เรื่อง เอดส์ นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่มีมิติทางสังคมน่าสนใจ เดิมมันเป็นอาการภูมิคุ้มกันบกพร่องที่พบในกลุ่มผู้ป่วยชายรักชายในช่วง 40 กว่าปีก่อน ยุคนั้นเป็นกลุ่มอาการที่รักษาไม่หาย จนทำให้เกิดความเกลียดกลัวคนรักร่วมเพศ ก็มีประวัติศาสตร์การรณรงค์สิทธิมนุษยชนของกลุ่มรักร่วมเพศและกลุ่มผู้อยู่กับเชื้อเอชไอวีมาเรื่อยๆ ควบคู่กับการพัฒนาการทางการแพทย์ สองอย่างเติบโตควบคู่กันไปเป็นลำดับ แต่จนวันนี้ต้องบอกว่า “ยังไม่มีการรักษาเอชไอวีให้หายขาด”

ขณะที่พัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนก็เติบโต มีการต่อสู้อะไรต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจว่า “เอดส์ไม่ใช่หวัด” ที่จะติดกันง่ายๆ ไม่ต้องรังเกียจผู้อยู่กับเชื้อ เพื่อทำความเข้าใจกับสังคมให้ผู้อยู่กับเชื้อใช้ชีวิตอยู่ได้ มีการปฏิบัติการทางภาษาเพื่อลดการตีตราและความเกลียดกลัว จากคำว่า “ผู้ป่วยเอดส์” ก็สร้างความเข้าใจเสียใหม่ว่า “เอดส์” คือระยะโรคแทรกจนสำแดงอาการ แต่กรณีที่มีเชื้ออยู่ในร่างกาย ก็สามารถกินยาควบคุมเชื้อจนไม่แสดงอาการได้ ก็เปลี่ยนการเรียกขานเป็น “ผู้อยู่กับเชื้อเอชไอวี” และมีการให้สิทธิแก่ผู้อยู่กับเชื้อในด้านต่างๆ มากขึ้น รวมถึงเรียกร้องป้องกันการตีตรา

การต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้อยู่กับเชื้อเอชไอวี เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่น่าสนใจตรงเป็นการค่อยๆ ให้ความรู้ความเข้าใจกับสังคมจนเกิดความเข้าใจ ยอมรับ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการ เลิกการตีตรา แต่อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้อยู่กับเชื้อเอชไอวีก็ยังถูกจำกัดสิทธิในการทำงานบางอย่าง เช่น ในต่างประเทศจำกัดสิทธิการทำงานเกี่ยวกับอาหาร การทำงานที่มีการสัมผัสเลือด หรือการทำงานบนเครื่องบินพาณิชย์

และเมื่อมันยังเป็น “ปัญหาสุขภาพ” ในระดับสากล การรณรงค์ให้มีผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ต่อปีน้อยที่สุดก็ยังเป็นเป้าหมายหลักของการรณรงค์ระดับโลก ถ้าพบการติดเชื้อก็ต้องเข้าสู่ระบบการรักษา การกินยาโดยเร็ว ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันยารักษาเป็นสูตรค็อกเทล กินเม็ดเดียวต่อวันก็อยู่ การมีวินัยในการกินยาจะช่วยกดค่าเชื้อให้ต่ำลงจนใช้ชีวิตได้อย่างปกติ กล่าวคือไม่มีโรคแทรกซ้อนให้เกิดภาวะเอดส์ มองแทบไม่รู้ว่าเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ

สำหรับเป้าหมายหลักของไทยนอกจากใช้เป้าหมายร่วมกับสากลคือการ “ยุติการเกิดผู้ติดเชื้อหน้าใหม่” (end AIDS) ผู้ที่เกิดอุบัติเหตุกลายเป็นผู้ติดเชื้อ จะต้องเข้าระบบรักษาและรับยาโดยเร็ว โดยเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ปีนี้คือ “95 95 95” ในส่วนของ 95 แรก หมายถึง ผู้ที่เข้ามาตรวจและพบเชื้อครั้งแรก ..ซึ่งผู้ติดเชื้อหน้าใหม่นี้ 95% จะต้องเข้าระบบ การรักษา รับยา แต่ที่ผ่านมา เรายังไม่บรรลุเป้าหมายนี้” เพราะมีผู้ตรวจพบเชื้อจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เข้าระบบ

