@@@@ วันที่ 6 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าเมลเบิร์น (Melbourne Convention and Exhibition Centre : MCEC) นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยผู้นำอาเซียน และนายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เข้าร่วมการประชุมเต็มคณะ ผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย (Leaders’ Plenary) ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ภายใต้หัวข้อ ‘ASEAN-Australia Cooperation under ASEAN’s Three Community Pillars’ บรรดาผู้นำ ต่างยินดีที่อาเซียนและออสเตรเลีย ร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย โดยออสเตรเลียนับเป็นประเทศแรก ที่ได้รับสถานะประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือให้ใกล้ชิดมากขึ้น จนนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) พร้อมเสนอให้ที่ประชุม ใช้โอกาสที่สถานการณ์โลกปัจจุบัน แบ่งเป็นหลายขั้ว กระชับความร่วมมือทั้งภายในภูมิภาคและระดับโลก เพื่อนำมาซึ่งสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองของอาเซียนและออสเตรเลีย ผ่านการผลักดันความร่วมมือ …………………….. นายกรัฐมนตรี ระบุ 2 ประเด็นเร่งด่วนซึ่งจะทำให้เกิดสันติสุข และความมั่นคง ดังนี้ ประการแรก การส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในทุกมิติ (seamless connectivity) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาเซียนและออสเตรเลียได้ใช้ประโยชน์จากศักยภาพอย่างเต็มที่ ผ่านการสนับสนุนความเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ ดังนี้ 1.ความเชื่อมโยงการค้าและด้านการลงทุน ซึ่งจะส่งเสริมมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน ผ่านการเชื่อมโยงตลาดการค้าและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งกรอบ RCEP และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Area: AANZFTA) 2.ความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการขนส่งอย่างไร้รอยต่อ โดยเสนอให้ออสเตรเลียซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านระบบการจัดการท่าเรือ กระชับความร่วมมือกับอาเซียน ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาเอกสารแนวทางสำหรับท่าเรืออัจฉริยะ (Guidelines on Smart Ports) รวมทั้งเชิญชวนออสเตรเลียเข้ามาร่วมลงทุนใน โครงการ Landbridge EEC ระบบขนส่งทางราง และสนามบินด้วย 3.ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล ผ่านการลงทุนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันอาเซียนกำลังพัฒนากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Economy Framework Agreement: DEFA) ที่ถือเป็นกรอบข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลฉบับแรกของโลก และคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนได้ 2 เท่า เป็น 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมหวังว่าออสเตรเลียจะใช้ข้อริเริ่มออสเตรเลียสำหรับอาเซียน (Aus4ASEAN) เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล และการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของอาเซียนในอนาคตด้วย 4.ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ด้วย Soft power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (creative industries) ต้องการการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ควบคู่กับการส่งเสริมการไปมาหาสู่ระหว่างกันของประชาชน ซึ่งไทยหวังว่าทุนจากออสเตรเลียที่มอบให้นักเรียนในอาเซียน และการจัดตั้งศูนย์ ASEAN – Australia จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม และการอบรมเพิ่มพูนทักษะ ระหว่างกันมากยิ่งขึ้น รวมทั้งหวังว่าออสเตรเลียจะอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าให้กับประเทศในอาเซียน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการดำเนินธุรกิจระหว่างกันให้สะดวกมากยิ่งขึ้น ………………………. ประการที่สอง การส่งเสริมวาระสีเขียวในภูมิภาค โดยสนับสนุนการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งออสเตรเลียสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับอาเซียน ในการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า การลงทุนในพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน การเงินสีเขียวผ่านพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน และการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหวังว่าออสเตรเลียจะร่วมแบ่งปันเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการจัดการคาร์บอน และตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อรองรับยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (The ASEAN Strategy for Carbon Neutrality) ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียังแสดงเจตนารมณ์ ที่จะร่วมมือกับทุกฝ่าย ในการกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน เพื่อมุ่งไปสู่ภูมิภาคที่เชื่อมโยงและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นในอนาคต ………………… ขณะที่นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการพบหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และดาโต๊ะ เซอรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยไทยได้ผลักดันความร่วมมือด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยงในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การค้า การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ตลอดจนได้หารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือกับ สปป.ลาว ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ………………….. นอกจากนี้ ในช่วงการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทเอกชนชั้นนำของออสเตรเลีย 6 ราย ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ได้แก่ (1) Fortescue บริษัทด้านเหมืองแร่และพลังงานสีเขียว (2) Linfox บริษัทด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ (3) Redflow บริษัทด้านระบบกักเก็บพลังงานจากสังกะสีและโบรมีน (4) ANCA บริษัทด้านการพัฒนา software (5) NextDC บริษัทด้าน data solutions และ (6) กองทุน Hesta ซึ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยได้เชิญชวนให้บริษัทและกองทุนดังกล่าวเข้ามาลงทุนในไทยในสาขาที่เกี่ยวข้อง ขยายการลงทุนสำหรับบริษัทที่มีการลงทุนในไทยแล้ว ตลอดจนพิจารณาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการลงทุน ซึ่งรวมถึงโครงการ Landbridge

