ลัมปี สกิน (Lumpy Skin) เป็นโรคที่เกิดกับสัตว์ประเภทวัวและควาย เป็นโรคอุบัติใหม่ที่มีรายงานครั้งแรกในทวีปแอฟริกา ตั้งแต่ปี 55 และเข้ามาระบาดในประเทศไทยปลายปี 63 พบการระบาดรุนแรงกว่า 50 จังหวัด รวมทั้ง จ.อุทัยธานี มีการแพร่ระบาดในวัวแดงที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทำให้ศูนย์วิจัยสัตว์ป่า คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต้องจัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “วิกฤติโรคลัมปี สกิน ฝ่าทางรอดวัวแดงมรดกโลกห้วยขาแข้ง” เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

หาของป่าสัตว์เลี้ยงแหล่งแพร่เชื้อโรค

ผศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในวัวแดงในพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง และพื้นที่กันชน ว่าพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้งและพื้นที่กันชน (พื้นที่ประมาณ 173 ตารางกิโลเมตร) เป็นพื้นที่อาศัยหลักของวัวแดง โดยมีวัวแดงประมาณ 300–500 ตัว มีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า 138 ตัว ติดตั้งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวน 39 จุด และในพื้นที่เตรียมการกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ จำนวน 99 จุด

จากรายงานการพบโรคในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ครั้งแรกเดือน พ.ค. 64 โดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ แต่ยังไม่มีการยืนยันการติดโรคในเดือน มิ.ย. 64 พบโรคลัมปี สกิน จำนวน 5 จุด อยู่ในพื้นที่เตรียมการกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ อ.ลานสัก ซึ่งเห็นรอยแผลที่เกิดการอักเสบบริเวณผิวหนังของวัวแดงค่อนข้างชัดเจน

ต่อมาเดือน ก.ค. 64 พบโรคลัมปี สกิน จำนวน 10 จุด อยู่ในพื้นที่เตรียมการกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ  อ.ลานสัก และเริ่มมีการกระจายเข้าไปในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ปาห้วยขาแข้ง จะเห็นพัฒนาการของโรคที่ชัดเจน ผิวหนังเริ่มอักเสบมากขึ้น  และในเดือน ส.ค. 64 พบโรคลัมปี สกิน อยู่ในพื้นที่เตรียมการกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ อ.ลานสัก จำนวน 5 จุด และในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวน 2 จุด

       หลังจากนั้นเดือน ก.ย. 64 พบโรคลัมปี สกิน จำนวน 7 จุด ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งทั้งหมด จนกระทั่งเดือน ต.ค.64 และมีรายงานการพบซากวัวแดง 2 ซาก ซึ่งมีการยืนยันผลการติดโรคลัมปี สกิน ช่วงเดือน ต.ค.พื้นที่ดังกล่าวมีคนเข้าไปเก็บเห็ดประมาณ 1,000 คน/วัน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วัวแดงหนีเข้าไปอยู่ในพื้นที่ชั้นในมากขึ้น นอกจากนี้การเก็บหาของป่า ยังพบชาวบ้านนำสุนัขบ้านเข้ามาในพื้นที่ป่าด้วย การนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาภายในพื้นที่ป่า อาจนำมาซึ่งการติดโรคจากสัตว์เลี้ยงสู่สัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ เช่น ไข้หัดสุนัขและโรคพิษสุนัขบ้าที่มีโอกาสแพร่ไปสู่สัตว์ป่า

“จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่ามีการกระจายโรคลัมปี สกินจากพื้นที่เตรียมการกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ อ.ลานสัก  ซึ่งเป็นพื้นที่กันชนสำคัญของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เข้าสู่พื้นที่แกนกลางของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สาเหตุหลักสำคัญประการหนึ่งคือการเก็บหาของป่าของชุมชนในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ ทำให้วัวแดงหนีเข้าไปอยู่ในพื้นที่ชั้นในมากขึ้น รวมทั้งยังพบการเลี้ยงสัตว์ปล่อยแบบไล่ทุ่งบริเวณริมอ่างเก็บน้ำทับเสลา อ.ลานสัก หากไม่มีการจัดการโรคปศุสัตว์ดีพอ อาจเป็นแหล่งเพาะโรคในอนาคต” ผศ.ดร.นันทชัย กล่าว

ระบาดจากปศุสัตว์สัตว์ป่า เร็วมาก!

ทางด้านนายสัตวแพทย์ไพศิลป์ เล็กเจริญ  นักระบาดวิทยาด้านสัตว์ป่า กล่าวถึงโรคลัมปี สกินและโรคระบาดสำคัญระหว่างปศุสัตว์  และสัตว์ป่า ว่าโฮสต์ของโรคลัมปี สกิน คือกลุ่มของปศุสัตว์ในวงศ์ Bovidae (โคเนื้อ โคนม โคพื้นเมือง กระบือ) ซึ่งยังไม่พบการติดต่อถึงแพะ-แกะ และไม่มีสัตว์ป่าเป็นแหล่งรังโรค โรคลัมปี สกิน รายงานครั้งแรกในทวีปแอฟริกาตั้งแต่ปี 55 และได้เข้ามาระบาดในประเทศไทย มีรายงานครั้งแรกวันที่ 29 มี.ค. 64 ก่อนจะพบโรคในวัวแดงประมาณ 1 เดือน แสดงให้เห็นว่าการระบาดจากปศุสัตว์ไปสัตว์ป่าเกิดขึ้นได้ไวมาก

สำหรับช่องทางการติดต่อของโรค ช่องทางหลักผ่านแมลงวัน เหลือบ ริ้น ยุง เห็บ ที่ดูดเลือด การค้าและการขนส่งโค กระบือ มีชีวิต (พร้อมแมลงพาหะ) เป็นช่องทางการติดต่อของโรคที่สำคัญที่ต้องพิจารณาสำหรับการกำหนดมาตรการควบคุมโรค จากรายงานของทางปศุสัตว์ในประเทศไทยสัตว์เลี้ยงที่ติดโรคมีโอกาสเสียชีวิตราว 10% จำเป็นต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับแมลงพาหะที่มีศักยภาพสูงในการแพร่เชื้อที่ปรากฏพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้งและพื้นที่กันชน รวมถึงการแสดงออกของอาการของโรคในสัตว์ป่าในระยะต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาในการกำหนดมาตรการควบคุมโรค

แก้ปัญหา “พื้นที่กันชนต้องชัดเจน

ส่วน รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าประชากรสัตว์กีบ ความสำคัญของวัวแดง และการประเมินความวิกฤติของสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคลัมปี สกินในสัตว์ป่า ว่า แนวโน้มประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีสัตว์ป่าจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะวัวแดง ได้ออกมาใช้พื้นที่หากินบริเวณรอยต่อหรือพื้นที่ซ้อนทับกับพื้นที่ชุมชน เนื่องจากวัวแดงต้องการใช้ถิ่นอาศัยป่าผลัดใบที่ราบที่อยู่ตามขอบชายป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการติดต่อโรคระหว่างปศุสัตว์กับสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น 

ภัยคุกคามวัวแดงในไทย ได้แก่การบุกรุกพื้นที่ป่าที่ราบต่ำเพื่อการเกษตร การตั้งบ้านเรือน การสร้างเส้นทางคมนาคม การบุกรุกพื้นที่ป่า การล่าสัตว์เพื่อนำมาประดับ และปัจจุบันสถานภาพวัวแดงยังมีความเสี่ยงในหลายพื้นที่ ประชากรวัวแดงกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของไทยอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แต่ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดโรคลัมปี สกินส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมวัวแดง มีแนวโน้มการติดโรคต่าง ๆ ระหว่างปศุสัตว์กับสัตว์ป่ามากขึ้น เนื่องจากมีการเลี้ยงปศุสัตว์จำนวนมาก มีหมู่บ้านกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ดังนั้นจำเป็นต้องหาแนวทางบริหารจัดการปศุสัตว์กับสัตว์ป่าอย่างไร

ขณะที่ ดร.สมหญิง ทัฬหิกรณ์  นักวิชาการป่าไม้เชี่ยวชาญ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้กล่าวถึง แนวทางและมาตรการการจัดการโรคลัมปีสกิน ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าในปัจจุบันมีการรายงานการพบการติดเชื้อโรคลัมปี สกินในพื้นที่ 5 พื้นที่ ได้แก่ 1. อช. เขาใหญ่-ขหล. เขาแผงม้า 2. ขสป. ห้วยขาแข้ง-ขหล.ทับเสลา 3. อช. กุยบุรี 4. ขสป. เขาอ่างฤาไน และ 5. ขหล. เขาเขียว-เขาชมพู่

โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกมาตรการควบคุมโรคลัมปี สกิน ทั้งในส่วนของการเฝ้าระวังโรค แนวทางการป้องกันโรค และแนวทางการรักษาโรค และได้แจ้งให้หน่วยงานประสานกับหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ในท้องที่ เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในพื้นที่ ส่วนข้อกังวลของกรมอุทยานฯ  การเลี้ยงปศุสัตว์ของชุมชนบริเวณพื้นที่ชายขอบป่า ที่จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังในส่วนนี้อย่างเข้มข้น ในส่วนนี้ทางกรมอุทยานฯ ได้เน้นย้ำกับทางพื้นที่ให้กำหนดแนวเขตพื้นที่กันชนให้ชัดเจน และหาแนว ทางไม่ให้ชุมชนนำปศุสัตว์มาเลี้ยงบริเวณชายขอบพื้นที่  มรดกโลก โดยให้หน่วยงานในพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค และถ้าพบร่องรอยของการติดโรคให้ทางพื้นที่รายงานมายังกรมอุทยานฯ อย่างเร่งด่วน

ต้องบริหารจัดการ “ทุกมิติพร้อมกัน

ขณะที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี  กล่าวถึงมาตรการจัดการ และการรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกินในมรดกโลกห้วยขาแข้งและพื้นที่กันชน ว่า ปัจจุบัน จ.อุทัยธานีมีปัญหาการระบาดของโรคลัมปี สกินในวัวแดง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อจากปศุสัตว์ที่เลี้ยงอยู่ชายขอบป่าพื้นที่อนุรักษ์ ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหา ต้องออกมาในรูปแบบ “อุทัยธานีโมเดล” ในการใช้ประโยชน์พื้นที่กันชนของชุมชน เปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ของชุมชนจากการเก็บหาของป่า การเลี้ยงปศุสัตว์ มาเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวสัตว์ป่า เพื่อเป็นอาชีพทางเลือกให้กับชุมชน ให้ชุมชนได้ประโยชน์จากการมีสัตว์ป่าอยู่ในพื้นที่ และอุทัยธานีได้บรรจุโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวสัตว์ป่าเพื่อส่งเสริมการจัดการพื้นที่กันชนมรดกโลกห้วยขาแข้ง ไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.อุทัยธานีแล้ว

“หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบพื้นที่ต้องเปลี่ยนแนวคิดในการจัดการ ต้องมีทั้งการอนุรักษ์และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน สร้างประโยชน์ให้กับสาธารณชน ให้ชุมชนเห็นคุณค่าของการมีป่าและมีสัตว์ป่า  โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการจัดการพื้นที่ ต้องมีอาชีพทางเลือกให้ชุมชนเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ ที่สำคัญการแก้ไขปัญหา วิกฤติโรคลัมปี สกินในวัวแดงที่ห้วยขาแข้ง จะฝ่าทางรอดไปได้หรือไม่ ต้องมีการบริการจัดการทุกมิติไปพร้อม ๆ กัน ทั้งการจัดการพื้นที่กันชน การจัดการสัตว์ป่า การจัดการโรคระบาด และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง” นายชาดากล่าว.