“เดลินิวส์ออนไลน์” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นีท เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์” นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น นักจิตวิทยาพัฒนาองค์กร เจ้าของช่อง TikTok ชื่อ “Neatto.Chan นักวิจัยอนิเมะ” ที่จะมาบอกเราถึงการดูอนิเมะเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต

นีท จบการศึกษาป.ตรี และป.โท จิตวิทยา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเธอเป็นทั้งนักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น นักจิตวิทยาพัฒนาองค์กรเรื่อง soft skill และยังเป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้สอนวิชา “จิตวิทยาการจัดการ” โดยใช้ “มังงะ” และ “อนิเมะ” เป็นกรณีศึกษา และยังเป็นนักวิจัยอีกด้วย ซึ่งความสนใจของเธอคือ “จิตวิทยา x การ์ตูน” ได้ออกบทความวิจัยมาแล้วคือ ถอดบทเรียน: การศึกษา “ความสำเร็จและเติบโตของวัยรุ่น” ในมุมมองของจิตวิทยาพัฒนาการผ่านอนิเมะเรื่อง “กันดั้มแม่มดจากดาวพุธ”

นอกเหนือจากมุมสายงานอาจารย์ เธอยังทำช่อง TikTok ชื่อ “Neatto.Chan นักวิจัยอนิเมะ” วัตถุประสงค์คือ การพยายามสื่อสาร ชวนคนที่รักการ์ตูน มาเปิดมุมมอง การเข้าใจชีวิตผ่านการ์ตูน โดยเธอได้นำศาสตร์ทางจิตวิทยามาวิเคราะห์ เพื่อให้คนดู สามารถเข้าใจชีวิต เห็น How to ในการพัฒนาตนเอง เข้าใจความขัดแย้งของผู้คน ซึ่งเธอก็มี workshop เล็กๆ up skill ด้วย จิตวิทยาอนิเมะให้กับเยาวชนและบุคคลที่สนใจ ซึ่งเป็นกิจกรรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และได้รับการสนับสนุนเรื่องสถานที่จาก TK park

จิตวิทยาอนิเมะคืออะไร?

“หากจะให้พูดง่าย ๆ คือ “เรียนรู้ชีวิตด้วยตัวละครในอนิเมะ ผ่านหลักการทฤษฎีจิตวิทยา” ซึ่งต้องบอกว่าที่มาของสิ่งๆ นี้ไม่สั้นเลยนะคะ นีทต้องขอเล่าแบบนี้ก่อนค่ะว่า ในวัยที่ตนเองอายุเลขสามแบบกลางๆ เป้าหมายในชีวิตของนีทเริ่มไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เราเริ่มหันมามองเพื่อคนอื่นมากขึ้น เช่น ฉันจะทิ้งอะไรไว้ให้โลก หรือคนรุ่นหลังดี ตอนที่เราจากไปจะได้มีคนมากมายมาล้อมรอบ ฮ่าๆ จริงๆ ประโยคนี้หรือเป้าหมายนี้ก็ได้มาจากอนิเมะเรื่อง Jujutsu Kaisen มหาเวทย์ผนึกมาร คำพูดของปู่ที่พูดกับพระเอก อิตาโดริ ยูจิ ในตอนต้นเรื่องเลยค่ะว่า ‘จงช่วยเหลือผู้คน’ พอเราเริ่มรู้สึกและอยากทำแบบนั้น นีทเลยไปค้นว่า อะไรที่เราพอจะทำได้บ้าง โดยสิ่งหนึ่งที่นีทให้ความสนใจ และคิดว่าตรงกับอาชีพของตนเอง (นักจิตวิทยาพัฒนาองค์กร & นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น) มากๆ คือ well being หรือสุขภาพใจของคนนั่นเอง (ซึ่งเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายของ การพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals: SDGs)

โดยนีทต้องบอกก่อนนะคะว่า เป้าหมายเรื่องสุขภาพใจที่นีทให้ความสำคัญคือ การให้วัยรุ่นสามารถ up skill หรือสร้าง skill ที่จำเป็น เพื่อใช้ในการปรับตัว และแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ค่ะ

