ไอทีวีเคยเป็นสื่อในอดีตที่โด่งดังมากในอดีต ก่อตั้งขึ้นและออกอากาศครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2539 ผู้ประกาศข่าวคู่แรกที่ประเดิมหน้าจอคือ คุณเทพชัย หย่อง และคุณกิตติ สิงหาปัด แต่ก่อนจะมีการออกอากาศจริง ก่อนหน้านั้นไอทีวีได้เกิดจากการรวมตัวกันของคนหนุ่มสาวที่เป็นดาวรุ่งในการทำข่าวในยุคนั้น ใช้เวลาซักซ้อมคิดรูปแบบในการนำเสนอเนื้อหาก่อนออกอากาศจริง เป็นระยะเวลาถึง 1 ปี

คนรุ่นบุกเบิกที่เป็น Key Person คนสำคัญของไอทีวี ประกอบไปด้วยคุณสุทธิชัย หยุ่น คุณเทพชัย หย่อง คุณอัชฌา สุวรรณปากแพรก หรือพี่ดำ ที่มาจากช่อง 9 และเป็นบรรณาธิการบริหาร โดยได้มีการระดมนักข่าวดาวรุ่งในยุคนั้น มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดี เช่น จอม เพชรประดับ บก.ข่าวสังคม ประจักษ์ มะวงสา บก.ข่าวการเมือง มีผู้ประกาศดาวเด่นหลายคน เช่น นารากร ติยายน กิตติ สิงหาปัด สร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ ตวงพร อัศววิไล แต่ที่ดูจะเป็น บก.คนสำคัญที่บุกเบิกการทำข่าวสืบสวนสอบสวนจนทำให้ไอทีวีมีชื่อเสียงก็คือ …

‘บ็อบ อลงกรณ์ เหมือนดาว’ ที่นั่งตำแหน่ง บก.ข่าวอาชญากรรม (ซึ่งปัจจุบันคุณบ็อบ เป็น บก.ข่าว 3 มิติ) ส่วนเจ้าของตั้งแต่เริ่มต้นจนปิดฉาก สรุปสั้นๆ คือ ในช่วงแรกไอทีวีมีผู้ถือหุ้นจากหน่วยงานต่างๆ หุ้นละ 10% อาทิ ไทยพาณิชย์ กันตนา เนชั่น ภายใต้ชื่อ บริษัท สยามอินโฟเทนเม้นต์ (ไอทีวี) จำกัด ที่ทำสัญญาเช่าสัญญาณกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) จนกระทั่งต่อมาเกิดความขัดแย้งภายในของผู้ถือหุ้น ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นลักษณะ 10% (ที่เดิมตั้งใจไว้เพื่อป้องกันการผูกขาด) เหตุผลหนึ่งคือ ผลประกอบการธุรกิจที่ไม่น่าพอใจ ท้ายที่สุด ความขัดแย้งจึงนำมาสู่การยกเลิกสัญญาของไอทีวีกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) มีการแก้ไขระเบียบเรื่องการถือหุ้น 10% และบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ภายใต้ชื่อใหม่ TITV ถือเป็นการปิดฉากโลโก้ไอทีวีลงในปี 2550

การเกิดขึ้นของไอทีวีในยุคอนาล็อกคือ จุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์การทำข่าวที่ทำให้สถานีช่องต่างๆ ต้องลุกขึ้นมาขยับตัว โดยเฉพาะข่าวในมิติสืบสวนสอบสวน (Investigative reporting) ที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังและทำให้ไอทีวีเป็นที่รู้จักในขณะนั้น คือการเปิดโปง ‘ส่วยรถบรรทุก’ เมื่อกว่า 27 ปีที่แล้ว จนทำให้วงการทำข่าวสืบสวนสอบสวนของไทยคึกคัก นอกจากนี้ในปี 2539 ได้มีการตั้ง ‘รางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์’ เกิดขึ้น หลังคนในวงการข่าวต้องสูญเสียคุณแสงชัยไป โดยหนึ่งในรางวัลข่าวที่สำคัญที่สุดคือ ข่าวสืบสวนสอบสวน และ ‘รางวัลข่าวสืบสวนยอดเยี่ยมรางวัลแรก’ ก็ตกเป็นของไอทีวี จากฝีมือของอลงกรณ์ เหมือนดาว นอกจากนี้รางวัลข่าวสืบสวนสอบสวนแสงชัยอีกจำนวนมาก ก็ยังตกอยู่ในมือของคนข่าวไอทีวีด้วยในเวลาต่อมา

อารัมภบทมาพอสมควรเพื่อให้คนที่ไม่รู้จักไอทีวีได้พอเห็นภาพ หลังไอทีวีต้องปิดฉากลงสิ่งที่ตามมาคือ การฟ้องร้องของพนักงานไอทีวีเรื่องค่าชดเชยจากการยกเลิกสัญญา ของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นำโดยจอย จตุรงค์ สุขเอียด หลังปิดฉากการทำหน้าที่สื่อสารมวลชนของไอทีวีลง ก็ไม่มีใครสนใจไอทีวีอีกเลย

