฝ่ายนิติบัญญัติควรยืนยันอำนาจในการแก้กฎหมาย แยกระดับความผิดดูหมิ่น ใส่ความ อาฆาตมาดร้ายให้ระดับโทษต่างกัน  ที่สำคัญที่สุด ต้องมีเจ้าภาพในการรับฟ้องเป็นคณะกรรมการที่เป็นกลาง ตั้งแบบลูกขุนก็ได้ คือว่ากันเป็นเคส พิจารณาก่อนส่ง พงส. คือก่อนอัยการ ไม่ให้ฟ้องกลั่นแกล้ง ให้มีกระบวนการไกล่เกลี่ยได้ถ้าไม่ถึงขั้นอาฆาตมาดร้าย และไม่ต้องให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ฟ้อง เพราะจะดึงสถาบันมาขัดแย้งอีก

ก็เป็นข้อเสนอให้พิจารณา เพื่อไม่ให้มีการใช้ ม.112 กลั่นแกล้งกันและไม่เป็นผลดีต่อสถาบัน ส่วนใครที่จงใจปลุกปั่นให้วุ่นวายโดยพาดพิงสถาบัน ก็ดำเนินคดีไปตามเจตนา ใช้ทั้ง ม.112, 116.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่