และพอเป้าหมายนีทคือแบบนี้ นีทก็ตั้งคำถามกับตนเองว่า แล้วจะใช้อะไรพูดคุยกับวัยรุ่น นีทคิดว่า มันต้องเป็นอะไรที่ไม่น่าเบื่อ สนุก เรียนรู้ได้ เลยนึกถึงพวก pop culture ค่ะ และ pop culture ที่นีทสนใจและติ่งหนักมา ก็คือ อนิเมะ ดังนั้น นีทจึงคิดว่า เอาล่ะ เราจะเอาอนิเมะมาเป็น case study ชวนน้อง ๆ มาพูดคุยกันว่า ทำไมตัวละครถึงทำแบบนี้ ทำไมเขาถึงรู้สึกแบบนี้ ฉากนี้สอนอะไรกับเราในการใช้ชีวิต ผ่านหลักการและทฤษฎีทางจิตวิทยาค่ะ”

ทำไมนีทถึงสนใจทางด้านจิตวิทยา?

“ตอนแรกต้องบอกว่า นีทไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองสนใจเรียกว่า จิตวิทยา จนกระทั่ง อาจาย์ฝึกสอนวิชาแนะแนว สมัยนีทอยู่ม. 3 มาสอนการเข้าใจตนเอง ในวิชาแนะแนว และเราก็ไปคุยกับอาจารย์ จนรู้ว่า อ้อๆ หนังสือที่เราชอบซื้อชอบอ่าน มันมีความจิตวิทยาอยู่นะ

คือต้องเล่าอย่างนี้ค่ะ ตอนม. 1 นีทไม่ได้สอบติดรร.ที่ ๆ บ้านหวังไว้ และมันมีคำพูดที่ติดอยู่ในใจ ทำให้เราไม่มั่นใจ หรือบางทีอาจจะไม่เห็นค่าในตนเองคือ ‘ดีใจที่มีที่เรียน แต่ไม่ได้ภูมิใจนะ’ ตอนนั้นก็ใจสลายสิค่ะ แต่ก็ไม่ได้รับมือได้ด้วยตนเองนะคะ จนกระทั่งมีเหตุการณ์หนึ่งคือ สมัยม. 2 จะมีการให้นักเรียนบันทึกการอ่าน โดยหนังสือต้องไม่ใช่หนังสือเรียน นีทก็กลุ้มสิค่ะ เราเลยต้องเข้าร้านหนังสือ ก็พยายามหาซื้อหนังสืออ่าน และเล่มแรกที่เราซื้อมาอ่านคือ ‘วันนี้อ่อนแอ และพรุ่งนี้ไม่ใช่’ ของปูปรุง สำนักพิมพ์ใยไหม และพออ่านเล่มนี้ มันทำให้เราเหมือนได้ Heal ตนเอง จากนั้นก็ซื้อหนังสือแนวนี้อ่าน รวมถึงหนังสือแปลด้วย เช่น วิกฤตคือโอกาส, เสียงสงบภายในใจ, 7 Habit ที่เป็นเวอร์ชั่นวัยรุ่น แต่แน่นอนค่ะว่า บางทีตอนวัยรุ่นเราก็อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจเนื้อหาในหนังสือทั้งหมด แต่พอดูการ์ตูนในบางฉาก เราก็บางอ้อ แบบเข้าใจเนื้อหาในหนังสือมากขึ้น เช่น บางครั้งคำนามธรรมอย่าง แข็งแกร่ง คืออะไรนะในหนังสือ แต่พอมาดูวิถีชีวิตของฮิปโป้ (พระเอกของอนิเมะ ก้าวแรกสู่สังเวียน) ที่ตั้งคำถามกับชีวิตว่า ‘ความแข็งแกร่งมันคืออะไร’ เราก็พอจะเก็ทมากขึ้น

และหากให้นีทสรุปความสนใจในจิตวิทยาประมาณเกือบ 20 ปี ที่อยู่กับจิตวิทยามาตั้งแต่ ม. 2 คือ จิตวิทยา ทำให้เราไม่กลัวที่จะมีคำถามกับตนเอง หรือมีคำถามกับเรื่องราวบนโลก ในคำถามที่ว่า ‘ทำไม’ เพราะจิตวิทยาจะค่อยๆ ช่วยเราหาคำตอบและทางออกอย่างเข้าใจ”

ชื่นชอบอนิเมะมาตั้งแต่เมื่อไหร่?

