เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ไม่รู้นึกอะไรขึ้นมา ถึงออกมาเตือนว่า ให้ระวังเรื่องความรุนแรงในซีรีย์ดัง “squid game” (เหมือนว่าคนไทยจะตั้งชื่อว่า “เกมแข่งตาย”) ซึ่งมันดังขนาดว่า ทางผู้บริหารเน็ตฟลิกซ์ให้ข่าวเป็นซีรีส์ที่ไม่พูดภาษาอังกฤษเรื่องแรกที่ได้เรตติ้งสูงสุดของเน็ตฟลิกซ์ และมันก็เป็นกระแสในประเทศไทยระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นกระแสได้ด้วยเนื้อเรื่องที่สนุก หลังๆ เกาหลีใต้นี่ส่งซีรีส์ขายทางเน็ตฟลิกซ์แล้วได้รับเสียงตอบรับดีที่ดังมากๆ แบบนึกออกทันทีก็อย่างธุรกิจปิดเกมแค้น Itawon class

รองโฆษก ตร.บอกว่า พล.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.มีความเป็นห่วง“พฤติกรรมเลียนแบบ” โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน ซึ่งต้องออกมาเตือนผู้ปกครองช่วงนี้ เนื่องจากข้อมูลของทางตำรวจพบว่าเหยื่อหรือผู้ก่อเหตุอาชญากรรมต่างๆ มักมีการใช้พฤติกรรมความรุนแรงที่เลียนแบบจากเกมหรือซีรีส์ที่มีการใช้ความรุนแรง ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องเป็นซีรีย์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ขอย้ำว่าที่เตือน เพราะห่วงใยและอยากให้ผู้ปกครองกำกับดูแลบุตรหลาน ให้พิจารณาเนื้อหาที่มีความรุนแรงลักษณะนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบและอาจนำมาก่อเหตุขึ้นจริง

ต่อมา วันที่ 11 ต.ค. พ.ต.อ.กฤษณะ ออกมาย้ำเรื่องนี้อีก แล้วก็บอกเพิ่มเติมทำนองว่า อาจจะมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคัดกรองหรือตรวจสอบเนื้อหาของซีรีส์ที่จะมาออกอากาศในประเทศ หากหน่วยงานที่มีหน้าที่ เป็นผู้คัดกรองเนื้อหาแบ่งจัดประเภทเรตกลุ่มคนดูก็เป็นเพียงการป้องกันส่วนหนึ่ง การป้องกันที่ดีคือกลุ่มผู้ปกครองจะต้องให้คำแนะนำบุตรหลานของตนเองด้วย ซึ่งเรื่อง “ผู้ปกครองต้องแนะนำบุตรหลาน” นี่เป็นแนวคิดที่น่าสนับสนุน เพื่อไม่ให้ครอบครัวโยนภาระให้สังคมฝ่ายเดียว เพราะเช่นนั้นแล้วก็ใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการแบนเนื้อหาเสีย ผู้ปกครองนั่นแหละควรหาเวลาสอนบุตรหลานให้มีวุฒิภาวะ

เดี๋ยวนี้ต้องบอกว่า เอะอะๆ “ความบันเทิงสำหรับผู้ใหญ่” ก็ถูกตีกัน ป้องปราม อ้างว่า “เป็นห่วงเยาวชน” แต่พอพูดถึงสิ่งที่ถูกป้องปราม ประเทศไทยมักจะมองในมิติง่ายๆ คือ พวกของโป๊ แบนอะไรอย่างอื่นนี่ไม่ค่อยสังเกตเห็น ในต่างประเทศเขาแบ่งเรตเนื้อหาไม่ได้เอาแค่เรื่องโป๊ไม่โป๊มาตัดสิน มันมีเรื่องภาพความรุนแรง เรื่องภาษา เรื่องภาพที่ไม่เหมาะสม เช่นการใช้ยามากำกับด้วย ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า “ถ้าไม่ใช่เรื่องที่มันดัง นโยบายปิดกั้นเนื้อหาเพื่อเยาวชน ในกรณีที่ไม่ใช่ของโป๊ จะได้รับความสนใจแค่ไหน” เอาจริงเนื้อหาที่รุนแรงในบ้านเรามีเยอะ

