ขณะที่ไทยเกิดภาวะ “เงินฝากล้นแบงก์” โดยส่วนหนึ่งเกิดจากคนไทย นักลงทุนไทย “ไม่เชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจไทย” และ “การขอสินเชื่อแบงก์เพื่อลงทุนลดลง” แต่เรื่องการลงทุนก็ “พอจะมีข่าวดีอยู่บ้าง” ข่าวดีที่ว่านี้ก็คือกรณีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการออกมาเปิดเผยถึง เม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 นี้ ว่า…มีกว่า 35,000 ล้านบาทที่ไหลเข้าสู่ไทย โดยเฉพาะ “เม็ดเงินจากนักลงทุนญี่ปุ่น” ที่ถือว่า “สูงเป็นอันดับ 1”

“ไทย” ยังคงเป็นประเทศเนื้อหอม…
ที่ “นักลงทุนต่างชาติยังคงสนใจอยู่”

เกี่ยวกับ “เม็ดเงินนักลงทุนญี่ปุ่น” ที่พบว่า “เข้าไทยเป็นอันดับ 1” จากบรรดานักลงทุนต่างชาตินั้น เปิดเผยไว้โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดย ไตรมาส 1 ปี 2567 จากจำนวนนักลงทุนจากต่างประเทศที่เลือกมาลงทุนในประเทศไทย 356 ราย พบว่า… ญี่ปุ่นคือประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด คิดเป็น มูลค่าลงทุนราว 19,006 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจที่มาลงทุนคือ โฆษณา บริการจัดหา-ติดตั้งอุปกรณ์โรงงานผลิตอะเซทีลีนแบล็ก บริการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บริการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ใยแก้วนำ
แสง-รถยนต์-โลหะ และธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับวัตถุดิบ-ชิ้นส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ นี่ถือว่าพอจะเป็น “ข่าวดีสำหรับไทย” ช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังมีภาวะซึม ๆ ซึ่งก็ “น่าวิเคราะห์” ข่าวดีข่าวนี้

ญี่ปุ่นมาลงทุนเพิ่ม “อะไรคือปัจจัย?”
และที่สำคัญ “จะยืนระยะแค่ไหน?”

ทั้งนี้ กับการที่นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนมากที่สุดในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ก็มีมุมมองที่น่าสนใจจากทาง ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA (Analyst MBA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งได้สะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ด้วย เช่นเดียวกับที่ได้วิเคราะห์และสะท้อนปรากฏการณ์การเงินกรณี “เงินฝากล้นแบงก์ไทย” โดยสำหรับประเด็นการลงทุน เกี่ยวกับ “ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นเลือกลงทุนในไทยสูง” ที่ล่าสุดเป็นอันดับที่ 1 นี้ ดร.ภูษิต ระบุว่า… ก่อนอื่นต้องมองที่ภาพใหญ่ก่อน โดย ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียนอันดับที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา

นอกจากนั้น กับ ปัจจัยสำคัญที่ญี่ปุ่นเลือกไทยเป็นฐานลงทุน นั้น นักวิชาการท่านนี้บอกว่า… เมื่อเทียบไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ แล้ว ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีและผูกพันกันมายาวนาน ไม่ใช่เฉพาะแค่ในมิติการค้า-มิติเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงในมิติอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นเมื่อญี่ปุ่นต้องการขยายการลงทุน ไทยจึงมักจะเป็นตัวเลือกลำดับแรก ๆ โดยหากย้อนกลับไปดูในยุคนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ไทยชักชวนให้ญี่ปุ่นมาลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ตอนนั้นญี่ปุ่นเองก็ตอบรับและเลือกเข้ามาลงทุนในไทย เพราะเวลานั้นไทยตอบโจทย์มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่อง ค่าแรงที่ต่ำ และทักษะของแรงงานไทยที่มีฝีมือดี รวมถึงเรื่องของสภาพแวดล้อมที่ดี ที่เหมาะกับคนญี่ปุ่น ที่ก็เป็นปัจจัยเสริมให้ญี่ปุ่นเลือกไทย

