ไทยจะก้าวหน้าเรื่อง “ความเท่าเทียม” อีกหนึ่งเรื่อง??… โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการประกาศเรื่องการ ’ปรับปรุงห้องน้ำในโรงเรียน“ เพื่อ ’ส่งเสริมความเท่าเทียม“ในโรงเรียน… ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวนี้เกี่ยวกับการที่ต่อจากนี้ไป “ห้องน้ำโรงเรียน” จะ ’ไม่มีการแบ่งแยก“ ระหว่าง “ครูนักเรียน” หรือนักเรียนสามารถใช้ห้องน้ำร่วมกับครูได้ โดยจากเรื่องนี้ก็เกิดเป็นกระแสและเสียงฮือฮาจากสังคมไทยไม่ใช่น้อย ๆ เลยทีเดียว!!…

แนวคิดเกี่ยวกับ “ห้องน้ำโรงเรียน”…
จะเป็นอีกเรื่อง “สิทธิความเท่าเทียม”
หรือเป็น ’ห้องน้ำแห่งความเท่าเทียม“

อย่างไรก็ตาม นอกจากกระแสฮือฮาจากสังคมไทยจากเรื่องนี้แล้ว กับกรณี “ห้องน้ำเท่าเทียม” นั้นก็นับว่า มีประเด็นที่น่าคิดต่อ?? ว่า… เรื่อง “ห้องน้ำเท่าเทียม” นี้…จะมีส่วนช่วยส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียมและการลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องอื่น ๆ ต่อไปได้ด้วยหรือไม่?-อย่างไร? ซึ่งกับประเด็นดังกล่าวนี้ก็มี “เสียงสะท้อน” จากทาง จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่ได้ให้มุมมองและความเห็นจากกรณีนี้กับทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้น่าคิด??…

ลองมาฟังเสียงสะท้อน-ดูมุมมอง ดังนี้…

ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สะท้อนมาว่า… การผลักดันให้เกิด ’ห้องน้ำเท่าเทียมในโรงเรียน“ ก็เป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์แน่นอน ซึ่งเห็นด้วยและสนับสนุน เพราะมองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากแนวคิดดังกล่าวนี้ อาทิ ในแง่ของสุขภาพ เพราะห้องน้ำเป็นเรื่องการ รองรับสุขอนามัย คนที่อยู่ในองค์กรนั้นด้วย ซึ่งในอดีตหากห้องน้ำเด็กนักเรียนชำรุด หรือมีสภาพไม่พร้อม เด็กก็อาจต้องทนเข้าห้องน้ำที่ชำรุดหรือมีสภาพไม่สมบูรณ์ โดยไม่สามารถไปใช้ห้องน้ำสำหรับครูอาจารย์เพื่อทดแทนได้ ถึงแม้ห้องน้ำของครูจะว่างก็ตาม ดังนั้น ในมุมมองของตนเมื่อแนวคิดนี้ถูกรับรองก็จึงถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะ…

ห้องน้ำ“ คือ ’สาธารณูปโภคพื้นฐาน“
ที่ ’ช่วยให้มนุษย์สะดวกสบายในชีวิต“

กับเรื่องการ ’เพิ่มความสะดวกสบายให้เด็กนักเรียน“ นั้น ทาง จะเด็จ ยังบอกอีกว่า…เมื่อเด็กปวดท้องต้องการเข้าห้องน้ำ ก็จะสามารถเข้าได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้เด็กเพิ่มขึ้น พร้อมกับย้ำว่า…เรื่องนี้ยัง ’เกี่ยวพันกับสุขอนามัยที่ดี“ ด้วย ขณะที่เรื่อง “ห้องน้ำเท่าเทียม” นี้ก็จะเป็นการ ’ลดอคติการแบ่งแยก“ เพราะเมื่อเด็กนักเรียนและครูอาจารย์สามารถใช้ห้องน้ำโรงเรียนร่วมกันได้ ก็จะทำให้เด็ก ๆ เกิดความรู้สึกที่ว่า… ตนเองนั้น ไม่ถูกแบ่งแยก และมีสิทธิพื้นฐานเท่าเทียม กับครูอาจารย์ โดยเฉพาะ ในแง่ความเป็นมนุษย์ …แหล่งข่าวจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลให้มุมมอง