เนื้อหาประเภท ละครแย่งผัวแย่งเมีย ด่ากระทบกระเทียบเสียดสีตะบี้ตะบัน ตบตีกัน แบบนี้ก็เรียกว่า “เนื้อหารุนแรง” ก็เห็นยังมีในละครหลังข่าว .. ย้อนกลับไป พวก “สื่อสำหรับเด็ก” ของไทยก็เป็นเนื้อหาประเภทเอาจริงต้องติดเรตเสียเยอะ ลองไปอ่านต้นฉบับ ปลาบู่ทอง นางอุทัยเทวี อะไรพวกนี้ดูก็จะรู้ว่า ของจริงโหดจะตายชัก” แต่มันได้รับการสถาปนาเป็นสื่อสำหรับเด็กเพราะมันเป็นนิทานพื้นบ้าน ทั้งที่จริงๆ แล้วเรื่องเล่าเหล่านี้มันควรเป็นความบันเทิงสำหรับผู้ใหญ่มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว คือเอาไปเล่นเป็นลิเกตบตีกันให้สนุกสนานตามใจชอบ

ถามว่า เห็นภาพความรุนแรง จะทำให้เกิดการเลียนแบบหรือไม่ ก็ต้องตอบแบบโลกไม่สวยว่า “ความหลากหลายของคนเรา ความกดดันในสังคมปัจจุบัน ทำให้เราประเมินไม่ได้ว่า ความรุนแรงในสื่อจะกลายเป็นตัวกระตุ้นให้ใช้ความรุนแรงในชีวิตจริงหรือไม่” อย่างในต่างประเทศ ก็มีมาแล้วที่มีเหตุฆาตกรกราดยิงโดยฆาตกรเผยคลิปแรงบันดาลใจว่ามาจากการดูภาพยนตร์  กระทั่งการเสพติดเนื้อหาที่รุนแรง การอยู่กับความรุนแรงมากก็ทำให้เกิดความชินชาจนอาจไม่คิดว่าการประทุษร้ายทางกายและทางวาจาในบางครั้งเป็นเหตุรุนแรง

แล้วเราจะกลับไปแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างไร? โดยไม่ต้องปิดกั้นสื่อ อันดับแรก คือ เข้าใจเรื่องความรุนแรงก่อน ว่า มันไม่ใช่เพียงแค่การประทุษร้ายทางร่างกายหรือจิตใจ แต่ความรุนแรงมันคืออะไรที่บีบคั้นจิตใจคนให้ต้องระบายออกเพื่อไม่คับข้องใจ ..เราอาจเรียกว่า “ความรุนแรงจากโครงสร้างของสังคม” ก็ได้ พื้นฐานเบื้องต้นเกิดจาก ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม เกิดการกระจุกตัวของทรัพยากรในกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง (ถ้าเป็นเกาหลีเขาเรียกว่ากลุ่มแชโบล ของไทยก็เรียกเจ้าสัว) มันทำให้เกิดความเครียด และทำให้หลายคนมองเห็นถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม

การไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ง่าย ในขณะที่คนเรามีความต้องการต้องกินต้องใช้ทุกวัน ก็ต้องไปพึ่ง “วิธีนอกระบบ” ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องที่ ตร.ควรจะต้องให้ความสนใจมากกว่ามาเตือนเรื่องเนื้อหา squid game  รุนแรงเสียอีก เพราะมันมีกระบวนการหลอกลวงออนไลน์เยอะแยะเต็มไปหมด  คนหลายคนก็ไม่เท่าทัน อาจเพราะความเดือดร้อนที่ต้องใช้เงินเฉพาะหน้าของเขาทำให้เขาลืมตระหนักว่านั่นเป็นมิจฉาชีพ เหมือน “ฟางเส้นสุดท้าย”ที่ลอยเข้ามาเผื่อจะไม่จมน้ำตาย  มีพวกหลอกลงทุนออนไลน์  พอได้เงินไป ก็ถูกหลอกให้จ่ายลงทุนซ้ำหวังดอกแพงๆ พอจ่ายถึงแสนมิจฉาชีพก็อ้างถอนไม่ได้

หรืออย่างที่รุนแรงคือพวกหนี้นอกระบบดอกโหด  ตามต่างจังหวัดเขาใช้ “แก๊งหมวกกันน็อก”ตามทวงเก็บดอกรายวัน ใครไม่มีจ่ายเอาหมวกกันน็อกฟาด จะได้ไม่มีหลักฐานการพกอาวุธ  …เรื่องพวกนี้สะสมความเครียดและกลายเป็นความรุนแรงเริ่มจากระดับ จุลภาค คือระดับครอบครัว คนเครียดจากการหาเงิน จากการถูกหลอก ก็มาระบายใส่กัน …แล้วทำไมมันถึงมีการหลอกลวงเรื่องหนี้นอกระบบเยอะช่วงนี้?  หลายเสียงบอกเพราะ นโยบายโควิด ของรัฐบาลมันผิดพลาด วัคซีนช้า ทำให้เปิดเมืองได้ช้า ปิดสถานประกอบการเหมือนให้ผู้ประกอบการรายย่อยไปตายเอาดาบหน้า