เหตุผลมีร้อยแปดพันเก้าของการไม่ได้เข้าระบบ แตกต่างกันไปตามแต่ละคน บางคนอาจกลัวว่าตัวเองจะมีประวัติรักษาปรากฏอยู่ ซึ่งจริงๆ กฎหมายไทยให้ความคุ้มครองในการคุ้มครองความลับด้านสุขภาพของบุคคล ตรงนี้ก็ต้องขอให้วางใจ สิ่งที่น่าสนใจในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ช่วงปีครึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา คือ “มีผู้หลุดออกจากระบบการรักษา” มีกลุ่มที่ไม่ได้ไปตรวจ และมีกลุ่มที่เข้าถึงยาได้ยากช่วงโควิดระบาด มีข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง (บางคนอยู่ต่างจังหวัด แต่รักษาที่ กทม. เพื่อไม่ให้คนแถวบ้านรู้ แต่เข้า กทม.ไม่ได้เพราะปิดเมือง) กลุ่มที่รับยาโดยใช้สิทธิประกันสังคมบางคน ไม่สามารถไปรับยาที่ รพ.ตามสิทธิได้ สถานพยาบาลบางแห่งไม่มีบริการส่งยา รพ.เอกชนบางที่มีปัญหาการจ่ายยาได้จำนวนน้อยต่อครั้ง (เช่นจ่ายได้แค่พอ 7 วัน) อ้างสต๊อกยาไม่พอ อาจมีผู้ไม่สะดวกมารับบ่อยครั้ง

ความยากของการเข้าสถานพยาบาลในช่วงโควิดระบาด เป็นสิ่งที่น่าจะนำมาตีแผ่ในเวทีประชุมด้านเอดส์เพื่อแก้ปัญหา เพราะไม่ใช่เพียงแต่เรื่องการรักษา มันรวมไปถึง การหลุดจากระบบการตรวจ ซึ่งยังไม่เห็นว่า มีการสรุปจำนวนผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ในปี 2564 ออกมา แต่ถึงสรุปไปมันก็มีเฉพาะผู้มาตรวจ (และไม่รู้ว่าจำนวนของ รพ.เอกชนได้นับรวมยอดมาหรือไม่) แต่กลุ่มผู้ติดเชื้อแฝงที่ไม่ได้มาตรวจมีอีกตั้งเท่าไร ที่น่าห่วงคือผู้ติดเชื้ออายุน้อยช่วง 17-24 ปี เริ่มจะเพิ่มขึ้น

ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ มีปรากฏการณ์ทางสังคมที่อาจทำให้เกิดผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ขึ้นมาจำนวนมาก มันเชื่อมโยงกับการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย กล่าวคือเมื่อคนอยู่บ้านก็เบื่อ มีการใช้สื่อโซเชียล เพื่อนัดคุย ไปจนถึงนัดมีเพศสัมพันธ์กันมากขึ้น ในลักษณะแอบๆ ทำ เพื่อระบายความเครียด แล้วบางครั้งก็เป็นเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ทั้งเสี่ยงไม่รู้ว่ามีกับผู้อยู่กับเชื้อที่จงใจแพร่ หรือ วิธีที่เสี่ยง เช่น ไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันเพราะไว้ใจ ไปใช้ยาเสพติดแบบเข็มร่วม

และในช่วงที่มีคนตกงานมาก โควิดปิดเมือง ก็มี การเติบโตของสื่อลามก ..คนตกงานบางคนรัฐบาลเยียวยาไม่พอกิน ภาระหนี้สินก็มีเยอะ ก็ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว กระโจนเข้าวังวนของการผลิตหนังโป๊ขายตามแพลตฟอร์มต่างๆ ทำเองก็ได้ มีกล้องมือถือก็ถ่ายเอาเป็นคลิปขายตามกลุ่มลับ มีทั้ง ถ่ายเดี่ยว ถ่ายคู่ ถ่ายหมู่ ..หนังโป๊แบบที่ได้รับความนิยมคือ “สด งดถุง”..ไม่ใส่ถุงยางอนามัย ตัวโชว์เขาเรียกว่า “แอคเคอร์” ไม่รู้เขียนภาษาอังกฤษยังไงเหมือนกัน น่าจะเป็นศัพท์แสลง มาจาก account บัญชีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต …การเป็นแอคเคอร์คือเป็นขาโชว์โดยเฉพาะ อัดคลิปขาย บางทีก็ชวนคนอื่นมาร่วม

อย่างที่บอกคือ แอคเคอร์ที่เป็นที่นิยมมักจะสดงดถุง มันกลายเป็นต้นแบบให้คนที่ดูละเลยการป้องกันตัวได้ ในบางกรณีแอคเคอร์มี การใช้ยาเสพติดเพื่อกระตุ้นการมีเพศสัมพันธ์ให้อารมณ์ถึงมากขึ้น คลิปถ่ายออกมาหวือหวามากขึ้น ยิ่งใช้ยาเสพติดยิ่งทำให้ละเลยการป้องกันตัว ยิ่งไปใช้ยาประเภทเข็ม แล้วใช้เข็มวน โอกาสติดยิ่งมีสูง ..จริงๆ น่าจะมีคนรวบรวมสถิติว่า ในช่วงโควิดปิดเมือง มีการใช้ยาเสพติดสูงขึ้นหรือไม่เพื่อระบายความเครียด คนมีเงินบางคนหาคู่นอนออนไลน์ ก็มีเงื่อนไขว่า ต้อง “high” กับเขาด้วย หรือร่วมใช้ยาด้วย ก็คือล่อคนอื่นมายุ่งกับยาเสพติด  

สิ่งที่แอคเคอร์มักจะอ้างคือตัวเอง “ออนเพรพ” หมายถึงการใช้ยา PrEP ที่ใช้กินก่อนมีเพศสัมพันธ์หรือก่อนภาวะเสี่ยง เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ..แต่เอาจริงต้องถามว่า “เรามั่นใจได้อย่างไรว่าเขาออนเพรพ ?” ต่อให้มียาเพรพมาวางตรงหน้า กินไม่ถูกวิธีก็มีโอกาสติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ..บางคนอ้างว่าออนเพรพ แต่เอาจริงมีไว้แค่หลอกคู่นอนก็ได้ เพราะเพรพให้ซื้อมันแพง (ตาม รพ.เอกชน) ไม่ได้ขายตามร้านยาทั่วไป (มันต้องมีการตรวจเลือดเมื่อจะรับ มีไกด์ไลน์ที่ต้องอธิบาย)  อายาฟรีต้องรู้จักที่แจก คนมักง่ายไม่ไปรับทั้งที่ตัวเองจำเป็นก็มี  

พอจะเห็นภาพคร่าวๆ ว่า ในช่วงปิดเมืองโอกาสเสี่ยงมีมากขึ้น แต่การเข้าถึงการป้องกันรักษาทำได้ยากขึ้น การระวังตัวและมีสติจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่าหลงไปกับความเย้ายวนความต้องการต่อหน้าเพื่อคลายเครียด แล้วค่อยไปแก้ปัญหาเอาข้างหลัง เพราะอย่างที่บอกว่า “เอชไอวียังรักษาไม่หาย และถึงใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้แต่ก็เสียโอกาสในงานบางอย่าง

นี่คือในส่วนของ 95 ตัวแรก สาเหตุที่ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นและมีปัญหาในการเข้าถึงระบบการป้องกันรักษา … 95 ตัวต่อมา คือผู้ที่อยู่ในระบบกินยาอย่างสม่ำเสมอร้อยละ 95 และ 95 ตัวสุดท้ายคือผู้ที่กินยาสม่ำเสมอจนกดจำนวนไวรัสในเลือดให้ต่ำและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งในปัจจุบันมีกระแสเรื่อง U=U หรือ undetectable = untransmittable ที่เชื่อกันว่า เมื่อรับยาต้านไวรัสถึงจุดหนึ่ง จะกดเชื้อได้ต่ำจนไม่สามารถแพร่เชื้อให้คู่นอนได้ ไกด์ไลน์นี้ก็มีการเถียงกันว่ามันเหมาะสมหรือไม่ และเกิดคนไม่เข้าใจ กินยาถึงจุดหนึ่งที่ค่า viral load ต่ำ คิดว่าตัวเองไม่ต้องกินแล้ว ก็ไปมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกันกับคู่นอน โดยไม่รู้ว่าตอนนั้นค่าไวรัสในเลือดมันกระโดดขึ้นมาจนแพร่ได้แล้ว  

การรณรงค์เรื่อง U=U จึงน่าจะเป็น กุศโลบายเพื่อให้ผู้ป่วยอยากเข้าระบบรักษา จูงใจให้กินยาต่อเนื่องเพื่อใช้ชีวิตปกติ ดีกว่าจะให้ไปเข้าใจว่าเป็น  “ใบอนุญาตสำหรับมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน” สำหรับผู้อยู่กับเชื้อเอชไอวี …ส่วนคนอยากมีเพศสัมพันธ์ พูดกันง่ายๆเชื้อโรคมันเหมือนข้าศึกที่เรามองไม่เห็นตัว เราไม่รู้ว่ามันอยู่ไหน เริ่มที่ตัวเราเองคืออย่าเชื่ออย่าไว้ใจใคร บางคนเห็นว่าหล่อสวยหุ่นเฟิร์มฟิตผิวดีมาก็ซ่อนเชื้อได้ การระมัดระวังต้องเริ่มที่ตัวเรา  

การรณรงค์เรื่องเอชไอวี คือ การให้ทุกคนต้องรู้ผลเลือด ถ้ามีปัญหาต้องไม่กลัวมัน แต่รีบเข้าระบบเพื่อรับยาแล้วใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเป็นปกติสุข การสร้างความกลัวไม่เป็นผลดีเพราะยิ่งทำให้คนหนีการตรวจ พบแล้วคุมแค้นสังคมอยากแพร่โรคโดยไม่รักษา เรื่องต่อมาที่หวังว่าภาครัฐไทยจะเข้ามาดูแลคือ การแก้ปัญหาการใช้ยาเสพติด ดึงให้คนที่ใช้ยายอมเข้ารับการบำบัดเลิกยามากขึ้น ก็ต้องไม่สร้างความกลัวกับพวกเขา เช่นเอากฎหมายมาขู่ว่าเขาคืออาชญากร

การยุติเอดส์ ไม่มีผู้ติดเชื้อหน้าใหม่อีก ก็ยังเป็นเป้าหมายสำคัญระดับโลกวันนี้.

………………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”
ขอบคุณภาพจาก : Unsplash, Freepik