จากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ในช่วงต้นเดือน ก.ค. ยอดติดเชื้อและผู้เสียชีวิตพุ่งสูง ยังไม่มีทีท่าจะลดลง ติดเชื้อใหม่รายวันใกล้ทะลุหลักหมื่นคน ส่วนผู้เสียชีวิตใกล้ทะลุหลักร้อยเช่นกัน เจ้าเชื้อกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา เริ่มขยายวงไปเกือบทั่วประเทศ จนทำให้ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศ ยกระดับมาตรการคุมเข้มพื้นที่สถานการณ์ในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร เริ่มใช้ 12 ก.ค. 64  พร้อมมี มาตรการล็อกดาวน์ 10 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 

ภาพของคนเฝ้านอนรอคิวตรวจหาเชื้อแบบข้ามวันข้ามคืน หรือแม้กระทั่งปัญหาวิกฤติโรงพยาบาลเตียงล้น ผู้ป่วยนอนกันแน่น จนต้องผุดโครงการส่งผู้ป่วยติดเชื้อโควิดกลับไปรักษาตามภูมิลำเนาตัวเอง รวมไปถึงเริ่มมีแนวทางโครงการให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรงกักตัวอยู่ที่บ้านพร้อมแจกอุปกรณ์ ยา และอาหาร 3 มื้อให้รักษาตัวที่บ้าน

ส่งยาสมุนไพรฟรี รักษาตัวที่บ้าน

ทีมข่าว 1/4 Special Report พยายามติดตามหาข้อมูลเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤติโควิดเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในยามฉุกเฉิน ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการแชร์ข้อมูลส่งต่อ ๆ กันในโลกโซเชียล เป็นคลิปวิดีโอที่ระบุเป็นผู้ติดเชื้อโควิดในระยะเริ่มต้น กักตัวเองอยู่ที่บ้านเพราะไม่มีเตียง แต่ได้รับความช่วยเหลือจาก โครงการแพทย์แผนไทยช่วยชาติ จัดส่งยาสมุนไพร สูตรตำรับโบราณมาให้ถึงบ้านก็ได้ยาสมุนไพรกินรักษาตัวอยู่บ้านจนหาย ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้ไปติดตามหาข้อมูลของ ศูนย์แพทย์แผนไทยช่วยชาติ ตามเบอร์โทรศัพท์ที่ระบุเอาไว้ พบว่าอยู่ย่านถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ

นางรฎาวัญ  วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรมช.แรงงาน และ ประธานองค์กรภูมิปัญญา​การแพทย์แผนไทย ที่ได้ริเริ่มทำโครงการแพทย์แผนไทยช่วยชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า แนวคิดเริ่มแรกของการทำงานครั้งนี้ เกิดจากการเห็นกลุ่มผู้ป่วยโควิดที่รอเตียงแล้วหดหู่มากเพราะบางคนเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน จึงได้มาปรึกษากับ กลุ่มหมอแผนไทย ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทยมานาน ถือเป็นอีกทางเลือกในการช่วยผู้ติดเชื้อโควิดระยะเริ่มแรกไม่มีอาการรุนแรง จึงตัดสินใจระดมสมองออกแบบการช่วยเหลือ เพื่อจ่ายยาแพทย์แผนไทย สูตรตำรับโบราณให้กับผู้ป่วยที่มีผลตรวจว่าติดเชื้อโควิดจริง จากนั้นตั้ง ศูนย์ฮอตไลน์ เพื่อให้ติดต่อผ่านโทรศัพท์ โดยมีกลุ่มแพทย์แผนไทยเข้าเวรสลับผลัดเปลี่ยนรับเรื่อง เก็บข้อมูลไว้ในเวชระเบียน

เมื่อคัดกรองรายละเอียดข้อมูลตรวจแล้วว่าป่วยจริง จะดึงเข้าไปอยู่ในกลุ่มไลน์ มีหมอแผนไทยรอให้คำแนะนำในกลุ่มไลน์อย่างใกล้ชิดตลอดการรักษา เกือบทุกคนทำงานอย่างหนักมาตั้งแต่เดือน เม.ย. แล้ว ยาสมุนไพรตำรับโบราณ ที่จ่ายให้ผู้ป่วยก็ไม่มีการเก็บค่ารักษา ซึ่งเงินที่นำมาซื้อสมุนไพรส่วนใหญ่มาจากในทีมและการบริจาคของบุคคลต่าง ๆ ที่ผ่านมาพยายามยื่นหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำยาแพทย์แผนไทยมาช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลสนาม และสร้างการวิจัยร่วมกัน แต่สุดท้ายก็ไม่มีการตอบรับ จนพวกเราต้องมาทำและเก็บข้อมูลกันเอง”

ปัจจุบันมีผู้โทรศัพท์เข้ามาผ่านศูนย์ฮอตไลน์ มากถึงวันละ 300 – 500 สาย แต่ละวันมีการจัดส่งยาแผนไทยให้กับผู้ป่วยเฉลี่ยได้ประมาณ 100 คน (รับประทานได้ 5 วัน) แต่ก็ยังมีผู้ป่วยที่รอยาอยู่อีกมาก โดยยาสมุนไพรตำรับโบราณเหล่านี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีความปลอดภัย เนื่องจากการรักษาด้วยแพทย์แผนไทย จะจ่ายยาตามตำรับยาไทย ต่างจากแนวคิดของรัฐที่พยายามวิจัยฤทธิ์ของสมุนไพรเพียงชนิดเดียว

ใช้สูตรสมุนไพรโบราณ “3 ตำรับ

ด้าน นายโสภณภัคจ์ วัดพุทธญาณวงศ์ ประธานสภาครูแพทย์แผนไทย กล่าวว่า แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดที่รอเตียงด้วยยาสมุนไพรจะใช้ยาตามตำรับ คัมภีร์ตักกะศิลา ถือเป็น 1 ใน 14 คัมภีร์ตำราแพทย์แผนโบราณฉบับหลวง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ประกอบด้วยยา 3 ตำรับคือ 1. “ห้าราก” ที่นักเภสัชกรรมไทย ต้องเก็บยาให้ตรงราก ตามระยะเวลาที่ระบุในตำรา สรรพคุณตามตำราช่วยแก้ไข้พิษ กระทุ้งพิษต่างๆ ช่วยในการฆ่าเชื้อไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย  2. “ประสะฟ้าทะลายโจร” จะแก้โรคตามตำรับยาแพทย์แผนไทยช่วยแก้ระคายคอ เจ็บคอ จะเกี่ยวกับระบบคอและทางเดินอาหาร เราจะไม่ใช้เพียงฟ้าทะลายโจรอย่างเดียว เพราะรสขมแสลงต่อภาวะของหัวใจ ทำให้เลือดมีธาตุเย็นจนส่งผลต่อหัวใจ  ดังนั้นแพทย์แผนไทยต้องใช้การ “ประสะ” คือการลดฤทธิ์เย็น ด้วยผสมสมุนไพรที่ให้ธาตุร้อนเข้าไปในตำรับยา   และ 3. “จันทลีลา” ช่วยแก้ตัวร้อน ปวดหัว เพราะเวลามีไข้ตัวจะร้อน ตามตำราแพทย์แผนไทยระบุว่า เมื่อตัวร้อนร่างกายจะเพิ่มกำเดาที่เป็นตัวเพิ่มความร้อนต่อการทำงานอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนั้นจึงต้องทานยาที่เข้าไปช่วยลดความร้อน และสร้างสมดุลในร่างกาย

ยา 3 ตำรับนี้ หากใช้ในการรักษาจะทานครั้งละ 3 แคปซูล ซึ่งผู้ป่วยบางรายหากมีอาการเข้าสัปดาห์ที่ 2 แล้วมีอาการแน่นหน้าอก จะต้องให้ทานยาตำรับ “สัตตะโกฐ (พิเศษ)” เนื่องจากปอดจะเริ่มถูกทำลายแล้วบางส่วน ตัวยาตำรับนี้จะเข้าไปช่วยฟื้นฟูการทำงานภายในร่างกาย

ประธานสภาครูแพทย์แผนไทย กล่าวต่อว่า สิ่งที่ทีมแพทย์แผนไทยมุ่งหวังในตอนนี้คือ ผู้ป่วยที่ติดโควิดทำบ้านให้เป็นโรงพยาบาล โดยทีมแพทย์มีการส่งยาไปที่บ้านติดตามผ่านไลน์ ยกเว้นคนไข้ที่มีโรคประจำตัวจะต้องเดินทางเข้ามาที่โรงพยาบาล เพื่อให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน ภูมิแพ้ ไขมันในเลือดสูง และโรคไต ที่หมอจะต้องรักษาตามอาการพร้อมกับการรักษาโควิดไปด้วย กลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ทีมแพทย์แผนไทยระมัดระวังอย่างมากในการคัดกรอง จึงแนะนำให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ตอนนี้สิ่งที่ขาดคือสมุนไพรที่ใช้มาเป็นวัตถุดิบ เนื่องจากเราไม่ได้เตรียมปลูกสมุนไพรที่อยู่ในตำรับนี้ไว้ เช่น เท้ายายม่อม, ย่านาง สมุนไพรเหล่านี้มีอยู่ในผืนป่าไทยทั้งหมด ถ้าทางรัฐบาลจะส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยยาสมุนไพรอย่างเร่งด่วน ควรร่วมมือกับกรมอุทยานฯและหมอยาแพทย์แผนไทยที่มีความรู้ในพื้นที่เร่งจัดหาเก็บสมุนไพรเหล่านี้มาทำเป็นตำรับยาในภาวะวิกฤตินี้ จะช่วยให้แต่ละพื้นที่มีตัวเลือกในการรักษาที่มากขึ้น ประเทศไทยมีสมุนไพรที่รักษาโรคตามตำรับอยู่ 25,000 ชนิด ที่ใช้บ่อยมีอยู่ 1,800 ชนิด แต่ใช้บ่อยที่สุดมีเพียง 500 ชนิด ตอนนี้พวกเราหมดเงินในการจ่ายค่ายาสมุนไพรให้กับผู้ป่วยที่โทรฯ มาแล้วกว่า  2 แสนบาท อยากฝากถึงคนที่ยังไม่ป่วย

อยากให้ทานสมุนไพรที่อยู่ในเมนูอาหารเช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ซึ่งเป็นเครื่องต้มยำทั่วไป เพราะรสร้อนช่วยบำรุงไฟธาตุขับเหงื่อ ที่จะทำให้ร่างกายมีธาตุร้อนไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของไวรัสเมื่อเข้าสู่ร่างกาย

วอนยกระดับการแพทย์แผนไทย

นางณิชกรณ์วัน วัดพุทธญาณวงศ์ 1 ในทีมแพทย์โครงการแพทย์แผนไทยช่วยชาติ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้รับสายผู้ที่โทรฯ มาตอนนี้มีกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด ในโรงงานต่าง ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะในโรงงานที่ลูกจ้างเป็นแรงงานต่างด้าว ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และผลจากการจ่ายยาสมุนไพรให้กับผู้ที่รอเตียงหลายรายมีอาการดีขึ้น สำหรับสิ่งสำคัญในกระบวนการทำตำรับยาสมุนไพรของแพทย์แผนไทยคือ กระบวนการปรุงยา เพราะยาส่วนใหญ่มีรสขม ทำให้เกิดฤทธิ์ร้อน  ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการทำให้ตัวยาสะอาดไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้ป่วย

สิ่งที่เราทำมาตลอดก็เพื่อยกระดับวิชาชีพของแพทย์แผนไทย ที่เราอยากให้โรงพยาบาลทั่วประเทศต้องมีแพทย์แผนไทยประจำอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาแม้ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะมีหมอแพทย์แผนไทยประจำอยู่ แต่ส่วนใหญ่มักจะส่งเสริมวิธีการรักษาโดยการนวด ทั้งที่จริงควรจะส่งเสริมในด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนั้นอนาคตพวกเราจึงพยายามส่งเสริมให้มีกระทรวงสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยขึ้น เพื่อส่งเสริมการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้สายด่วน “แพทย์แผนไทยช่วยชาติ”  โทรศัพท์ 06-2598-2355, 08-1835-2895,08-3293-6644, 08-6103-4222, 06-1891-8559 และ 08-9317-8054.