นึกไปนึกมา เรื่องหนี้นอกระบบนี่เป็นนโยบายที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ดูแลอยู่ไม่ใช่หรือ? เห็นเอามาโปรโมตเป็นผลงานของรัฐบาลโครม ๆ ก่อนหน้านี้ทำไมตอนนี้เงียบ คืออยากได้ภาพลักษณ์ที่ดี อยากทำงานเพื่อประชาชนจริง “พี่ใหญ่ คสช.” คิดจะลงมาดูเรื่องนี้อีกรอบให้เป็นข่าวรายวันจริงจังหรือไม่ เรื่องไล่ล่าจัดการแกงค์มิจฉาชีพ แก๊งหนี้นอกระบบ ไหนๆ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ช่วงนี้ก็เละตุ้มเป๊ะด้วยกระแสตีกันเองในพรรค วิธีแก้คือต้องเอาผลงานมาโชว์ เรื่องแก้หนี้นอกระบบนี่มีผู้ได้รับผลประโยชน์เยอะ ยิ่งจัดการมิจฉาชีพได้ยิ่งเพิ่มคะแนน

ถอดปรากฏการณ์ฮิต Squid Game เมื่อเราต่างเป็นผู้เล่น บนเกมทุนนิยมที่โหดร้าย

ย้อนกลับไปถึงเรื่อง squid game ที่ว่ารุนแรง .. ต้องสารภาพว่าตอนนี้ก็ยังไม่ได้ดูซีรีย์ดังกล่าว แต่รู้คร่าวๆ ว่าเนื้อหามันคือเรื่องของ “คนจนหรือคนชายขอบ” กลุ่มหนึ่งที่ยอมเสี่ยงชีวิตเล่นเกมเพื่อหวัง รวย คิดว่าก็คงไม่พ้นเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือหนี้นอกระบบนี่แหละที่ทำให้ตัวละครตัดสินใจร่วมเกมอันตราย เพราะรอดไปก็จะได้มี “ชีวิตที่ดีกว่า” ในสังคมทุนนิยมที่ไม่มีเงินก็เหมือนหมาตัวนึง หรืออย่างมาก ไม่มี “ทรัพยากร” ของตัวเอง ก็เหมือนหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่เป็นลูกจ้างอยู่ในเมืองใหญ่ ใช้ชีวิตแบบเป็นมาตรฐานเข้าออกงานตามเวลา ไม่มีความหวัง ความฝัน ขอแค่มีเงินไว้ใช้ชีวิต

ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำกลายเป็นประเด็นที่เข้าถึงจิตใจคนจำนวนมาก เมื่อก่อนเราพูดกันถึงเรื่องคนจน ..ถ้าจนก็จนยันลูกยันหลาน แต่ตอนนี้คือมันขยายมาถึงชนชั้นกลาง มนุษย์เงินเดือนในเมือง คนที่มีความฝันจะเปิดกิจการตัวเองแต่ไม่ใช่ทุนใหญ่ ว่า “ช่องว่าง” เรื่องความเหลื่อมล้ำมันยิ่งถ่างออกเรื่อยๆ จะได้ทำตามความฝันก็ยาก เผลอๆ ก็ต้องเป็นลูกจ้างเขาไปจนวันตาย ..ความเหลื่อมล้ำมันเข้ามาเกาะกินในใจชนชั้นกลางในเมือง ที่เป็นกลุ่มที่เสพสื่อ ใช้สื่อ ประเด็นนี้โดนใจเขาก็พูดถึง เผยแพร่เนื้อหาสื่อออกไปในวงกว้าง แล้วมันก็ฮิต

อย่างที่บอกคือ “ความรุนแรงมันไม่ใช่แค่การกระทำประทุษร้ายต่อร่างกาย” ที่ต้องไปกลัวการเลียนแบบ แต่ดูหนัง ดูซีรีส์สักเรื่อง ลองถอดรหัสของมันออกมาดูสิ ว่า “ความรุนแรง” มันเกิดจากอะไร? แล้วเอาบทเรียนนั้น ไปแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ใช้วิธีแก้ไขปัญหาความรุนแรงง่ายๆ โดยบอกว่า “อ๋อ สื่อมันมีความรุนแรง ดังนั้นต้องปิดกั้น” แบบนั้นมันแก้ปัญหาสังคมไม่ได้หรอก เพราะถึงไม่เสพสื่อ แต่ “ความรุนแรง” ที่เกิดจากความเครียดในระบบทุนนิยมก็ยังคงอยู่

ไม่ต้องดูสื่อรุนแรง วันนึงความเครียดสะสมก็ระเบิดเป็นความรุนแรงได้ ถามว่าวันนี้รัฐไทยทำอะไรเพื่อการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรมหรือยัง?.

………………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”
ขอบคุณภาพจาก : reuter,unsplash