“อนิเมะนี่คือชอบมาตั้งแต่เด็กๆ เลยค่ะ เซเลอร์มูน โดราเอมอน มารุโกะ ชินจัง แต่อนิเมะที่ติดจริงๆ เรื่องแรก แบบดูตั้งแต่ต้นจนจบได้ คือ ‘เซนกิ จอมอสูรสองหน้า’ ค่ะ ถัดมาก็จะเป็นอนิเมะที่เราต้องซื้อของเล่นอย่าง ‘Let’s & go นักซิ่งสายฟ้า’ ภาคเร็ตสึและโก จากนั้นก็เข้ามาในโลกของมังงะ เรื่องแรกคือ ‘ยูกิโอ’ Yu Gi Oh (มุโต้ ยูกิ)”

อนิเมะในดวงใจ?

“โห มันมีหลายเรื่องมากเลยค่ะ ขอยกมาแบบ 7 เรื่องในดวงใจตอนนี้ก่อนนะคะ Mobile Suit Gundam THE WITCH FROM MERCURY, Ace of Diamond, แขนกลคนแปรธาตุ, K-On! เค-อง! ก๊วนดนตรีแป๋วแหวว, กินทามะ, Slam Dunk, บันทึกเรื่องราวจักรวรรดิเทียร์มูน”

คาแรกเตอร์ของตัวละครที่ชอบ?

“ฮ่าๆ ประมาณ 60% ตัวละครที่นีทชอบมักจะมีปม หรือเป็นตัวละครที่อาจจะนิสัยไม่ดีมาก่อน แล้วพอเราดูแล้ว เรารู้สึกว่าอยากให้ second change เธอจัง เช่น บาคุโก จาก My Hero Academia ที่ทำให้นีทรู้สึกว่า ‘เราควรมองใครสักคนที่หัวใจ ไม่ใช่รูปลักษณ์’ เพราะตัวตนของบาคุโกนั่น เป็นคนเลือดร้อน ปากร้าย ดูคบยาก แต่เพราะเขามุ่งที่จะเป็น Top Hero มากกว่าใคร และในวันที่เขาค่อยๆ ปรับปรุงตัวได้ นีทว่ามันเท่มากเลยค่ะ เพราะเราทุกคนก็คงมีมุมไม่น่ารัก ที่ต้องค่อยๆ ทำให้เราเป็นคนที่น่ารักขึ้น แต่อีก 40% ก็เป็นตัวละครเท่ๆ เป็นที่พึ่งของทุกคน (อาจจะมีปมเล็กน้อย) เพราะตัวละครเหล่านั้น คือภาพในอุดมคติของเราที่อยากเป็นค่ะ เช่น เรนโงคุ จากดาบพิฆาตอสูร คือแบบเท่ค่ะ และมีประโยคเท่ๆ ด้วย ‘จงใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิ ต่อให้ต้องเผชิญหน้ากับความอ่อนแอ และความขลาดกลัวของตนเอง จงปลุกไฟในตัว’ ยกมาแต่ผู้ชาย ผู้หญิงก็มีนะคะ เช่น น้องบจจิ จาก Bocchi The Rock สาวน้อยที่พยายามก้าวข้ามความกลัวของตนเอง เพื่อดึงศักยภาพของการเล่นกีต้าร์สุดเท่ออกมาต่อหน้าผู้ชม เพราะแท้จริงแล้วน้องเขาเล่นเก่งมาก”

ไอเดียการทำคอนเทนต์จิตวิทยาอนิเมะ เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร?

“เพราะเราใช้ชีวิตโดยมีหนังสือและอนิเมะเป็นคนสอนเรา มีคำคมจากตัวละครอนิเมะมา reframing ความคิดเรา เข้าใจเนื้อหาในหนังสือจิตวิทยา เพราะฉากต่างๆ จากอนิเมะ และแค่อยากเล่าให้คนอื่นฟัง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ม.ปลายแล้วค่ะ สมัยที่ยังมีนิตยสารเล่มโปรด แล้วเขาจะมีกิจกรรม ‘บ.ก. เยาวชนเล่มโปรด’ ที่นีทกับเพื่อนๆ ก็ส่งบทความไปลง นั่นคือ ‘ก้าวแรกสู่สังเวียน’ การ์ตูนที่ทำให้คุณ ‘ฮึด’ ต้องเรียกว่า นับ 1 โดยงานกลุ่ม นับ 2 ผ่านงานเดียว คือ สมัยมหาวิทยาลัย เราเขียนบทความที่ชื่อว่า ‘Gundam OO กับความจริงของสงคราม’ ซึ่งมันเป็นกิจกรรม คอลัมน์จากทางบ้านของนิตยสาร Animag

