เมื่อ “มิลลิ” ศิลปินหญิงไทย โชว์กินเมนูนี้สด ๆ บนเวทีคอนเสิร์ตระดับโลก จน “ข้าวเหนียวมะม่วง” เป็น “คำฮิตที่ทั่วโลกค้นหา” โดยแม่ค้าพ่อค้าก็ได้อานิสงส์ไม่น้อย และเมื่อเร็ว ๆ นี้เมนูหวานเมนูนี้ก็เป็นกระแสดังอีกครั้ง เมื่อทาง เว็บไซต์ขนมและอาหารระดับโลก อย่าง TasteAtlas ได้ประกาศว่าเมนูนี้ ติด 1 ใน 10 “Best Rated PUDDINGS in the World”  หรือ “พุดดิ้งที่ดีที่สุดในโลก” จากผลโหวตของนักชิมและนักวิจารณ์อาหารทั่วโลก ซึ่งกับการที่เมนูนี้ติดอันดับขนมที่ดีที่สุดในโลกนั้น…

ตอกย้ำความดัง “ข้าวเหนียวมะม่วง”

ที่ก่อนหน้าเคย “ดังเป็นไวรัลทั่วโลก”

และ “ก็น่าคิด…แล้วจากนี้จะยังไง??”

Ripe mango and sticky rice with coconut milk on wood plate on stone surface, Tropical fruit.  Dessert fruit. Thai sweet dessert on summer season.

เกี่ยวกับผลโหวตล่าสุด ที่นักชิมทั่วโลกยกให้ “ข้าวเหนียวมะม่วง” ติด 1 ใน 10 ขนมพุดดิ้งทำจากข้าวที่คนทั่วโลกชื่นชอบ นี้ เป็นส่วนหนึ่งจากกิจกรรมที่เว็บไซต์ขนมและอาหารชื่อดังระดับโลกได้มีการจัดทำขึ้น โดยให้นักชิมทั่วโลกจัดอันดับ ซึ่งปรากฏว่า…เมนูขนมของไทยชนิดนี้ได้คะแนนติดอันดับเข้ามาในลิสต์ด้วย โดยสามารถ คว้าอันดับ 4 พร้อมกันนี้ เว็บไซต์นี้ยังระบุถึงเมนูนี้ไว้ว่า เป็นพุดดิ้งข้าวแบบไทยโบราณ ทำจากข้าวเหนียวที่นึ่งก่อนแล้วราดด้วยกะทิเสิร์ฟคู่กับมะม่วงสุก โดยเป็นของหวานที่ได้รับความนิยม …นี่เป็นคำบรรยาย “ข้าวเหนียวมะม่วง” ที่ต่างชาติมองเป็น “พุดดิ้งข้าวแบบไทยสไตล์”

แน่นอน…ขนมไทยชนิดนี้อร่อยแน่ ๆ แต่…ในแง่ “ประโยชน์เชิงซอฟต์พาวเวอร์” นั้น…ก็ “ยังไม่ชัดนัก??” ซึ่งตอนที่ “มิลลิ” ศิลปินหญิงไทย ทำให้เกิดเป็นไวรัลไปทั่วโลก ถ้าจำไม่ผิดก็มีกระแสขึงขังว่าไทยจะผลักดัน…แต่พอผ่านไปไม่นานเท่าไหร่ “กระแสข้าวเหนียวมะม่วง” ที่หลายคน “หวังให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ฮิต” จู่ ๆ ก็ “เงียบไปดื้อ ๆ” จนล่าสุดมาดังใหม่ ซึ่ง…

Mango with Sticky Rice

ปุจฉา… “วันนี้มีใครต่อยอดอะไรมั้ย??”

ทั้งนี้ จากกระแส “ข้าวเหนียวมะม่วง”  ที่โด่งดัง เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ถ้าถามว่า… “ไทยน่าจะได้รับประโยชน์เช่นไรบ้าง??” ประเด็นนี้ก็มี “มุมสะท้อนน่าสนใจ” จากทาง ดร.วรพล อิทธิคเณศร หรือ “เชฟธอมัส” เจ้าของเพจ “ตำรับข้างวัง Truly Thai Recipes” ที่สะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… “จุดเด่น” ที่ทำให้ “ข้าวเหนียวมะม่วงดังระดับโลก” มาจากหลาย ๆ ปัจจัย คือ… ส่วนผสมที่ลงตัวกับรสชาติที่ส่งเสริมกัน ที่ทำให้มีความอร่อย ซึ่งข้าวเหนียวที่นุ่มกับกะทิที่มีรสหวานมัน เมื่อตักกินคู่มะม่วงสุกที่มีรสหวานมีกลิ่นหอม ก็ยิ่งเพิ่มอรรถรส ทำให้ผู้กินเกิดความรู้สึกประทับใจ, สีสันที่เป็นเอกลักษณ์ของผลไม้ไทย ที่เชิงจิตวิทยาของการใช้สีทำอาหารนั้น สีเหลืองอย่างสีมะม่วงสุก ผู้กินเห็นแล้วจะยิ่งช่วยทำให้รู้สึกสดชื่น