ท่ามกลางความเงียบสงบ หลังการปิดฉากไอทีวี แต่เป็นที่รู้กันว่า บริษัทไอทีวียังมีชีวิตอยู่ภายใต้บริษัท อินทัชโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ต่อมา บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อหุ้นอินทัชฯ อย่างเงียบๆ ความหมายคือ …กัลฟ์ฯเป็นเจ้าของไอทีวีไปด้วยในตัวในทันที แต่ทั้งหมดระหว่างทางนับตั้งแต่ไอทีวีปิดตัวลงจนถึงนาทีที่กัลฟ์ฯ เข้าเทคโอเวอร์ …ก็คือ

ไอทีวีไม่เคยฟื้นคืนชีพมาผลิตสื่ออีกเลยแม้แต่สัก ‘วินาที’ เดียว’ หรือพูดอีกอย่างว่า มันเหลือเพียงโลโก้สัญลักษณ์ ที่ยังอยู่ในใจของคนข่าวหรือประชาชนในยุค Gen X ในฐานะบทบาทของสื่อมวลชนมือทำข่าวสืบสวนสอบสวนอันดับ 1 ของประเทศเท่านั้น แต่ที่ไม่ตายไปพร้อมกันคือ บุคลากรคนข่าวของไอทีวีที่ยังคงอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชน

เมื่อไอทีวี ถูกหยิบขึ้นมาจากนักร้อง ที่ไปร้อง กกต. ในการเลือกตั้งรอบนี้ จึงทำให้เกิดกระบวนการตรวจสอบย้อนหลังเกิดขึ้นโดยมี pain point ที่ว่า ไอทีวียังคงผลิตสื่อหรือประกอบธุรกิจสื่ออยู่หรือไม่ และทำให้ไอทีวีถูกพูดถึงและกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง โดยเฉพาะคุณ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่มีการถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก ซึ่งในวงการนักข่าวรุ่นเก่าจะรู้ดีว่า คุณพิธามีความเชื่อมโยงกับคุณ ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตเงา คนใกล้ชิดกับคุณทักษิณ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคุณพิธาจึงเป็นทายาทของผู้มีหุ้นไอทีวีอยู่

การลุกขึ้นเพื่อตรวจสอบว่า ไอทีวียังประกอบธุรกิจสื่ออยู่หรือไม่ อาจคาบเกี่ยวระหว่างเรื่องการเมืองและเรื่องตัวไอทีวีเอง ที่อดีตคนข่าวไอทีวีอาจรู้สึกว่ามันคือ ศักดิ์ศรี และ ‘ไอทีวีคือสถาบันข่าวที่ผลิตคนสื่อชั้นนำของประเทศขึ้นมา’ …

‘ไอทีวีจึงไม่ควรถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง’ นำมาสู่อดีตคนข่าวไอทีวีที่ยังคงทำหน้าที่สื่ออยู่ลุกขึ้นสร้าง SPOTLIGHT ทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนอีกครั้ง ซึ่งถ้าอ่าน ตั้งแต่ต้นจนถึงบรรทัดนี้ ก็จะรู้ดีว่า เป็นความสามารถเฉพาะตัวของนักข่าวสืบสวนสอบสวนมืออาชีพที่ทำงานมาอย่างยาวนาน ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังงานสืบสวนชิ้นนี้ โดยมี ‘แยม ฐาปนีย์ เอียดศรีไชย’ นักข่าว 3 มิติ เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ภายใต้ทีมเบื้องหลังทั้ง คุณกิตติ สิงหาปัด อลงกรณ์ เหมือนดาว จตุรงค์ สุขเอียด การสืบค้นข้อเท็จจริง ค้นหาข้อมูลจึงไม่ใช่เรื่องยาก หลักฐานชิ้นสำคัญจึงถูกเปิดเผยขึ้นมา

สำหรับ ไอทีวี…ทีวีเสรีคือ สัญลักษณ์ที่ วงการสื่อสารมวลชน ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่ต้องถูกบันทึกไว้ ขณะเดียวกันอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์กำลังจะถูกบันทึกไว้ว่า มันคือ…เครื่องมือทางการเมือง ที่กลายเป็นบทเรียนของนักการเมืองให้พึงสังวรว่า… ‘องค์กรตายแต่…คนไม่ตาย’

………………………………………………………………………….
บทความโดย ดร.นันท์วิสิทธิ์ ตั้งแสงประทีป (นิพนธ์)
อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)
เจ้าของรางวัลข่าวสืบสวนสอบสวนแสงชัย สุนทรวัฒน์ (ประจำปี 2549-2550)