หลังจากสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ได้มีมติร่วมกันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ไปแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 การลดดอกเบี้ยจะเริ่มมีผลยาวนานถึง 6 เดือน ซึ่งแต่ละแบงก์รัฐ มีเงื่อนไขลดอย่างไร เศรษฐกิจ เดลินิวส์ นำรายละเอียด เงื่อนไขมาฝากกัน

ธนาคารออมสิน

ประกาศลดดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่ม โดยอัตราดอกเบี้ย MRR จะลดเหลือ 6.595% เป็นอัตรา MRR ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่สำคัญออมสินการลดดอกเบี้ย จะลดแบบอัตโนมัติ ซึ่งลูกค้าไม่ต้องติดต่อธนาคาร มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือน แต่ให้กับเฉพาะเกษตรกรลูกค้ากลุ่มเปราะบาง และ SMEs ที่ประสบปัญหาในการผลิต จนทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ NPLs ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยมีลูกค้าที่จะได้รับประโยชน์กว่า 1.2 ล้านบัญชี  

ธนาคารอาคารสงเคราะห์

ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR 0.25% ต่อปี จากเดิม 6.795% ต่อปี ลดลงเหลือ 6.545% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน ขณะเดียวกัน ยังมีเมนูพิเศษ ช่วยเพิ่มรายได้จากการออมให้กับประชาชน ด้วยการจัดทำผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์ “เก็บออม” อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 1.95% ต่อปี สำหรับผู้เปิดบัญชีเงินฝากตั้งแต่ 7 พฤษภาคม-30 ธันวาคม 2567

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี ดี แบงก์)

เอสเอ็มอี ดี แบงก์ ปรับลดดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี จากเดิม 8.05% ต่อปี ลดลงเหลือ 7.80% ต่อปี ยาว 6 เดือน มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค. 67 เป็นต้นไป พร้อมยังมีเมนูสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เลือก เช่น สินเชื่อ “SME Refinance” ช่วยผู้ประกอบการ SMEs อัตราดอกเบี้ยคงที่ ปีแรกเพียง 2.99% ต่อปี วงเงินกู้ 5-50 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุดถึง 15 ปี  

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

ปรับลดดอกเบี้ยลงเป็นรอบสอง ในรอบไม่ถึง 1 เดือน รวมสองรอบลดแล้ว 40% ต่อปี ทำให้ดอกเบี้ย Prime Rate ลดเหลือ 6.35% ต่อปี ซึ่งนับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เป็นเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บ.ส.ย.)

ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ลง 0.25% ช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบาง มีผลตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)

สำหรับลูกค้าไอแบงก์ ไม่ต้องน้อยใจ เพราะได้ปรับลดกำไรสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR) ลง 0.25% จากปัจจุบัน 8.50% เหลือ 8.25% ต่อปี นาน 6 เดือน ที่สำคัญ ยังมีโครงการสินเชื่อบ้านมีหนี้ลด เพื่อช่วยลดภาระหนี้ให้กับลูกค้าด้วย