แต่กว่าจะนับสาม คือใช้เวลานานพอสมควร กว่าเราจะกลับมาเริ่มทำ คือ เป้าหมายในช่วงวัยเลข 3 เลยค่ะ ที่บอกไว้ตั้งแต่ตอนต้นการคุยกัน โดยเราก็เริ่มจากการทำช่อง TikTok Neatto.chan จากนั้นด้วยความที่เราเป็นนักจิตวิทยา และวิทยากรหรือ นักนำกระบวนการ เราจะรู้ว่าแค่พูดมันไม่พอ มันต้องสร้างให้เกิดห้อง workshop นีทเลยสร้างกิจกรรม workshop แบบไม่เสียเงิน โดยได้รับการสนับสนุนพื้นที่และกิจกรรมจากทาง TK Park ค่ะ ในชื่อกิจกรรมที่ว่า Anime x Psychology Hub ที่ชวนทุกคนมา Up skill ผ่านอนิเมะเรื่องที่ชอบ ก็จัดไปหลายเรื่องนะคะ เช่น Tokyo revengers, ดาบพิฆาตอสูร , Attack on TiTan และเรายังคงนับต่อไปเรื่อยๆ นีทมีโอกาสได้ไปสอนวิชา Gen-ed ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในวิชาที่ชื่อว่า ‘จิตวิทยาการจัดการ’ ซึ่งเป็นการสอนให้น้องๆ นักศึกษา เตรียมความพร้อมในการสร้างทักษะที่สำคัญ เพื่อพร้อมเป็นคนวัยทำงาน เช่น การสื่อสาร การตัดสินใจ การจัดการและบริหารความขัดแย้ง mindset ที่สำคัญในการทำงาน โดยนีทก็สอนจิตวิทยานี่แหละค่ะ แต่นำการ์ตูน มาเป็นกรณีศึกษา และสุดท้ายตอนนี้ ก็พยายามทำให้จิตวิทยาอนิเมะ กลายเป็นงานวิจัยค่ะ”

แต่บางทีอนิเมะก็มีความ Dark หรือความรุนแรง ในประเด็นนี้ นีท คิดอย่างไร?

“ใช่ค่ะ คือเรื่องนี้นีทยอมรับว่าจริง แต่ความ Dark หรือความรุนแรงในบางจุดที่เจอ มันไม่ได้ทำให้จุดดีๆ ของอนิเมะหมดไปนะคะ มันแค่ทำให้เราเห็นว่า สิ่งนี้มีทั้งบวกและลบค่ะ แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือ เราจะบริหารจัดการกับมันอย่างไร เช่น หากเราเจอฉากรุนแรง เราจะเข้าใจมันอย่างไร หรือบอกตนเองได้ว่า อะไรในนั้นที่ไม่ดี และไม่ควรทำ หรือเป็นข้อควรระวัง นีทว่าเมื่อดูแล้ว ต้องวิเคราะห์ต่อ”

หลังจากทำคอนเทนต์นี้ มีคนมาขอคำปรึกษาเยอะไหม?

“มีคนแวะมาคุยกันค่ะ เช่น พี่มองตัวละครนี้ว่าอย่างไร ทำไมคนนี้ถึงทำแบบนี้ ช่วยวิเคราะห์การกระทำของตัวละครนี้ให้หน่อยค่ะ”

มีคำแนะนำอย่างไรบ้าง กับคนที่กำลังเจอปัญหา และหาทางออกไม่ได้?