ปัจจัยต่อมา คุณสมบัติของข้าวเหนียว ที่ตัวข้าวเหนียวจะดูดซึมน้ำกะทิเอาไว้ จึงเป็นการเก็บความหวานไว้ที่ขนม ซึ่งถือว่า เป็นภูมิปัญญาการทำอาหารของคนไทย ที่ทำให้ต่างชาติสัมผัสได้ความพิถีพิถันและรสชาติทางวัฒนธรรม และอีกปัจจัย ประโยชน์ทางโภชนาการ ที่เมนูนี้ให้พลังงานได้ดี น้ำตาลธรรมชาติในมะม่วงร่างกายดูดซึมได้รวดเร็ว และถ้าเป็นเมืองหนาว ผู้ที่กินที่ได้รับไขมันธรรมชาติจากข้าวเหนียวและน้ำกะทิ จะรู้สึกว่าร่างกายอบอุ่น …เหล่านี้เป็น “จุดเด่น” ซึ่ง…

Fresh ripe mango and sticky rice with coconut milk on white surface

มีดียิ่งกว่ารสชาติ…มีประโยชน์ด้วย

ส่วน “ประโยชน์ของประเทศไทย” ที่จะได้รับจาก “ซอฟต์พาวเวอร์ข้าวเหนียวมะม่วง” นั้น ทางเชฟคนเดิมที่เป็นครูเชฟและเป็นอาจารย์ด้วย ชี้ว่า… ไทยน่าจะได้ประโยชน์หลายด้าน คือ… ด้านอุตสาหกรรมเกษตร เมื่อทั่วโลกชอบเมนูนี้ ก็จะกระตุ้นการส่งออก
มากขึ้น ซึ่งย่อมเป็นผลดีต่อเกษตรกร และภาคธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วย, ด้านวัฒนธรรม จากการที่คนทั่วโลกได้ซึมซับวัฒนธรรมการกินผ่านข้าวเหนียวมะม่วง กรณีนี้จะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากมาไทยเพื่อมาชิมข้าวเหนียวมะม่วงแบบออริจินัล รวมถึงอาจจะยิ่งอยากเรียนรู้วิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมไทย เพิ่มขึ้นตามมาด้วย

ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหาร ก็น่าจะได้ด้วย ซึ่งเมื่อมีการส่งออก ก็ย่อมต้องมีการถนอมอาหาร-การยืดอายุสินค้า เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะกระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารเข้ามาศึกษา หรือทำวิจัยต่อยอดเกี่ยวกับการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ด้านอาหาร และสุดท้ายคือ ด้านเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการใช้วัตถุดิบ ที่จะกระตุ้นวงจรธุรกิจอาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ …เหล่านี้เป็น “ประโยชน์”  ที่ “ไทยน่าจะได้รับจากกระแสข้าวเหนียวมะม่วงดัง”

ทั้งนี้ ดร.วรพล อิทธิคเณศร ยังระบุกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ด้วยว่า… นอกจาก “ข้าวเหนียวมะม่วง” แล้ว ยังมี “ขนมไทย” อีกหลายชนิดที่ “มีศักยภาพเพียงพอจะผลักดันให้ติดตลาดระดับโลก” ได้…ถ้าส่งเสริมจริงจัง ยกตัวอย่างเช่น… “ขนมหม้อแกง” สามารถใช้จุดขายความเป็น “คัสตาร์ดสไตล์ไทย” ได้ อีกทั้งเป็นขนมที่รสชาติกลาง ๆ เข้ากับผู้คนทั่วโลกได้ง่าย, “ข้าวต้มมัด” นี่ก็ผลิตส่งขายต่างประเทศได้ หรือ “ขนมทองม้วน” ขนมขบเคี้ยวที่ทำได้หลากหลายรสชาติ กินได้ทุกเพศทุกวัย ก็ง่ายต่อการผลิตส่งออก ส่วนในแง่ วัตถุดิบที่ไทยน่าส่งเสริมควบคู่ขนมไทย ทาง “เชฟธอมัส” บอกว่า… มองว่า “น้ำตาลไทย” ทั้งน้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าว “โดดเด่นที่สุด” เพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนแหล่งผลิตอื่น…

นี่เป็น “มุมมอง” กูรูอาหาร-ขนมไทย

กับ “สิ่งที่ไทยน่าจะได้รับจากขนม”

แต่ “จะได้แค่ไหน?…ก็ต้องรอดู?”.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่