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมเต็มคณะผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย (Leaders’ Plenary) ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ภายใต้หัวข้อ ‘ASEAN-Australia Cooperation under ASEAN’s Three Community Pillars’ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567

@@@@ วันที่ 5 มีนาคม 2567 เวลา 11.50 น. ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าเมลเบิร์น (Melbourne Convention and Exhibition Center : MCEC) นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือทวิภาคีกับ นายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้พบ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียอีกครั้ง นับตั้งแต่ช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 เมื่อปี 2566 รวมถึงยังเป็นโอกาสในการต่อยอด จาการเยือนประเทศไทยของ พลเอกเดวิด เฮอร์ลีย์ ผู้สำเร็จราชการแห่งออสเตรเลีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ไทยพร้อมสานต่อความร่วมมือตามแผนปฏิบัติการร่วม ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ตลอดจนสาขาที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพร่วมกัน อาทิ การส่งเสริมการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยนายกฯ ได้กล่าวเชิญนายกฯ ออสเตรเลีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ด้วย ซึ่งเชื่อมั่นว่าการมาเยือนจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้านนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เชื่อมั่นว่า ทั้งสองประเทศเป็นมิตรประเทศที่ดีร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ไทยถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของออสเตรเลีย ……………………… สำหรับการหารือกับผู้นำออสเตรเลียนั้น ได้พูดคุยเรื่องการสนับสนุนการนำเข้าแรงงานไทยมาทำงานด้านการเกษตรที่ออสเตรเลีย และได้ขอบคุณที่ออสเตรเลียที่ดูแลนักเรียนไทยอย่างต่อเนื่องมาตลอด โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้ ด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เห็นพ้องในการส่งเสริมการค้าทวิภาคี โดยเฉพาะการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) ซึ่งเติบโตมากถึงร้อยละ 186 โดยจะปรับปรุงความตกลงให้ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันมากขึ้น โดยนายกฯ เน้นย้ำว่า ไทยมีจุดเด่นในการเป็นศูนย์กลางความมั่นคงด้านอาหารและผลิตภัณฑ์ การแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ (medical and wellness) รวมทั้งมีโครงการ Landbridge ที่สำคัญต่อการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างเอเชียตะวันออกและมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไทยให้ความสนใจที่จะส่งเสริมการลงทุนและเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากออสเตรเลียในด้านเกษตรกรรม พลังงานสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอัจฉริยะ …………………… ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยคำนึงถึงร่างกฎหมายกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ (New Vehicle Efficiency Standard: NVES) ของรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกรถยนต์ไปยังออสเตรเลียมากกว่า 200,000 คันต่อปี และมีรถกระบะเป็นสินค้าส่งออกหลัก โดยนายกฯ ได้ขอให้นำมาตรฐานใหม่ไปใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกมีเวลาในการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นด้านสิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน ………………… ด้านการท่องเที่ยวและการศึกษา นายกฯ พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว การจัดทำ MoU ด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเสนอแนะให้มีการส่งเสริมเที่ยวบินตรงระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนโควตา Work and Holiday Visa ไทย-ออสเตรเลีย ขณะที่ด้านการศึกษา นายกฯ ยินดีส่งเสริมการตั้งสาขาของสถาบันการศึกษาออสเตรเลียในไทย ส่งเสริมหลักสูตรอาชีวศึกษา โดยเน้นการแลกเปลี่ยนบุคลากรและร่วมพัฒนาหลักสูตร รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราระหว่างกันเพื่อตอบโจทย์ความร่วมมือทางการศึกษา ……………………… ด้านความมั่นคงและด้านแรงงาน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการทหาร และ พัฒนาบุคลากรทางการทหารระหว่างกัน รวมทั้งยินดีกับความร่วมมือภายใต้โครงการ ASEAN-Australia Counter Trafficking (ASEAN-ACT) และการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ขณะที่ด้านแรงงาน นายกฯ พร้อมอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานของทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงกลุ่ม digital nomads จากออสเตรเลียมาไทย และแรงงานจากไทยไปออสเตรเลียที่ขาดแคลน ขณะเดียวกันได้เสนอให้ออสเตรเลียพิจารณาถึงการจ้างงานชั่วคราวของเกษตรกรชาวไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งอาจริเริ่มเป็นโครงการนำร่องหรือแต่ละพื้นที่ที่มีความต้องการแรงงานได้ …………………… ด้านความร่วมมือพหุภาคี นายกฯ กล่าวว่า ออสเตรเลียสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และสามารถร่วมมือกับอนุภูมิภาคฯ ในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายสนใจและสอดคล้องกับบริบทร่วมกันได้ โดยไทยพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดในการดำเนินการตามแผนพัฒนาร่วมระหว่างออสเตรเลียและ ACMECS เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืนในอนุภูมิภาค

นายกรัฐมนตรีพบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ไทยพร้อมสานต่อความร่วมมือตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ได้พูดคุยเรื่องการสนับสนุนการนำเข้าแรงงานไทยมาทำงานด้านการเกษตรที่ออสเตรเลีย

@@@@ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือทวิภาคีกับนายคริสโตเฟอร์ ลักซอน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ ณ นครเมลเบิร์น

ทั้งสองยินดีต่อพลวัตของความสัมพันธ์และเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะการค้าและการลงทุนภายใต้ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ไทย – นิวซีแลนด์ และในสาขาที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ อาทิเทคโนโลยีการเกษตร การศึกษา การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในกรอบพหุภาคีและแลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นภูมิภาคและสถานการณ์โลก นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์จะเดินทางเยือนประเทศไทยในเดือนเมษายนนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมพลวัตแก่ความสัมพันธ์ทวิภาคี

นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือทวิภาคีกับ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ ณ นครเมลเบิร์น ทั้งสองยินดีต่อพลวัตของความสัมพันธ์และเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะการค้าและการลงทุน

@@@@ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ ในห้วงการเดินทางเยือนนครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย เพื่อเข้าร่วมการประชุม สุดยอดอาเซียน – ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ ได้เยี่ยมชมบริษัทโตโยต้า ออสเตรเลีย และพบหารือกับประธานและผู้บริหารของบริษัทฯ เกี่ยวกับแนวทางการแลกเปลี่ยนทาง การค้าและการลงทุนในภาคธุรกิจรถยนต์ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย รวมถึงศึกษาเกี่ยวกับนวัตกรรมรถยนต์ พลังงานไฮโดรเจน …………………… ในวันเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เยี่ยมช้างไทย ณ สวนสัตว์ นครเมลเบิร์น ซึ่งเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและเครือรัฐออสเตรเลีย โดยช้างไทย 3 เชือก ได้รับการดูแลอย่างดีจากสวนสัตว์นครเมลเบิร์นตั้งแต่ปี 2549 และปัจจุบันได้ขยายพันธุ์เป็น 8 เชือก ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยินดีที่ช้างไทยมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีพื้นที่อาศัยที่กว้างขวางและเป็นสัดส่วนในสวนสัตว์นครเมลเบิร์น

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยี่ยมชมบริษัทโตโยต้าออสเตรเลียและเยี่ยมช้างไทยที่สวนสัตว์นครเมลเบิร์น ในห้วงการเดินทางเยือนนครเมลเบิร์น เพื่อเข้าร่วมการประชุม สุดยอดอาเซียน – ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567

 @@@@ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือทวิภาคีกับนางสาว Penny Wong รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ เครือรัฐออสเตรเลีย ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน – ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองที่ทั้งสองฝ่ายได้พบหารือกัน หลังจากการพบหารือทวิภาคีครั้งแรกในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA78) เมื่อเดือนกันยายน 2566 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในโอกาสเดียวกันนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือเกี่ยวกับภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับเครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งมีความพิเศษและใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสที่ พลเอก เดวิด เฮอร์ลีย์ ผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลียและภริยา เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล เมื่อวันที่ 13-17 กุมภาพันธ์ 2567 …………………. นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ยินดีและเห็นพ้องที่จะสานต่อพลวัตความร่วมมือที่ครอบคลุมและสร้างสรรค์ระหว่างกันในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมถึงความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA) ที่จะครบรอบ ๒๐ ปีของการบังคับใช้ในปี ๒๕๖๘ ตลอดจนความร่วมมือในสาขาธุรกิจเป้าหมายต่าง ๆ ที่ประเทศไทยและเครือรัฐออสเตรเลียให้ความสำคัญและประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า และการเกษตรแม่นยำ ……………….. ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีที่สำคัญอื่น ๆ อาทิ ความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์และความมั่นคงทางไซเบอร์ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา การเคลื่อนย้ายแรงงานในภาคการเกษตร และข้อริเริ่มของรัฐบาลออสเตรเลียที่จะกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ใหม่ รวมถึงความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และอาเซียน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาค โดยเฉพาะสถานการณ์ในเมียนมาและบทบาทของอาเซียนในการสนับสนุนให้เมียนมามีสันติภาพและเสถียรภาพ รวมถึงข้อริเริ่มของประเทศไทยในการยกระดับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา การพบหารือในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยและเครือรัฐออสเตรเลียที่จะส่งเสริมและสานต่อพลวัตความสัมพันธ์ให้มีความใกล้ชิดและสร้างสรรค์ เพื่อนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง สันติภาพ และความมั่นคงในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และในระดับโลกต่อไป         

รองนายกรัฐมนตรี พบหารือทวิภาคีกับนางสาว Penny Wong รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองที่ทั้งสองฝ่ายได้พบหารือกัน หลังจากการพบครั้งแรกในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA78) เมื่อเดือนกันยายน 2566

ไตรภพ ซิดนีย์