“นีทขอให้เทคนิค 4 เช็กล่ะกันนะคะ เช็กที่ 1 ปัญหาที่อยากจะแก้หรือต้องแก้คืออะไร เพราะนีทเชื่อว่า บางทีก้อนปัญหาที่เราเจอคือมันใหญ่มาก ถ้ามันใหญ่ก็ต้องค่อยๆ ทำทีละเรื่อง หรือบางทีการได้ recheck อาจทำให้มองเห็นว่า เราอาจจะระบุปัญหาผิดก็ได้ค่ะ

เช็กที่ 2 ระบุหน่อยค่ะว่า ระดับของปัญหามัน มาก ปานกลาง หรือ น้อย เพราะนีทเชื่อว่าปัญหาแต่ละเรื่อง มีระดับความยาก หรือความเครียดต่อเราไม่เท่ากัน ดังนั้นต้อง feel ระดับให้ได้ เพื่อค้นหาทางไปต่อ

เช็กที่ 3 ตอนนี้อยากเคลียร์อารมณ์ หรือแก้ปัญหาเลย คือการจัดการปัญหามี 2 แบบคือ emotional coping หรือ problem solving โดยบางครั้ง ถ้ามันเป็นเรื่องเล็กๆ อาจจะมุ่งแก้ปัญหาไปเลยก็ได้ แต่บางทีมันเป็นเรื่องใหญ่ หรือหนัก เราอาจจะจัดการหรือปรับอารมณ์ ปรับใจ ขอพักก่อน แล้วค่อยไปสู้ต่อก็ได้ค่ะ ดังนั้น ในการจัดการปัญหา นีทว่าเราออกแบบได้ค่ะ

เช็กที่ 4 follow up เป็นการลองมองดูค่ะว่า ตอนนี้การแก้ปัญหาของเรามาในทิศทางที่ดีขึ้นไหม ถ้ามันดีขึ้น และมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นเรื่อยๆ คือไปต่อ แต่ถ้ามันดูจะไม่ใช่ ลองกลับไประบุปัญหาใหม่ค่ะ”

อยากฝากอะไรถึงคนที่ชอบดูอนิเมะบ้าง?

“มาดูอนิเมะให้สนุก และเมื่อไหร่ที่ทุกข์ใจ ลองหาคำคมดีๆ จากอนิเมะเรื่องโปรดมา Heal ใจกันนะคะ”

หากใครที่อยากพูดคุยหรือปรึกษากับนีท ต้องทำอย่างไรบ้าง?

“ถ้าเป็นสายงานอนิเมะ แนะนำว่า เป็น TikTok นะคะ Neatto.Chan ส่วนถ้าเป็นสายงานวิชาการ การสอน การพัฒนาคน จิตวิทยาวัยรุ่นและคนทำงาน แนะนำเป็นเพจ FB Aj.Neat – Psychological Facilitator in Workplace

————————————-

2 ตัวละครสุดประทับใจที่ "นีท เบญจรัตน์" นักวิจัยอนิเมะ ได้วิเคราะห์ตัวละครอนิเมะเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการปรับใช้ในชีวิตของพวกเรากัน

