เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ เขตตลิ่งชัน ศาลฯ นัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อท 206/2566 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 โจทก์ กับ พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ หรือเกียรติ สมสุข ที่ 1 กับพวก รวม 23 คน เป็นจำเลย โดยในคดี จำเลยที่ 1-16 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ถูกฟ้องฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ส่วนจำเลยที่ 17-23 เป็นราษฎร เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน

กรณีนายธนัญชัย หมั่นมาก หรือหน่อง ท่าผา ลูกน้องคนสนิท ใช้อาวุธปืนขนาด 9 มม. ยิงพันตำรวจตรีศิวกร สายบัว หรือสารวัตรแบงค์ สารวัตรประจำสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง จำนวน 4 นัด จนถึงแก่ความตายขณะนำส่งโรงพยาบาลนครปฐม กระสุนปืนพลาดเลยไปถูกพันตำรวจโทวศิน พันปี รองผู้กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ต่อมานายหน่องเองก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปจับกุม และถูกวิสามัญฆาตกรรม

โดยศาลใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง อ่านคำพิพากษาจึงแล้วเสร็จ

โดยพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 184 ประกอบมาตรา 84, มาตรา 200 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, มาตรา 189 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 200 จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, มาตรา 184 ประกอบมาตรา 84, มาตรา 189 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 200 จำเลยที่ 4, 6-16 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ที่ 15 และที่ 16 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 จำเลยที่ 17 ถึงที่ 21 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86, มาตรา 184 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 22 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 จำเลยที่ 23 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86, มาตรา 184 ประกอบมาตรา 84 และจำเลยที่ 17 ถึงที่ 23 มีความผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

แม้การกระทำของจำเลยที่ 1-3 และที่ 5 ดังกล่าวจะเป็นการกระทำหลายอย่าง แต่ก็ด้วยเจตนาอันเดียวคือเพื่อช่วยเหลือมิให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษ และเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยที่ 1-3 และที่ 5 จึงเป็นกรรมเดียว ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 4, 6-13, 15-16 ถึงที่ 23 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งมีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 และที่ 15 และที่ 16 ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 172 และลงโทษจำเลยที่ 17 ถึงที่ 23 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

เมื่อพิเคราะห์ตามพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยแต่ละคนแล้ว เห็นสมควรกำหนดโทษรายบุคคลให้เหมาะสมแห่งการกระทำ คือ จำเลยที่ 1-3 และที่ 5 จำคุกคนละ 3 ปี

จำเลยที่ 4, 6-13, 15 -23 จำคุกคนละ 2 ปี และเฉพาะจำเลยที่ 9-11, 19-20, 23 ให้ปรับคนละ 60,000 บาท ด้วย

เพิ่มโทษจำเลยที่ 21 หนึ่งในสามตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 2 ปี 8 เดือน

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 ที่ 15 และที่ 16 เข้าช่วยเหลือผู้ตาย และ/หรือผู้บาดเจ็บ ตามแต่กรณี และจำเลยที่ 1-16 ปฏิบัติราชการมีผลงานและคุณความดีมาก่อน ทั้งคำให้การในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา

ส่วนจำเลยที่ 17 ถึงที่ 21 และที่ 23 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน จึงมีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้จำเลยที่ 1-13 จำเลยที่ 15-21 และที่ 23 คนละหนึ่งในสาม

ส่วนจำเลยที่ 22 ให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีตลอดมาจึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษ

คงจำคุกจำเลยที่ 1-3 และที่ 5 คนละ 2 ปี คงจำคุกจำเลยที่ 4, 6-13, ที่ 15-20 และที่ 23 คนละ 1 ปี 4 เดือน และเฉพาะส่วนจำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 ที่ 19 ที่ 20 และที่ 23 คงให้ปรับคนละ 40,000 บาท ด้วย จำเลยที่ 21 คงจำคุก 1 ปี 9 เดือน 10 วัน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 ที่ 19 ที่ 20 และที่ 23 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อศาลคำนึงถึงอายุขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 9 อายุ 27 ปี จำเลยที่ 10 เพียงอายุ 21 ปี จำเลยที่ 11 อายุเพียง 23 ปี จำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 ประวัติเพิ่งเข้ารับราชการตำรวจเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2565 ตำแหน่งพลสำรองสังกัดศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 7 จังหวัดนครปฐม การเรียนฝึกอบรมศึกษาในช่วงสถานการณ์ระบาดโรคโควิด-19 ผ่านระบบออนไลน์ไม่เต็มตามระบบ หลังจากจบการอบรมได้รับบรรจุแต่งตั้งมียศเป็นสิบตำรวจตรี ตำแหน่งผู้บังคับหมู่กองร้อยควบคุมฝูงชน กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2566 ก่อนเกิดเหตุประมาณสองเดือน ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าพนักงานตำรวจจราจร ไม่เคยทำงานด้านงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเลย

ส่วนจำเลยที่ 19-20 เป็นเพียงคนงานหรือลูกจ้างทำความสะอาด และส่วนจำเลยที่ 23 เป็นเพียงคนขับรถยนต์ของจำเลยที่ 22 กระทำผิดเป็นครั้งแรก เมื่อคำนึงถึงการศึกษาอบรม อาชีพ สิ่งแวดล้อมและสภาพการกระทำความผิดภายใต้สภาวการณ์ ทั้งไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ 9-11 ที่ 19-20 และที่ 23 ไว้ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 9-11 ที่ 19-20 และที่ 23 ไว้ภายในกำหนด 2 ปี ให้จำเลยที่ 9-11 ที่ 19-20 และที่ 23 ทำงานบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรและจำเลยยินยอมเป็นเวลา 30 ชั่วโมง ภายในระยะเวลาคุมประพฤติดังกล่าว หากจำเลยที่ 9-11 ที่ 19-20 และที่ 23 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และมาตรา 30

ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 14 และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

สำหรับรายชื่อจำเลยทั้งหมดประกอบด้วย
จำเลยที่ 1 พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ สมสุข
จำเลยที่ 2 ร.ต.ท.ประสาร รอดผล
จำเลยที่ 3 ร.ต.ท.นิมิตร สลิดกุล
จำเลยที่ 4 ร.ต.ท.ณรงค์ศักดิ์ แตงอำไพ
จำเลยที่ 5 ร.ต.ท.สรรเสริญ ศรีสวัสดิ์
จำเลยที่ 6 จ.ส.ต.พิสิฐ ชิวปรีชา
จำเลยที่ 7 ร.ต.อ.จตุรวิทย์ ชวาลเกียรติธนา
จำเลยที่ 8 ร.ต.อ.ประสมมาศ แสงสุขดี
จำเลยที่ 9 ส.ต.ต.สุทธิกานต์ แซ่ฮ้อ
จำเลยที่ 10 ส.ต.ต.สรรเสริญ ศรีอุบล
จำเลยที่ 11 ส.ต.ต.ธนทัต ท่าน้ำตื้น
จำเลยที่ 12 ร.ต.อ.นุชิต บรรณชัย
จำเลยที่ 13 ด.ต.ถนอมศักดิ์ มีศรี
จำเลยที่ 14 จ.ส.ต.อภิรักษ์ โรจน์พวง
จำเลยที่ 15 ร.ต.อ.ศิริชัย รูปสวย
จำเลยที่ 16 ร.ต.ท.สมโชค บัวไชย
จำเลยที่ 17 นายสนธยา สุดแน่น
จำเลยที่ 18 นายฐิตินันท์ อินทร์ต้นวงศ์
จำเลยที่ 19 นายนิวัติชัย ปั้นดา
จำเลยที่ 20 นายกฤษดา เหล่งดอนไพร
จำเลยที่ 21 นายชาตรี เขียวทับ
จำเลยที่ 22 นายประวีณ จันทร์คล้าย (กำนันนก)
จำเลยที่ 23 นายอาทิตย์ เก้าลิ้ม

ในส่วนคดีฆาตกรรม พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว หรือสารวัตรศิว หรือสารวัตรแบงค์ ทางอัยการสำนักงานคดีอาญาได้ยื่นฟ้อง กำนันนก ในความผิดฐานเป็นผู้ใช้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น และพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 60 มาตรา 84 มาตรา 288 ส่วนนายหน่อง ท่าผา ผู้ลงมือถูกวิสามัญเสียชีวิต ไปแล้วจึงจำหน่ายคดี.