ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส กล่าวว่าเครื่องแบบนักเรียน สามารถลดความไม่เท่าเทียม หรือความเหลื่อมล้ำระหว่างครอบครัวได้ ขณะเดียวกัน เครื่องแบบนักเรียนคือการกำหนดแนวทาง ที่เป็นเงื่อนไขของการเคารพและการให้เกียรติ สำหรับโครงการนำร่องการสวมเครื่องแบบนักเรียน สถานศึกษาสามารถเข้าร่วมได้ตามความสมัครใจ

ทั้งนี้ มาครงขอความร่วมมือ ให้สถานศึกษาของรัฐ 100 แห่ง ในฝรั่งเศส ทดลองการสวมเครื่องแบบนักเรียน แม้ผู้บริหารของโรงเรียนแต่ละแห่งสามารถกำหนดแนวทางของเครื่องแบบได้เอง อย่างไรก็ตาม ภาครัฐเสนอแนะ การสวมเสื้อแขนยาว หรือสเวตเตอร์สีน้ำเงิน กับกางเกงขายาวสีเทา เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน

ครูสนทนากับนักเรียน ภายในห้องเรียนของโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง ที่เมืองมูว์ลูซ ทางตะวันออกของฝรั่งเศส

หากการทดลองดังกล่าวได้ผลดี จะมีการบัญญัติเป็นกฎหมายผ่านสภา และบังคับใช้ในระดับเดียวกัน สำหรับสถานศึกษาของรัฐทั่วประเทศ ในปี 2569 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่มาครงจะดำรงตำแหน่งผู้นำฝรั่งเศส ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ ในปี 2570 และจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส ที่นักเรียนในโรงเรียนของรัฐต้องสวมเครื่องแบบ

FRANCE 24 English

นอกจากนี้ ผู้นำฝรั่งเศสกล่าวถึงแผนการ ให้นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เรียนรู้และมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ต่อความหมายของเพลง “ลา มาร์แซแยซ” ( La Marseillaise ) ซึ่งเป็นเพลงชาติ และการกำหนดให้วรรณกรรม ภาพยนตร์ และการละครเป็นวิชาบังคับ ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2568 โดยมาครงเชื่อว่า เป็นวิชาที่จะสามารถสร้างความมั่นใจ ฝึกฝนการพูดในสถานที่สาธารณะ และการศึกษาเนื้อหาที่มีคุณค่า เกี่ยวกับความเป็นฝรั่งเศส

ก่อนการประกาศอย่างเป็นทางการโดยมาครง แนวคิดเรื่องการสวมเครื่องแบบนักเรียน และการศึกษาความหมายของเพลงชาติ เป็นที่ถกเถียงมานานระยะหนึ่งแล้วในฝรั่งเศส และชัดเจนมาขึ้นในสมัยที่นายกาเบรียล อัตตาล นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการ ดำเนินนโยบายต่อต้านการกลั่นแกล้งในโรงเรียน ด้วยวิธีการที่รวมถึง การเปิดคลิปเกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลของทีมชาติฝรั่งเศส การห้ามนักเรียนหญิงในสถาบันการศึกษาของรัฐสวมชุดอาบายะห์

นายกาเบรียล อัตตาล นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส สนทนากับนักเรียน ระหว่างลงพื้นที่โรงเรียนมัธยมศึกษา ในเมืองอ็องเดรซี ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ของกรุงปารีส

ก่อนดำรงตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการ อัตตาลเป็นหัวหอกของหน่วยงานที่เรียกว่า “อาสาสมัครบริการแห่งชาติ” ( เอสเอ็นยู ) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลร่วมระหว่าง กระทรวงกลาโหมกับกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายแกนกลาง กำหนดให้นักเรียนต้องปฏิบัติ “กิจกรรมเพื่อสังคม” หรือ “กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์” เป็นเวลา 12 วัน

