ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของอินโดนีเซียตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายมองว่า “ไม่น่าจะเป็นไปได้” แต่ต้องยอมรับว่า “น่าทึ่ง” โดยเฉพาะปรากฏการณ์ความนิยม ซึ่งเกิดขึ้นกับประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ที่ชาวอินโดนีเซียเรียกขานกันว่า “โจโควี” ขึ้นสู่อำนาจ ดำรงตำแหน่งผู้นำคนที่ 7 ของอินโดนีเซีย เมื่อปี 2557 โดยวิโดโดไม่ได้มาจากตระกูลการเมืองใหญ่ของอินโดนีเซีย และไม่ได้มีความเชื่อมโยงในทางใดกับกองทัพที่ทรงอิทธิพล

นับตั้งแต่ผ่านพ้นการลุกฮือประท้วงของประชาชน โค่นอำนาจเผด็จการยาวนาน 32 ปี ของประธานาธิบดีซูฮาร์โต เมื่อปี 2541 การเดินทางบนเส้นทางประชาธิปไตยของอินโดนีเซียแม้ไม่ได้ราบรื่นเต็มร้อย แต่มีความต่อเนื่อง และการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศของวิโดโด ตลอด 10 ปีที่กำลังจะครบวาระ บ่งชี้ว่า การเดินทางของอินโดนีเซียยังคงเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ

วิโดโด วัย 62 ปี ซึ่งได้รับสมญานาม “บารัค โอบามา” แห่งเอเชีย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอินโดนีเซียให้รุดหน้าอย่างต่อเนื่อง ในฐานะประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

โครงการพัฒนาประเทศซึ่งจะทำให้วิโดโดเป็นที่จดจำของชาวอินโดนีเซียตลอดไป รวมถึง โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ “จิราตา” ( Cirata Floating Solar Farm ) ซึ่งตั้งอยู่บนอ่างเก็บน้ำขนาด 200 เฮกตาร์ หรือ 5 เอเคอร์ ในจังหวัดชวาตะวันตก ประกอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์ หรือแผงพลังงานแสงอาทิตย์ 340,000 แผง เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ถือเป็นโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่เป็นอันดับสามของโลก

ภาพกราฟิกจำลอง ทำเนียบประธานาธิบดี และที่ทำการสำนักงานราชการ ในกรุงนูซันตารา ว่าที่เมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย

ขณะที่อีกหนึ่งโครงการพัฒนาสำคัญ โครงการก่อสร้างและพัฒนาเมืองหลวงแห่งใหม่ “นูซันตารา” ( Nusantara ) เป็นภาษาชวาโบราณหมายความว่า “หมู่เกาะ” ซึ่ง ณ ที่นี้ หมายถึง “อินโดนีเซีย” ตั้งอยู่ที่จังหวัดกาลีมันตันตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคกาลีมันตัน บนเกาะบอร์เนียว โดยวิโดโดเห็นชอบและอนุมัติชื่อดังกล่าวด้วยตัวเอง ด้วยเหตุว่า นูซันตารา เป็นคำศัพท์โบราณซึ่งคุ้นหูชาวอินโดนีเซียมานานแล้ว จึงสามารถบ่งบอก “เอกลักษณ์” ของความเป็นอินโดนีเซียได้เป็นอย่างดี

อนึ่ง วิโดโดประกาศเมื่อปี 2562 เกี่ยวกับแผนการหาพื้นที่ก่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ แทนกรุงจาการ์ตา ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะชวา ที่ “แออัดจนล้น” และกำลังเผชิญกับภาวะแผ่นดินทรุดตัวและอาจจมทะเลในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า เบื้องต้นหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า โครงการก่อสร้างกรุงนูซันตาราน่าจะแล้วเสร็จ ประมาณปี 2588

ตลอด 10 ปีที่อยู่ในอำนาจ วิโดโดรักษาเสถียรภาพภายในโครงสร้างบริหาร โดยใช้ความประนีประนอม ระหว่างพรรคการเมืองกับบรรดาทหารชั้นผู้ใหญ่ ทั้งในปัจจุบัน และทหารเกษียณ ซึ่งล้วนเคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต

กลยุทธ์ดังกล่าวช่วยให้วิโดโดสามารถรักษาฐานอำนาจของตัวเองไว้ได้ตลอดรอดฝั่ง ท่ามกลางความเป็นพหุวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย ที่เรื่องศาสนา เชื้อชาติ และเศรษฐกิจ ยังคงมีความเปราะบาง

ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ลงพื้นที่แจกจ่ายถุงยังชีพให้แก่ประชาชน ในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่ชุมชนแห่งหนึ่ง ในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2563

ขณะเดียวกัน ความนิยมของชาวอินโดนีเซียที่มีต่อวิโดโด ถือว่าอยู่ในระดับสูงมาตลอด และพุ่งขึ้นไปอีกเป็นมากกว่า 70% ในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่ง ยิ่งทำให้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า วิโดโดคือหนึ่งในนักการเมืองทรงอิทธิพลที่สุดในรอบหลายทศวรรษของอินโดนีเซีย

แม้ไม่ใช่ผู้นำซึ่งสมบูรณ์แบบที่สุด เนื่องจากฝ่ายค้านและประชนอีกฝ่ายยังคงมองว่า วิโดโดใช้ความนิยมและอิทธิพลทางการเมือง ปูทางสู่ “การสืบทอดอำนาจ” ซึ่งอาจทำให้วันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ในเดือนต.ค. นี้ ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด แต่ชาวอินโดนีเซียจำนวนไม่น้อยกล่าวไปในทางเดียวกันว่า วิโดโดเป็นผู้นำ “ดีที่สุดเท่าที่อินโดนีเซียเคยมี”

นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบนเกาะมากกว่า 17,000 แห่งในอินโดนีเซีย ให้เชื่อมโยงถึงกันด้วยสะพาน รถไฟความเร็วสูง ทางหลวงสายใหม่ และสนามบิน วิโดโดพยายามเพิ่มการสร้างงานในประเทศ ควบคุมราคาน้ำมันปาล์ม การแบนส่งออกแร่ธาตุหายากอย่าง นิกเกิล เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดแรงงานในท้องถิ่น การเพิ่มสัดส่วนการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน

ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ร่วมเต้นรำกับชาวปาปัว ระหว่างการลงพื้นที่เมืองวาเมนา ในจังหวัดปาปัว เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2562

ภายใต้การนำของวิโดโด อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรายปีของอินโดนีเซีย อยู่ที่ประมาณ 5% โดยเฉลี่ย ยกเว้นเมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นปีเดียวที่เศรษฐกิจของอินโดนีเซียเผชิญกับภาวะหดตัว เนื่องจากการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

วิโดโดจัดทำแผนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ “โกลเด้น อินโดนีเซีย 2045” มีเป้าหมายสำคัญ คือการพัฒนาให้อินโดนีเซียอยู่ในกลุ่ม 5 อันดับแรก ของประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ( จีดีพี ) 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 321.43 ล้านล้านบาท ) ภายในปี 2588 โดยช่วงเวลาดังกล่าวจะตรงกับวาระครบรอบ 1 ศตวรรษ ที่อินโดนีเซียได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม วิโดโดกำลังจะหมดวาระ ซึ่งแน่นอนว่า ต้องเป็นภารกิจของประธานาธิบดีคนต่อไปในการสานงานต่อ และการบรรลุเป้าหมายอาจต้องเกิดขึ้นพร้อมกับ “การตัดสินใจอันยากลำบาก และไม่เป็นที่ถูกใจของบางฝ่าย” โดยวิโดโดเตือนด้วยว่า “การละทิ้งโอกาสที่อยู่ตรงหน้า” อาจทำให้อินโดนีเซียต้องเผชิญกับภาวะไร้เสถียรภาพอีกครั้ง

ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ตรวจแถวทหาร ในพิธีครบรอบ 78 ปี การสถาปนากองทัพอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566

นอกเหนือจากความพยายามและความมุ่งมั่น พัฒนาอินโดนีเซียตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา วิโดโดยังเพิ่มโอกาสและบทบาทของอินโดนีเซียบนเวทีโลกด้วย ซึ่งรวมถึงการเป็นผู้นำจากประเทศในเอเชียคนแรก ที่เยือนยูเครน และพบกับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี เมื่อปี 2565 แล้วตามด้วยการพบกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่กรุงมอสโก

แน่นอนว่า หนึ่งในคำถามที่ผู้นำประเทศซึ่งกำลังจะหมดวาระต้องตอบบ่อยครั้ง คือ “แผนการชีวิตนับจากนี้” วิโดโดเคยกล่าวว่า จะเดินทางกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด คือ เมืองสุราการ์ตา ในจังหวัดชวากลาง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางชีวิตบนถนนสายการเมืองอันยาวนานของตัวเอง และอาจผันตัวไปเคลื่อนไหวเพื่อการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี วิโดโดทิ้งท้ายอย่างมีนัย และให้ทุกฝ่ายต้องกลับไปขบคิด ด้วยการกล่าวว่า “นั่นเป็นเพียงแผนการ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP