พบกับคอลัมน์ “สังคมภูมิภาค”ออนไลน์ทุกวันเสาร์ “เมธ บานเย็น” ศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคอีสานตอนล่าง มารับใช้ผู้อ่านบนโลกออนไลน์ เช่นเดิม วันนี้ตรงกับเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2564

@ ช่วงนี้ดูเหมือนว่าอะไรก็แพงไปหมด ทั้ง “น้ำมัน” ตลอดจนสินค้าอุปโภค-บริโภค และ “พืชผัก” หลายชนิด ก็ปรับราคาสูงขึ้น เพราะพื้นที่ทำการเกษตรหลายแห่ง ประสบปัญหาน้ำท่วม ประกอบกับราคาน้ำมัน ที่ขยับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ภาระค่าขนส่งเพิ่มขึ้น แต่รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ ทุกอย่างยังคงเท่าเดิม หรือน้อยลงด้วยซ้ำไป ต้องพากันเดือดร้อนทุกข์ระทมถ้วนหน้า…แม้จะเปิดประเทศแล้วก็ตาม แต่ออกมาตรการเหมือน กล้าๆ กลัวๆ ระเบียบกฎเกณฑ์ หลายขั้นตอน หยุมหยิม ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร ยุ่งยากในการทำมาหากินเข้าไปอีก

@ ความเดือดร้อนจากอุทกภัย ก็ยังไม่จบ โดยที่ จ.ศรีสะเกษ…ชาวบ้านช้ำ “หอมแดง” พืชเศรษฐิกิจของจังหวัด จมน้ำเสียหายกว่า 2,000 ไร่ ค่ากว่า 92 ล้านบาท ขณะที่จังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วมแล้วทั้ง 22 อำเภอ สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ขณะนี้ยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำที่เอ่อล้นตลิ่งบริเวณลำน้ำมูล และลำน้ำชี รวมถึงลำห้วยสาขา ส่งผลทำให้มวลน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง

@ ซึ่งทาง จ.ศรีสะเกษ ได้ออกประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) เพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือแล้วในพื้นที่ ทั้ง 22 อำเภอ โดยเฉพาะที่บ้านเมืองแสน ต.คอนกาม อ.ยางชุมน้อย พื้นที่ปลูกหอมแดงถูกน้ำท่วมเสียหายกว่า 2,000 ไร่ ซึ่ง “นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต” รอง ผวจ.พร้อมด้วย นายวิชัย ศรีโพธิ์งาม เกษตรจังหวัด นายณรงค์กร เผื่อแผ่ ปลัดอาวุโส นายฐิณัฐวุฒิ อัศวบูรนันท์ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย และเยี่ยมให้กำลังใจชาวบ้าน พร้อมเร่งหาแนวทางช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มที่ต่อไปแล้ว

@ ส่วนที่ปลายน้ำสุดท้าย ก่อนมวลน้ำทั้งหมด จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่ จ.อุบลราชธานี… “นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์” ผู้ว่าราชการจังหวัด ยังคงลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า ในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล เพื่อดึงมวลน้ำก้อนโต มาเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ที่อ่างเก็บน้ำหนองเหล่าหิน บ้านศรีบัว ตำบลสร้างถ่อ และที่ตำบลค้อทอง อำเภอเขื่องใน ซึ่งทางศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 13 ได้วางสายเครื่องสูบส่งน้ำระยะทาง 10 กิโลเมตร โดยสูบน้ำจากแม่น้ำชี ที่เอ่อล้นท่วมพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน คาดว่าจะเก็บกักน้ำได้เพิ่ม กว่า 4 แสนลูกบาศก์เมตร เพื่อไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ที่กำลังจะมาถึงนี้…

@ ส่วนที่ จ.บุรีรัมย์…ได้ประกาศชัยชนะแก้น้ำท่วมซ้ำซากได้ปีแรก โดย “นายพิจิตร ศักดิ์ศรีท้าว” นายกเทศบาลแคนดง อ.แคนดง นำเจ้าหน้าที่ไปประกาศชัยชนะ เหนืออ่างเก็บน้ำแคนดง หลังแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากได้สำเร็จปีแรกในรอบ 30 ปี ทั้งที่ปีนี้มีปริมาณน้ำมากกว่าทุกปี คือการวางแผนล่วงหน้าก่อนน้ำมา โดยเริ่มจากตรวจสอบปริมาณน้ำของอ่างกระทุ่มเครือ ที่ อ.คูเมือง ตามเส้นทางน้ำจะต้องไหลมารวมที่อ่างแคนดง แห่งนี้ หากมีปริมาณมาก จะรีบมาแก้ไขด้วยการสูบน้ำในอ่างแคนดง บายพาสข้ามถนนสาย 2226 สตึก-แคนดง รักษาระดับน้ำในอ่างแคนดง ให้ต่ำกว่าสปิลเวย์ประมาณ 150 ซม. ตอนนี้เทศบาลสามารถจัดการบริหารน้ำได้แล้ว

@ จ.ยโสธร… “นายชลธี ยังตรง” ผู้ว่าราชการจังหวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบ จากปริมาณน้ำชีเพิ่มสูงขึ้น พร้อมตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ทหาร สมาชิก อส. ที่ช่วยกันเก็บเกี่ยวข้าวที่กำลังออกรวงให้กับพี่น้องประชาชน โดยมีนายอำเภอค้อวัง หน.ชป.มวลชน อ.ค้อวัง นายทหารจากพัน 2 กรมทหารราบที่ 16 ปลัดอำเภอ ผู้นำท้องที่ ร่วมตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ

@ ที่ จ.ชัยภูมิ… “นายประวิช ยะรินทร์” ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 3 จัดพิธีส่งกำลังใจมอบ “ตะกร้ายังชีพ” ช่วยเหลือนักเรียนผู้ประสบอุทกภัยสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร ทรัพย์สิน เป็นจำนวนทั้งสิ้น 648 ครอบครัว ซึ่งในครั้งนี้ ได้มอบให้ครอบครัวนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยชุดแรก จำนวน 300 ชุด และจะดำเนินการมอบให้ในครั้งที่สองในโอกาสต่อไป

@ สำหรับ จ.นครราชสีมา…สถานการณ์น้ำท่วมขัง ในพื้นที่ อ.พิมาย ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำใน จ.นครราชสีมา ทำให้ยังมีปริมาณน้ำท่วมขัง บริเวณบ้านตลาดประดู่ ต.กระชอน บ้านเรือนของชาวบ้านที่อยู่ติดกับลำสะแทด 100 หลังคาเรือน รวมทั้งวัดตลาดประดู่ ต.กระชอน ซึ่งอยู่ติดกับลำสะแทด

@ จ.ศรีสะเกษ…เตรียมเปิดบ้านรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโด๊ส โดย “นายวัฒนา พุฒิชาติ” ผวจ.ได้เตรียมจัดงานเฉลิมฉลอง 239 ปี “สู่ขวัญบ้าน บายศรีเมือง รุ่งเรือง 239 ปี จังหวัดศรีสะเกษ” ขึ้น ในระหว่างวันที่ 18-21 พ.ย. นี้ โดยจะมีกิจกรรมพิธีทำบุญตักบาตร ถือศีล ปฏิบัติธรรม บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านทั้ง 22 อำเภอ การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP และพิเศษสุดในวันที่ 19 พ.ย. นี้ จะมีการแสดงรำเฉลิมฉลอง 239 ปี ที่บริเวณสวนสาธารณะหนองกุดหวาย อ.เมืองศรีสะเกษ และจุดอำเภอทั้ง 22 อำเภอ โดยจะมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นประธานในพิธี

@ ที่ จ.อำนาจเจริญ… “นายอดุลย์ กองทอง” ผอ.สพป.อำนาจเจริญ ฝากโรงเรียนเปิดแล้ว ผู้ปกครองต้องหมั่นดูแลสุขภาพบุตรหลาน กรณียังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มสอง ต้องแจ้งคุณครู และพาไปฉีดป้องกันไว้ดีกว่าติดแล้วจะลำบาก ส่วนคุณครูในขณะปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาขอความร่วมมือ งดเด็ดขาดการสูบบุหรี่ในโรงเรียน รวมถึงคุณครูที่พบเห็นผู้ปกครอง ขณะมารับ-ส่งลูกหลาน ห้ามคาบบุหรี่ ส่งควันรบกวนบุตรหลาน ให้ทำการห้ามตักเตือนทุกรายไป

@ และที่ จ.อุบลราชธานี..ยังคงคุมเข้มโควิด เมื่อ “นพ.สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร” สสจ.อุบลฯ มอบหมายให้รอง นพ.สสจ.ทุกคนลงพื้นที่ตรวจเข้มสถานศึกษาทุกแห่ง ที่พร้อมเปิดการเรียนการสอน โดยทางโรงเรียนต้องปฏิบัติตามมาตรการ การป้องกันโควิด-19 ของ ศบค. จังหวัดอย่างเคร่งครัด ส่วนการระบาดของเชื้อโควิดในจังหวัด เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง มีคลัสเตอร์ที่ต้องระวังอยู่ที่ตลาดสดในตัวเมืองอุบลฯ และตลาดสดเทศบาลเมืองวารินชำราบ ด้านการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน สสจ.ได้เปิดเชิงรุกให้วอล์กอินเข้ามาฉีดได้ทันทีโดยไม่ต้องลงทะเบียนทุกพื้นที่ ปัจจุบันมีผู้รับวัคซีนเกินกว่า 50% แล้ว

บรรยายภาพข่าวสังคม

จ.นครราชสีมา.. “นายวัชรพล โตมรศักดิ์” ส.ส.โคราชชาติพัฒนา “ดร.ยลดา หวังศุภกิจโกศล” นายก อบจ. “นายประเสริฐ บุญชัยสุข” นายกเทศมนตรีเทศบาล พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วมพิธีเปิดขบวนเดินรถไฟโคราช-ปัตตานี สถานีรถไฟบ้านกระโดน “โคราชมหานคร” เชื่อมโยงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ สถานีรถไฟบ้านกระโดน ตำบลหนองไข่น้ำ อ.เมืองนครราชสีมา

จ.ยโสธร… “น.สพ.ชาติชาย ยิ้มเครือ” ปศุสัตว์จังหวัด พร้อมนายอดุลย์ พันธ์ศรี ผู้แทนปศุสัตว์อำเภอกุดชุม และนายสุพี วงศ์พิทักษ์ ผู้นำกลุ่มเกษตรกร ลงพื้นที่ หมู่ 7 ต.หนองแหน อ.กุดชุม ส่งเสริมการเลี้ยงแพะเนื้อลูกผสมพันธุ์บอร์ โดยกลุ่มเกษตรกร ได้รับแพะเนื้อตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขที่ดินทำกิน ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่ดีให้แก่กลุ่มเกษตรกร

“ประเมธ เพราะพินิจ” หัวหน้าศูนย์ข่าวเดลินิวส์ ภาคอีสานตอนล่าง รายงาน