พอเรื่องนี้ถูกประกาศ ก็เห็นด้วยที่แนวคิดนี้จะถูกประกาศใช้ เพราะการทำแบบนี้ช่วยทำให้เด็กไม่รู้สึกถูกแบ่งแยก เพราะห้องน้ำเป็นสถานที่ซึ่งไม่ว่าใครก็ต้องเข้าใช้งานได้ ไม่ว่าเพศไหนหรือวัยไหน ดังนั้นไม่ควรจะถูกแยก โดยเฉพาะในโรงเรียนนั้นไม่ควรแยกว่านี่ห้องน้ำครูนี่ห้องน้ำเด็ก” …ทาง จะเด็จ กล่าวพร้อมระบุเพิ่มเติมว่า…

การที่เรื่องนี้ได้รับการผลักดันจนเกิดขึ้นมาได้สำเร็จ จะเป็น การสะท้อนให้เห็นถึง ’ความสำเร็จ“ ของ ’แนวคิดให้เด็กเป็นศูนย์กลาง“ ได้ด้วย ที่ช่วยให้เด็ก ๆ รู้สึกสะดวก และปลอดภัย เมื่อต้องใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียน ซึ่งถือเป็นการ’ลดความรู้สึกเหลื่อมล้ำระหว่างครูกับนักเรียน“ได้ และนอกจากนั้น ยัง ลดความรู้สึกขัดแย้งลดอคติในใจของเด็ก ๆ ที่มีต่อครู ลงไปได้อีกทางหนึ่งด้วย เพราะที่ผ่าน ๆ มาเด็กมีการมองว่า…ครูคือคนที่มีอำนาจเหนือกว่า แต่พอมี “ห้องน้ำเท่าเทียม” ความรู้สึกเช่นนี้ก็จะค่อย ๆ ลดลง จนเด็กรู้สึกดีกับครูมากขึ้น เพราะเด็กจะมองว่า…ช่องว่างของอำนาจตอนนี้ไม่ห่างกันมากแล้ว

ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” อีกว่า… อีกสิ่งที่อยากฝากไว้ด้วยคือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติของครู ซึ่งก็คาดหวังว่ากรณี ’ห้องน้ำเท่าเทียม“ นี้จะช่วยผลักดันไปสู่เรื่องของความเท่าเทียมในมิติอื่น ๆ ต่อไปด้วย เช่น ครูจะใช้อำนาจเพื่อจับเด็กกล้อนผมอีกไม่ได้แล้ว หรือจะใช้วิธีลงโทษที่รุนแรงเกินเหตุ หรือจะใช้อำนาจที่มีมาข่มขู่คุกคามเด็ก ก็จะยากขึ้น แต่จะต้องใช้เหตุผล ใช้วิธีที่ไม่เป็นการคุกคามมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ ’ครูโรงเรียน…ต้องปรับตัว“

เพราะ ’โลกไม่เหมือนในอดีตอีกแล้ว“

อย่างไรก็ตาม แต่กับบางคนที่มองว่า… พอมี “ห้องน้ำเท่าเทียม” แล้ว ครูจะได้สอดส่องพฤติกรรมเด็กได้มากขึ้น นั้น เรื่องนี้ จะเด็จ มองว่า… ไม่อยากให้คิดเช่นนั้น เพราะถ้าทำให้เด็กรู้สึกว่าทำให้ครูสอดส่องได้ง่ายขึ้น เด็กจะยิ่งรู้สึกอึดอัด จนทำให้สุดท้ายแล้วแนวคิดนี้ก็ไม่สำเร็จหรือไม่เกิดประโยชน์ดังที่ต้องการ โดยแทนที่จะคิดถึงเรื่องการสอดส่อง อยากให้มองเป็นเรื่องดีที่ครูกับเด็กจะได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น หรือครูได้เห็นความทุกข์บางอย่างของเด็ก ที่ไม่เคยเห็นในห้องเรียน ทำให้ครูช่วยเหลือเด็กได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงอยากให้ใช้ห้องน้ำเพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเปิดใจพูดคุยกันระหว่างครูและนักเรียนมากกว่า…

นี่คือมุมสะท้อนกรณี ’ห้องน้ำเท่าเทียม“
ที่ย้ำถึงประเด็น’เพิ่มสิทธิที่เท่าเทียม“
ลดช่องว่าง“ ระหว่าง ’ครู-นักเรียน“
มิใช่เพิ่มการสอดส่องควบคุมเด็ก“.