“เคียวจูโร่ เรนโงคุ” เสาหลักเพลิงจาก ดาบพิฆาตอสูร Demon Slayer: Kimetsu no Yaiba

มีตัวละครตัวหนึ่งที่ นีท ค่อนข้างชอบมากๆ นั่นคือ เรนโงคุ แม้ว่าเขาจะเป็นตัวละครเท่ แต่ว่าไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ ทุกคนจะมีทั้งจุดที่เด่น และจุดอ่อนแอ จริงๆ คุณเรนโงคุ ถ้าเราไปย้อนดูดีๆ ก็มีจุดอ่อนแอของเขา นั่นคือครอบครัวเขาอาจจะไม่ค่อยอบอุ่น เพราะบางทีคุณพ่อเค้าก็ไม่ได้ยินดีกับเค้า อย่างตอนที่เขาได้เป็นเสาหลัก ถ้าเราวิเคราะห์ดูดี ๆ สิ่งที่เราเห็นก็คือ ทุกๆ คนไม่ว่าจะเก่งหรือไม่เก่ง มันจะมีจุดที่เราเสียใจ หรือเป็นจุดที่อ่อนแอ แล้วเราจะทํายังไงกับจุดที่มันอ่อนแอตรงนั้น คาแรกเตอร์หนึ่งที่นีทชอบของคุณเรนโงคุ คือเรนโงคุเป็นคนที่มองโลกแง่บวก ให้กําลังใจตัวเอง ในสถานการณ์แบบนั้น ตัวเองจะมองโลกในแง่บวกยังไง เพื่อให้ตัวเองสามารถก้าวต่อไปได้ มันคือคาแรกเตอร์หนึ่งที่ค่อนข้างสําคัญ แล้วสิ่งที่นีทค่อนข้างชอบในความเป็นคุณเรนโงคุ คือเขาไม่กดดันน้องชายเขา เหมือนให้อิสระในการเลือกกับน้องชายเขา สิ่งๆ นี้มันคือสิ่งที่ดีมากๆ เพราะว่าน้องชายเขาเองก็อาจจะลังเลว่า เขาอาจจะไม่ได้เก่งมากในการมาเป็นนักล่าอสูร แต่พี่ชายก็ให้กําลังใจ แล้วบอกน้องชายว่า จงเลือกทางเดินในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเลือก พอเราดูเราจะเห็น แล้วสามารถถอดแบบมา ถ้ารู้สึกว่าอะไรที่เป็นคาแรคเตอร์ดีกับเราอ่ะ เราก็ควรที่จะเก็บ แล้วก็นํามาใช้ ในเรื่องของการมองโลกแง่ดีค่ะ ในการเชียร์อัปคนอื่น ถ้าเราไปดูตอน ศึกรถไฟสู่นิรันดร์ เราจะเห็นเลยว่า ฉากที่คุณเรนโงคุกำลังจะตาย แล้วทันจิโร่หรือคนอื่น ๆ กำลังฟูมฟาย คุณเรนโงคุก็พูดประโยคให้กําลังใจกับทุกคนว่า ‘จงใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิ ต่อให้ต้องเผชิญหน้ากับความอ่อนแอ และความขลาดกลัวของตนเอง จงปลุกไฟในตัว’ มันคือสิ่งที่เขาพยายามส่งต่อให้กับรุ่นน้อง มันคือมุมมองหาเชิงบวก ต่อให้เราเศร้าอ่ะ มันเศร้าได้นะ แต่ว่าต่อให้เราเศร้าขนาดไหน สุดท้ายเราต้องกลับมาเผชิญหน้ากับมัน อันนี้มันคือคําดีๆ เป็นคําคมที่เราสามารถเรียนรู้ได้ผ่านการ์ตูนค่ะ

คําคมมันเป็นสิ่งที่ดี หรือแรงบันดาลใจมันเป็นสิ่งที่ดี ทําไมมนุษย์เราต้องมีแรงบันดาลใจในชีวิต แท้จริงแล้ว คําคมหรืองานวิจัย มันเอาไว้ reframing ความคิดของเรา คือบางครั้งเราไม่อยากทําแล้ว แต่พอเราไปอ่านคําคมอ่ะ พวกคําคมนั้นมันสามารถ reframing ความคิดของเราได้ การที่เรามีคําคม มันทําให้เราสามารถฮึดสู้ได้มากขึ้น แต่แน่นอนว่า คำคมก็เป็นเพียงคำคม คําคมอาจทำให้เรามีไฟลุกขึ้น มีอีโมชั่นดีขึ้น มีพลัง แต่ถ้าเราไม่แอ็คชั่น มันก็คงไม่เกิดอะไรขึ้น”
++++++++++

“มิสึอิ ฮิชาชิ” จาก Slam Dunk

“อีกตัวละครหนึ่งที่ทําให้ นีท ได้แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ก็คือคุณมิสึอิ ฮิชาชิ จาก Slam Dunk ผู้เล่นหมายเลข 14 ที่เขาเคยเป็น MVP ตอนม.ต้น แล้วตอนม. 4 เกิดบาดเจ็บ ก็เลยถอนตัวจากวงการไป

คีย์เวิร์ดที่สําคัญในการใช้ชีวิต หลายๆ ครั้งเวลาที่เราพูดถึงตัวแปร ๆ หนึ่งที่เป็นตัวแปรค่อนข้างดังในเชิงจิตวิทยา คือตัวแปร Grit ค่ะ ตัวแปร Grit หมายความว่า การที่คนเรามีแพชชั่นต่อสิ่ง ๆ นั้น และทำสิ่ง ๆ นั้นให้สำเร็จ แต่ แองเจลา ลี ดักเวิร์ด ที่เป็นเจ้าของทฤษฎี Grit พูดเอาไว้ว่า Grit is living life like it’s a marathon, not a sprint การใช้ชีวิตใน Grit มันคือมาราธอน มันไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น นั่นหมายความว่า บางทีชีวิตของเรามันคือการวิ่งระยะยาว ที่เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะจบ จนกว่าเราจะถึงเป้าหมาย แล้ว นีท รู้สึกว่าบางครั้งคนเราจะชอบพูดว่า ถ้าหากใครคนใดคนหนึ่งกําลังอยากจะล้มเลิกไป ใครคนใดคนหนึ่งเคยล้มเลิกไปแล้วอ่ะ แล้วไปบอกว่าคนๆ นี้เหมือนเป็นคนขี้แพ้ เป็นคนหนี แต่มันอาจจะต้องดูยาวๆ หรือเปล่าว่า สุดท้ายแล้วคนๆ นี้จะทิ้งสิ่ง ๆ นี้จริงๆ หรือว่าจะกลับมาลุกขึ้นสู้ ถ้าหากคนบางคนตัดสินใจที่จะทิ้งมันไปแล้วอ่ะ มันก็มองได้ 2 อย่าง หนึ่งคืออาจจะเป็นคนที่ยอมแพ้แล้วก็ได้ หรือสองมันไม่ใช่ก็เลยปล่อยไป แต่คนบางคนนะคะ มันอาจจะกลายเป็นว่า เราทิ้งมัน เพราะว่าเราอาจจะยังไม่พร้อม มันก็เหมือนเราทิ้งเพราะเรารู้สึกแพ้ เราอยากจะหนี แต่ว่าถ้าหากเรามีแพชชั่นมากเพียงพออ่ะค่ะ สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราทิ้งไป เราจะกลับขึ้นมาทวงมัน ดังนั้น วิถีชีวิตแบบนี้ ที่เราเคยทิ้งอะไรบางอย่าง เพราะเราเหนื่อย เราไม่ไหว เราไม่ใช่ แต่ถ้าสุดท้ายเราทําใจ พักเสร็จแล้ว รู้สึกว่า เฮ้ย.. ไอ้สิ่งๆ เนี้ย มันคือสิ่งที่เราชอบจริงๆ อะ แล้วเราวนกลับมาทํา นีทว่ามันก็เป็นความเท่อย่างหนึ่ง ความเท่เนี่ย คนที่สอนนีทมา ก็คือ มิสึอิ ฮิชาชิ เพราะเค้าก็เคยมองว่า การที่ตัวเองเป็นนักบาสเกตบอลรุกกี้ตัวดัง แต่เขาดันบาดเจ็บ มันเลยทําให้เขาทิ้งวงการบาสฯ เพราะว่าฝันของเขาไม่เป็นจริง เขาใช้เวลาประมาณปีครึ่งในการหลงทาง ไปเป็นนักเลง แต่สุดท้ายตอนปี 3 เขาก็ยังบอกกับทุกคนว่า เขาก็ยังอยากเล่นบาสฯ อยู่ บางครั้งคนเราทุกคน มันก็มีความสับสน ไม่แน่ใจ ลังเลใจ ไม่รู้ว่าจะทํายังไงกับชีวิต หรือบางทีเราอาจจะหนีไปแล้วก็ตาม แต่ถ้าใครดู มิสึอิ นีทก็อยากจะบอกว่า ไม่เป็นไรเลยค่ะ ที่เราอยากหนี ที่เราเคยทิ้งมันไปแล้วอ่ะ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่ามันใช่อ่ะ มันไม่มีอะไรบอกเราว่าไม่อนุญาตให้เราเก็บวันนั้นมาทําอีกครั้งหนึ่ง เนี่ยคือสิ่งที่นีทได้เรียนรู้จาก มิสึอิ ไม่ว่าคุณจะล้มกี่ครั้ง คุณจะเลิกไปแล้ว แต่ถ้ามันใช่ แค่กลับมาทํา เพราะโลกอนุญาตให้คุณทําสิ่งนั้นซ้ำได้เสมอ”

เรื่องและภาพ : วุฒิ พิศาลจำเริญ