ไทยมีแต้มต่อประเทศกลุ่มอาเซียน
จึงมีเม็ดเงินญี่ปุ่นลงทุนอันดับต้น ๆ

และเพิ่มเติมกรณีทำไมญี่ปุ่นถึงเลือกไทยเป็นฐานขยายการลงทุนในต่างประเทศ? ทาง ดร.ภูษิต ยังได้สะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้อีกว่า เคยมีการรายงานผลการสำรวจเกี่ยวกับ “ปัจจัยที่ญี่ปุ่นเลือกเข้ามาลงทุนในไทย” ซึ่งพบว่า “สิ่งแวดล้อมที่ดี” คือปัจจัยแรกที่คนญี่ปุ่นใช้ในการเลือกลงทุนที่ไทย โดยทางกลุ่มตัวอย่างระบุไว้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องของการ “กินดี-อยู่ดี” ส่วนปัจจัยรองลงมาคือ “ความปลอดภัย” และการที่ไทยมี “โครงสร้างพื้นฐานที่ดี” นี่เป็น “ปัจจัยเชิงบวก” ที่ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นเลือกที่จะมาลงทุนในไทย ในช่วงที่ผ่าน ๆ มา

อย่างไรก็ตาม แต่ปัจจุบันก็มี “ปัจจัยเชิงลบ” ที่นักลงทุนญี่ปุ่นไม่ชอบด้วยเช่นกัน จนบางส่วนอาจจะไม่เลือกมาลงทุนในไทย อาทิ “ค่าแรงในปัจจุบัน” ที่แตกต่างจากยุคอดีตที่เคยเป็นจุดแข็งของไทย ต่อมาคือ “ความผันผวนทางการเมืองและสังคม” และอีกอย่างคือ “นโยบายภาครัฐ” เหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นเกิดความลังเลที่จะมาลงทุนในไทยได้

ทั้งนี้ หันมาโฟกัส “ประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการลงทุนเพิ่มของญี่ปุ่น” ทาง ผอ.หลักสูตร aMBA มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า… การเติบโตก้าวกระโดดของเศรษฐกิจไทยมาจากการลงทุนของญี่ปุ่น เศรษฐกิจไทยที่เคยแข็งแรงก็ต้องยกเครดิตให้เม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งถ้าไม่มีเม็ดเงินนี้ก็นึกไม่ออกว่าไทยจะเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? แต่กระนั้น สิ่งที่ “ไทยต้องทำการบ้าน” ยังมีอยู่มาก เช่นกัน โดย หากเกิดกรณี “ญี่ปุ่นถอนทัพลงทุนจากไทย” ย่อมส่งผลลบแน่นอน เพราะญี่ปุ่นลงทุนในไทยสูงมาก ดังนั้นไทยต้องรักษาไว้ให้ดี “ไทยต้องรักษาระดับความเชื่อมั่น” เพื่อไม่ให้นักลงทุนญี่ปุ่นลังเล

“ไทยเป็นตัวเลือกต้น ๆ แต่ก็ห้ามประมาท เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้มีผลสำรวจพบว่านักลงทุนญี่ปุ่นมีแนวโน้มกังวลใจเพิ่มขึ้นจากความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐ รวมถึงความไม่นิ่งของการเมือง จนอาจชะลอการลงทุน หรือไม่เพิ่มการลงทุนใหม่ ซึ่งไทยต้องแก้โจทย์ หากไม่อยากให้ญี่ปุ่นถอนจากไทย” ทาง ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ชี้ไว้

ไทยค่าแรงสูงขึ้นแต่ญี่ปุ่นก็ลงทุนเพิ่ม
ก็ลุ้น “การเมือง-นโยบายรัฐ” ให้โอเค
ดึงลงทุนเพิ่มอีก “ญี่ปุ่นไม่เทไทย??”.