การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 10 เม.ย. 67 นี้ มีการคาดการณ์จากสำนักวิจัยเศรษฐกิจว่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาแตะระดับ 2.25% จากปัจจุบัน 2.50%

“ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย” ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 10 เม.ย. นี้ คาดว่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.50% เหลือ 2.25% จากศักยภาพทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีโอกาสปรับลดอีกครั้งในปีนี้อีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี 67 จะอยู่ที่ 2% ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ย มีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบของกำลังซื้อที่ต่ำ เนื่องจากการจ่ายเงินงบประมาณที่ล่าช้า

“ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์” คาดการณ์ที่ประชุม กนง. วันที่ 10 เม.ย. นี้ จะลดดอกเบี้ย 0.25% และลดอีกครั้งเดือน มิ.ย. นี้อีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปี 67 จะอยู่ที่ 2% โดยมองว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2% ในครึ่งแรกของปีนี้ เพื่อรักษาบทบาทนโยบายการเงินที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจไว้เช่นเดิม เนื่องจากหากคำนึงถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีนัยต่อระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมในปัจจุบัน จะพบว่าดอกเบี้ยเป็นกลางของไทยปรับต่ำลงมาอยู่ที่ 2.1% จากเดิม 2.5%

“การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการรักษาจุดยืนเดิมของนโยบายการเงินที่ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจและช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวที่ต่ำลงได้อย่างยั่งยืนแล้ว จะยังมีผลช่วยบรรเทาภาระหนี้สูงเพิ่มเติม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและครัวเรือนเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่น รวมถึงช่วยเพิ่มปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของไทยท่ามกลางแรงส่งภาครัฐที่ยังติดขัดในปีนี้ได้อีกทาง”

“กรุงไทย คอมพาส” ประเมินอัตราเงินเฟ้อทั้งปีมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ จะหนุนให้ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ลง 2 ครั้งติดต่อกันสู่ระดับ 2% แม้อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างมีแนวโน้มกลับมาเป็นบวกในไตรมาสที่ 2 แต่คาดว่าทั้งปีเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ต่ำกว่า 1% ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงยังมีน้อย โดยประเมินว่า กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 10 เม.ย. นี้ และวันที่ 12 มิ.ย. 67 เพื่อประคองเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าระดับศักยภาพในอดีตที่ 3%