แม้รัฐบาลมอบเสรีภาพให้แก่นักเรียนทุกคน โดยให้เข้าร่วมตามความสมัครใจ และกิจกรรมที่เลือกสามารถเกี่ยวข้องกับกองทัพได้ อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ลงทะเบียนต่ำกว่าเป้าหมาย และความหลากหลายของผู้เข้าร่วมไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐบาลคาดการณ์

ข้อมูลระหว่างปี 2564-2565 ระบุว่า มากกว่าหนึ่งในสามของนักเรียนซึ่งลงทะเบียน เป็นบุตรหลานของครอบครัวตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ดับเพลิง อีกทั้ง 20% ของผู้สมัครมีบิดาซึ่งทำงานในสายอาชีพ เกี่ยวกับการเป็นผู้ใช้แรงงาน

ทางเข้าโรงเรียนมัธยมศึกษา เซวีเญ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

อีกด้านหนึ่ง การกำหนดแนวทาง “ปฏิรูป” การศึกษา ครั้งสำคัญของรัฐบาลฝรั่งเศสชุดปัจจุบัน ที่จะเป็นการปลูกฝังความเป็นชาตินิยมในประเทศ เกิดขึ้นหลังการปรับคณะมนตรีครั้งที่หลายฝ่ายมองว่า “น่าจับตา” โดยนอกจากมีอัตตาล ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์ให้กับการเมืองสมัยใหม่ของฝรั่งเศส ด้วยการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุด คือ 34 ปี

สื่อท้องถิ่นหลายแห่งของฝรั่งเศสวิเคราะห์ไปที่จุดยืนทางการเมืองของคณะรัฐมนตรี ที่จากจำนวนรัฐมนตรี 14 คน ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งไม่รวมอัตตาลในฐานะนายกรัฐมนตรี 8 คน มีจุดยืนการเมืองฝ่ายขวา บ่งชี้ว่า ผู้นำฝรั่งเศสมองไปถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป ในเดือนมิ.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งในส่วนโควตาของฝรั่้งเศสนั้น พรรคขวาจัดซึ่งเป็นพันธมิตรกับพรรคแนวร่วมแห่งชาติ ( เอฟเอ็น ) ของนางมารีน เลอ แปน มีคะแนนนิยมนำเหนือพรรคเรเนสซองส์ ที่เป็นพรรคสายกลางของมาครง

อนึ่ง การที่มาครงดำรงตำแหน่งครบสองสมัยแล้ว โดยอยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ปี 2560 หมายความว่า พรรคเรเนสซองส์ต้องส่งผู้สมัครคนใหม่ ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไป ในปี 2570 จึงมีการวิเคราะห์เช่นกันว่า หรือการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอัตตาล คือการปูทางสู่เส้นทางดังกล่าวในอนาคต กระนั้น อัตตาลยังคงสงวนท่าที ด้วยการกล่าวว่า ขอมุ่งมั่นกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และศึกเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปที่กำลังจะมาถึงก่อน

นางมารีน เลอ แปน

ทั้งนี้ทั้งนั้น แนวคิดเรื่องการทดลองการสวมเครื่องแบบบนักเรียน การเรียนเรื่องเพลงชาติ และการศึกษาวรรณกรรมฝรั่งเศส ได้รับการตอบสนองเชิงบวกจากเอฟเอ็น ที่กล่าวว่า “เป็นก้าวย่างครั้งสำคัญของการนำอำนาจให้กลับคืนสู่สถานศึกษา” อย่างไรก็ตาม บรรดาพรรคฝ่ายซ้ายต่างออกมาแสดงปฏิกิริยาตรงกันข้าม โดยวิจารณ์มาครงว่า กลายเป็น “พวกปฏิกิริยา” ที่หมายถึงการมีแนวคิดอนุรักษนิยมแบบสุดโต่ง หรือขวาจัด

บางที การกำหนดแนวนโยบายเรื่องการศึกษานี้ อาจเป็นไปได้ทั้ง “การซื้อใจทางการเมือง” จากฝ่ายอนุรักษนิยม เพื่อเชื่อมโยงไปถึงการแข่งขัน บนสนามเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคขวาจัดของเลอ แปน คว้าชัยชนะก็เป็นไปได้.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP