อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมที่ “ก็ต้องทบทวน-ทำให้ถูกวิธี” คือปัญหากรณี “กระบวนการช่วยเหลือเยียวยาที่ไม่เข้าใจ-ไม่เหมาะสม” ที่อาจ “ยิ่งทำให้เหยื่อทางเพศเกิดความรู้สึกแย่มากขึ้น” ดังนั้นทั้งครอบครัว คนใกล้ชิด เจ้าหน้าที่ จำเป็นจะ “ต้องรู้หลัก-ต้องรู้วิธีปลอบเหยื่อทางเพศ” เพื่อที่จะ “ไม่ให้เหยื่อรู้สึกเหมือนถูกกระทำซ้ำซ้อน!!”…

ต้อง “ปฏิบัติต่อเหยื่อทางเพศเช่นไร?”

มีแนวทาง “มีหลักวิธีเรื่องนี้อย่างไร?”

ก็ “มีคู่มือปลอบเหยื่อ” ที่น่าพิจารณา

ทั้งนี้ การ “ปลอบใจเหยื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ” นั้น เรื่องนี้ “มีเส้นของความเปราะบาง” ที่คนรอบข้าง ผู้ใกล้ชิดเหยื่อ รวมถึงเจ้าหน้าที่ จะต้องระมัดระวังให้มาก เพราะถึงแม้จะตั้งใจดี เจตนาดี แต่บางครั้ง “คำพูด-ประโยค” ที่นำมาใช้ ก็ “อาจกลายเป็นดาบสองคม” ได้ โดยวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอสะท้อนต่อคำแนะนำเรื่องนี้ ซึ่งมีข้อมูลน่าสนใจเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์ littlesiscare.com ที่ให้ “แนวทางปลอบใจเหยื่อ” ไว้ ผ่านบทความ “จะแนะนำคนที่ถูกล่วงละเมิดอย่างไร?”

ในบทความ-ในเว็บไซต์ดังกล่าวได้มีการให้แนวทางเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า… สำหรับ “มุมของเหยื่อ” ที่ถูกล่วงละเมิดนั้น สิ่งที่แย่ที่สุดอาจไม่ใช่การถูกล่วงละเมิด…แต่อาจเป็นคำพูดของคนรอบข้างที่ไม่เข้าใจ!! ซึ่งคำพูดบางคำพูดนั้นถึงแม้ว่าผู้พูดจะมีเจตนาต้องการปลอบใจ แต่บางครั้งก็ยังใช้อย่างไม่ถูกต้อง ดังนั้น คำถามที่ตามมาก็คือ…เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้น “แล้วควรทำอย่างไร?-ควรพูดอย่างไร?” เพื่อที่จะเป็นการ “ปลอบใจได้อย่างถูกต้อง” ซึ่งคำตอบก็จะแบ่งออกเป็น “3 หัวข้อที่ไม่ควรทำ-ควรทำ” นั่นก็คือ… 1.อะไรคือสิ่งที่ไม่ควรพูด?, 2.พูดอะไรได้บ้าง?, 3.ควรแนะนำเหยื่อเช่นไร?

คำแนะนำ” สำหรับผู้ที่ใกล้ชิดเหยื่อ ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวระบุไว้ว่า… คำพูด-ประโยคที่ “ไม่ควรใช้” โดยเฉพาะถ้าอยู่ในฐานะพ่อแม่ หรือแฟน ก็อย่างเช่น…ทำไมประมาท, ทำไมไม่ระวังตัว, ทำไมไม่รู้จักฟัง, ทำไมไม่ต่อสู้, ทำไมแต่งตัวแบบนี้ หรือ…ที่ขึ้นต้นด้วย “ทำไม” ทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาจจะมีมุมมองที่แตกต่างจากผู้ที่ต้องการปลอบใจ…

“เหยื่อ” มักจะ “มีคำที่ไม่อยากได้ยิน!!”

เนื่องเพราะสถานการณ์ในขณะนั้นไม่ใช่เวลาที่ควรจะพยายามมองโลกในแง่ดี ดังนั้น ผู้ที่ต้องการปลอบใจเหยื่อ การใช้คำพูด-ประโยค “ไม่ควรพยายามทำให้เห็นในแง่ดี” อาทิเช่น…ถือเป็นประสบการณ์นะ, เพราะสวยก็เลยโดน เป็นต้นซึ่งการบังคับให้เหยื่อต้องฟังคำพูด ประโยค ในลักษณะนี้ซ้ำ ๆ นั้น ไม่เพียงไม่ช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่ยังทำให้เหยื่อเกิดความรู้สึกว่า…คนรอบข้างไม่เข้าใจอะไรเลย!! และต่อมาคือ… “ไม่ควรถามเพราะความอยากรู้อยากเห็น” เช่น… เหตุการณ์เป็นยังไง เพราะอะไร ใครทำ ถูกทำที่ไหน ถูกทำเมื่อไหร่ ซึ่งจำเป็นต้องระมัดระวัง โดยควรถามในจังหวะที่เหยื่อพร้อมจะเล่า…

นี่คือ “สิ่งที่ไม่ควรทำ-คำที่ไม่ควรใช้”

ที่ผู้ปลอบใจเหยื่อต้องระวังให้มาก!!

ทั้งนี้ “แล้วจะพูดปลอบใจอะไรได้บ้าง?”… ในบทความ-ใน เว็บไซต์ littlesiscare.com ได้แนะนำไว้ว่า… สิ่งที่ผู้ต้องการปลอบเหยื่อควรทำคือ “ตั้งสติ เงียบ แล้วฟัง” เพื่อแสดงให้รู้ว่าเรากำลังรับฟังอย่างตั้งใจ จากนั้นจึงค่อย ๆ ปลอบใจ โดย เริ่มจาก “บทสนทนาที่ชี้ว่าไม่ใช่ความผิดของเหยื่อ” ซึ่งบางคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอาจจะมีคำตำหนิตัวเองขึ้นมาในหัว ดังนั้น ผู้ที่ปลอบใจเหยื่อจึงควรชี้ให้เห็นว่า…ไม่ใช่ความผิดของเหยื่อ แม้จะแต่งตัวแบบไหน แม้จะเมา หรือแม้จะไปอยู่ในห้องใครก็ตาม การล่วงละเมิดทางเพศก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น คนที่ผิดคือคนที่กระทำล่วงละเมิดต่างหาก…ไม่ใช่เหยื่อ

นี่คือ “สิ่งควรทำ” แนวทางที่เหมาะสม

ที่จะใช้ “ปลอบใจเหยื่อถูกล่วงละเมิด”

สำหรับ “คำแนะนำที่ควรให้กับเหยื่อ” ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งที่ควรแนะนำให้เหยื่อทำมีดังนี้คือ… อย่าเพิ่งอาบน้ำหรือเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อที่จะเก็บหลักฐานบนร่างกายให้ได้มากที่สุด โดยที่ต้องแนะนำเช่นนี้ก็เนื่องจากเหยื่อที่ผ่านเหตุการณ์มาจะรู้สึกสกปรก อยากชำระล้างให้เร็วที่สุด, รีบไปโรงพยาบาล เพื่อรับการดูแลจากแพทย์ ทั้งเพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ป้องกันการตั้งท้อง และเก็บหลักฐานเพื่อใช้ดำเนินคดี แม้จะยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องดำเนินคดีก็ตาม

คำแนะนำถัดมาคือ…ไปสถานีตำรวจ ในพื้นที่เกิดเหตุ หรือถ้าไม่รู้ก็ให้ไปสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด เพื่อแจ้งความ หรือลงบันทึกประจำวัน แล้วแต่รายละเอียดในแต่ละราย และสุดท้าย… หากยังสับสน ไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี จะไปหาหมอก็ยังไม่พร้อม หรือจะไปหาตำรวจก็ยังไม่กล้า ถ้าเกิดกรณีนี้ สิ่งที่ควรแนะนำให้เหยื่อทำก็คือให้ลอง ติดต่อศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC สายด่วน 1300เหล่านี้คือ “สิ่งที่ควรแนะนำเหยื่อ” ที่ถูก “ล่วงละเมิดทางเพศ” …ซึ่งปัจจุบัน “ปัญหานี้ดูจะยิ่งลุกลาม”…

“เหยื่อ” นั้น “มีตั้งแต่วัยชราจนถึงเด็ก”

“เป็นปัญหาที่ไม่เล็ก” ที่ “ต้องเท่าทัน”

โดยที่ “ใส่ใจป้องกัน…ย่อมดีที่สุด!!”.