พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2523 ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ บริเวณคุ้งน้ำช่วงที่ไหลผ่านเขตพื้นที่บางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อย่นระยะทางการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ไหลลัดลงสู่ทะเลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ในการช่วยบรรเทาแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 พระองค์ทรงให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งศึกษาพิจารณาวางโครงการและดำเนินการปรับปรุงขุดลอก พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบในคลองลัดโพธิ์ ตามความเหมาะสม

โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้จัดสร้างขึ้นโดยยึดหลักการ “เบี่ยงน้ำ” ภายใต้การดูแลของหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สภาพปัญหาที่เป็นอยู่ คือ บริเวณพื้นที่ดังกล่าวของแม่น้ำเจ้าพระยา มีลักษณะไหลวนคดเคี้ยวรอบพื้นที่บริเวณบางกะเจ้า ซึ่งมีความยาวถึง 18 กิโลเมตร ทำให้การระบายน้ำที่ท่วมพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ เป็นไปด้วยความล่าช้า ไม่ทันเวลาน้ำทะเลหนุน สามารถช่วยลดระดับน้ำท่วมสูงสุด 5-6 เซนติเมตร และลดระยะเวลาน้ำท่วมลงได้ 1-2 วัน ช่วงฤดูแล้งจะปิดบานประตู เพื่อป้องกันน้ำทะเลไหลกลับเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงฤดูน้ำหลาก เมื่อน้ำทะเลกำลังขึ้นจะปิดบานประตู และเมื่อน้ำทะเลกำลังลง จะเปิดบานประตูให้น้ำไหลลงสู่ทะเล

โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 “ให้หน่วยงานพิจารณาใช้คลองลัดโพธิ์ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นทางลัดระบายน้ำเหนือ ซึ่งจะทำให้ช่วยระบายน้ำได้เร็วเพราะระยะทางสั้นเพียง 600 เมตร ก็ออกทะเล หากวันใดมีน้ำทะเลขึ้นสูงก็ปิดประตูไม่ให้น้ำทะเลเข้ามา สามารถย่นระยะทางการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาจาก 18 กิโลเมตร เหลือ 600 เมตร และลดเวลาจาก 5 ชั่วโมง เหลือเพียง 10 นาที ประสิทธิภาพการระบายน้ำสูงสุดเฉลี่ย 45-50 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ทำให้ช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมต่อพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล”

โครงการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานรับสนองพระราชดำริ ดำเนินการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ จากเดิมที่มีสภาพตื้นเขินมีความกว้างเพียง 12 เมตร ให้สามารถรับปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้ก่อสร้างประตูระบายน้ำบริเวณต้นคลองด้านทิศเหนือ ขนาดกว้าง 14 เมตร จำนวน 4 บาน ขุดคลองด้านเหนือประตูระบายน้ำกว้าง 65 เมตร ความยาวรวม 600 เมตร ก่อสร้างประตูระบายน้ำบริเวณต้นคลองด้านทิศเหนือกว้าง 14 เมตร จำนวน 4 บาน ขุดคลองด้านเหนือประตูระบายน้ำกว้าง 65 เมตร ท้ายประตูระบายน้ำกว้าง 66 เมตร ความยาวคลอง 600 เมตร ระดับก้นคลองอยู่ที่ -7 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ระดับหลังคันคลอง +2.65 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ต่อมาพระองค์ทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติมเกี่ยวกับพลังงานน้ำอันมหาศาลที่ระบายผ่านประตูระบายน้ำนี้ และความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ประโยชน์ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งเป็นที่มาของการจัดสร้างกังหันพลังน้ำและทรงมีพระราชดำริให้ศึกษาการใช้พลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองให้เกิดประโยชน์ กรมชลประทานและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ร่วมกันประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์และชุดสำเร็จของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ขึ้น

การดำเนินงานในครั้งนี้เป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการดำเนินโครงการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านไฟฟ้าพลังน้ำ และออกแบบกังหันพลังน้ำต้นแบบผลิตกระแสไฟฟ้าตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนากาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงนำพลังงานน้ำที่ระบายผ่านประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ มาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้สำเร็จ โดยใช้หลักการพลังงานจลน์จากความเร็วของกระแสน้ำไหลมาปั่นกังหัน ซึ่งใช้หลักการเดียวกับกังหันลม และหลักการชลศาสตร์ จนออกแบบเป็นกังหันหมุนตามแนวแกนและกังหันแบบหมุนขวางการไหล จากการทดลองผลิตกระแสไฟฟ้า ได้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 5.74 กิโลวัตต์ เฉลี่ยแล้วใช้งบประมาณกิโลวัตต์ละ 200,000 บาท เนื่องจากมีอุปกรณ์บางส่วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่โครงการที่ 2 ที่กรมชลประทานและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นำไปประยุกต์ใช้ คือ ประตูระบายน้ำบรมธาตุ จังหวัดชัยนาท ซึ่งกดตั้งกังหันผลิตไฟฟ้าพลังน้ำทั้งหมด 4 ชุด โดยใช้วัสดุภายในประเทศทั้งหมด ได้กำลังผลิตรวมกันไม่น้อยกว่า 80 กิโลวัตต์ ลดต้นทุนเหลือกิโลวัตต์ละ 100,000 บาท

โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง สร้างเสร็จเมื่อปี 2548 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ทางชลมารคเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 13 ตุลาคม 2564 ที่กำลังจะเวียนมาถึงอีกวาระหนึ่งในปีนี้ เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า จึงขอเชิญชมละครเพลง “นิทานของพระราชา”  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงคอนเสิร์ต “สถิตในดวงใจ ไทยนิรันดร์ (In Remembrance of His Majesty King Bhumibol Adulyadej)” จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสโมสรโรตารีเจริญนคร สโมสรโรตารีลัดหลวง และกรมทางหลวงชนบท บรรเลงเพลงโดย วงดุริยางค์เครื่องลมแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Kasetsart University Wind Symphony) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ณ ลานพระบรมรูปทรงงานฯ สวนสุขภาพลัดโพธิ์ ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
              

ละครเพลงเรื่อง “นิทานของพระราชา” ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของการน้อมนำพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท ตลอดจนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ ฝนหลวง คลองลัดโพธิ์ โดยมีการนำบทเพลงเทิดพระเกียรติ อาทิ ตามรอยพระราชา พระราชาผู้ทรงธรรม​ ต้นไม้ของพ่อ ซึ่งนำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวในเหตุการณ์ต่างๆ ผู้แสดงประกอบด้วยนิสิตภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งผู้แสดงรุ่นเยาว์และกำนันตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมแสดงด้วย สามารถชมทาง Youtube : Nangsuedee ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”

อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม