เกือบ 1 ปีเต็มที่ ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้เคยนำเสนอรายงาน การเดินหน้าส่งเสริมพัฒนา ’เมืองอัจฉริยะ“ ในประเทศไทย ของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (depa) ภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง โดยภาคธุรกิจและภาคประชาชนมีส่วนร่วม ภายใต้แนวคิด ’การพัฒนาเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน“ และไม่ได้ส่งเสริมพัฒนาเมืองใหญ่ ๆ ที่เจริญแล้วเท่านั้น แต่ ’เมืองรอง“ หลายพื้นที่ก็ได้รับการส่งเสริมด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา  คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้พิจารณา มอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย แก่ “15 พื้นที่” ทั่วประเทศ รับรองเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะนอกจากนี้ยังมีการประกาศ เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ 50 พื้นที่ทั่วประเทศ

น.ส.เมธาวี ต๊ะผัด

หนุ่มสาวตัวแทนพัฒนาเมืองรุ่นใหม่

ที่สำคัญยังมีประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ การคัดเลือก 30 ตัวแทนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ จากทั่วประเทศเป็น นักส่งเสริมดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่  (The Smart City Ambassadors)  รวมไปถึงที่ประชุมยังได้มอบหมายให้ ดีป้า จัดกิจกรรมกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการพัฒนากำลังคน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยในการบริหารจัดการเมือง เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ จึงได้มีการ พิจารณา (ร่าง) แผนงานบูรณาการเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ที่ ดีป้า เสนอเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนด้านงบประมาณสำหรับองค์กรปกครอง ทั้ง ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชื่อมโยงแผนงานโครงการและบูรณาการด้านงบประมาณสำหรับโครงการเมืองอัจฉริยะ ลดความซ้ำซ้อน และทำให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยยกระดับเมืองสู่ความทันสมัยและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั่วถึง

อย่างไรก็ดี ดร.ทมะ ดวงนามล หัวหน้างานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ซึ่งดูแลรับผิดชอบโครงการ ภายใต้นโยบาย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผอ.ใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล คัดเลือกตัวแทนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่เป็น นักส่งเสริมดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ ไปตามพื้นที่ทั่วประเทศ ได้ให้ข้อมูลกับทีมข่าว 1/4 Special Report หลังจากจัดส่งตัวแทนคนรุ่นใหม่ ลงไปพื้นที่แล้วแต่ละคนได้มีส่วนร่วมไปทำหน้าที่ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาจังหวัดเช่นไรบ้าง ไล่ตั้งแต่ภาคเหนือ น.ส.เมธาวี ต๊ะผัด หรือ ฟ้า วิศวกรซอฟต์แวร์ และกำลังศึกษาปริญญาโททางด้าน ICT for Smart Society ที่ Politecnico di Torino ประเทศอิตาลี ลงไปทำงานที่เทศบาลนครเชียงราย จ.เชียงราย ได้รับมอบหมายประสานงานปรับข้อเสนอแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับเทศบาลนครเชียงราย ในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ นครเชียงราย ทั้ง 4 Smarts เพื่อสร้างนครเชียงรายให้เป็นเมืองน่าอยู่ นครแห่งความสุข พร้อมเป็นตัวแทนประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ-เอกชน โครงการเด่นที่ร่วมดำเนินการ คือ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอัจฉริยะ Downtown ที่เป็นหมุดหมายแรกของนักท่องเที่ยวที่จะได้ทำความรู้จักกับเชียงรายและจะเป็นจุดเชื่อมโยงไปยังความสมาร์ทด้านอื่น ๆ ในเมือง ให้บริการข้อมูล ความช่วยเหลือ นำเสนอศิลปวัฒนธรรมล้านนา และยังมีบริการรถโค้ชและรถรางที่ใช้ไฟฟ้าให้บริการฟรีแก่นักท่องเที่ยวและประชาชน ซึ่งในอนาคตเทศบาลฯมีแผนที่จะก่อสร้างห้อง Command Center เพื่อรวบรวมและบริหารจัดการข้อมูลเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ

วารุณี วันมะโน

วางแผนรองรับการเติบโตอนาคต

ด้านภาคอีสาน “ฝน-วารุณี วันมะโน” จบคณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.ขอนแก่น ลงไปพื้นที่สำนักงานจังหวัดหนองคาย ทำงานร่วมกับเมืองและสิ่งที่รับผิดชอบในเมือง สนับสนุนการพัฒนาและขับเคลื่อนหนองคายให้เป็นเมืองอัจฉริยะ และติดตามนโยบายจากภาครัฐและนโยบายเร่งด่วน

โครงการเด่น ๆ ที่เมืองทำหรือมีแผนที่จะทำ โดยเฉพาะตอนนี้จ.หนองคาย มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรายได้หลัก ศักยภาพและโอกาสทางการพัฒนาขึ้นอยู่กับเกษตรกรรม การท่องเที่ยว การค้า การลงทุนและการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ จะเห็นได้ว่าแผนพัฒนาจังหวัดที่ผ่านมารวมถึงแผนพัฒนาจังหวัดปี พ.ศ. 2566-2570 ค่อนข้างที่จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับภาคการเกษตรที่ถือเป็นภาคที่เป็นรายได้หลักของประชาชนในพื้นที่ รองลงมาคือเรื่องการท่องเที่ยวและการค้า ดังนั้นเป้าหมายการพัฒนาให้หนองคายเป็นเมืองอัจฉริยะหรือ Nongkhai Smart City จึงล้อไปกับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดที่ว่า  “เมืองน่าอยู่ มุ่งสู่เกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยววิถีลุ่มน้ำโขง เชื่อมโยงการค้าชายแดน” โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม

หากทุกท่านติดตามการพัฒนาโดยเฉพาะเรื่องรถไฟความเร็วจากคุนหมิงประเทศจีน มาถึงนครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว ที่เริ่มวิ่งไปเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 64 ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้ จ.หนองคาย ต้องเตรียมความพร้อมหลาย ๆ ด้าน ซึ่งการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะ จะช่วยให้จังหวัดมีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาภายใต้การท่องเที่ยวแบบนิวนอร์มัล การเป็นจุดกระจายสินค้า ซึ่งปัจจุบันจังหวัดได้เตรียมความพร้อมและหาพื้นที่เหมาะสมเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบในมิติต่าง ๆ ที่จะตามมา โดยที่หน่วยงานทุกภาคส่วนต่างมีการวางแผนและเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน จุดรับรองทั้งนักท่องเที่ยว สินค้า ความปลอดภัยและความมั่นคง

น.ส.กมลชนก มุสิกสูตร

เน้นสอดคล้องบริบทท้องถิ่นแท้จริง

ด้าน น.ส.กมลชนก มุสิกสูตร จบคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ไปทำงาน บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย Khon Kaen Smart City ซึ่งเมืองจะทำ โครงการรถไฟฟ้ารางเบา LRT เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะมาแก้ปัญหาจราจรขนส่งในตัวเมืองขอนแก่น ครอบคลุมไปถึงต่างอำเภอที่อยู่ใกล้เคียง โดยจุดประสงค์ไม่ใช่แค่เพียงการพัฒนาในด้านการจราจรเท่านั้น แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม และแก้จน ซึ่งผู้คนจะใช้รถบนถนนน้อยลง และเกิดการพัฒนาพื้นที่รอบ ๆ สถานีขนส่ง ถือเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน มูลค่าของที่ดินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโครงการได้เตรียมพร้อมที่จะเริ่มทำในเร็ว ๆ นี้ อีกทั้งยังมีโครงการ Medical Hub ศูนย์กลางแห่งเวชนคร เป็นศูนย์สำหรับการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งในส่วนของ Smart Health ได้รับรางวัล โครงการเมืองอัจฉริยะยอดเยี่ยมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการประกาศรางวัล IDC Smart City Asia Pacific (SCAPA) ประจำปี 2561 และในปีนี้มีการผลักดันให้ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์แห่งอนุภาคลุ่มน้ำโขง และเป็นเวชนครต่อไปในอนาคต

รวมไปถึงโครงการเมืองแห่งการจัดประชุมนิทรรศการ โดยรวมที่กิน ที่เที่ยว และที่พักไว้ในที่เดียวกัน เนื่องจาก จ.ขอนแก่น มีศูนย์จัดประชุมและนิทรรศการขนาดใหญ่ อาทิ  ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (KICE) และศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอีกหนึ่งโครงการย่อยที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือโครงการ PHAK MICE เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากเกษตรกร ซึ่งตอนนี้โครงการกำลังดำเนินอยู่

สุธินี ชำนิไพบูลย์

ส่วนทางภาคใต้ น.ส.สุธินี ชำนิไพบูลย์ หรือ ฟ่อน จบจาก ม.จุฬาลงกรณ์ซึ่งไปทำงานที่เทศบาลนครยะลา จ.ยะลา เปิดเผยว่า เริ่มจากการทำความเข้าใจแผนสมาร์ทซิตี้ของเมือง พร้อม ๆ กับการศึกษาทำความเข้าใจบริบทของเมือง ตลอดจนปัญหาและความต้องการของเมือง เพื่อให้แผนมีความสอดคล้องกับบริบทของเมืองอย่างแท้จริง จากนั้นก็เข้าไปศึกษาโครงการแต่ละโครงการและช่วยให้คำแนะนำในเรื่องของเทคโนโลยีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเมืองได้ ของยะลาเองได้มีการริเริ่มไปหลายโครงการแล้ว อาทิ เพจฯหลาดยะลา,  Line OA, yala mobile app, Free wifi

มีโอกาสเข้ามาช่วยขับเคลื่อนและหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิด   ขึ้นเพื่อให้โครงการเหล่านี้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเมืองและดำเนินต่อไปได้ เนื่องด้วยปัญหาของโรคโควิด-19 เมืองได้เลือกใช้ big data เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการมาตรการการควบคุมการเดินทางของคน ซึ่งส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง และยังมีโครงการ smart pole ที่อยู่ในขั้นตอนของการของบประมาณ โครงการนี้จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างโครงสร้างพื้นถนน ที่นอกจากจะให้แสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพต่อการใช้รถใช้ถนนแล้ว ยังตอบโจทย์ในเรื่องของการเฝ้าระวัง การป้องกันอันตราย และการมอนิเตอร์สภาพของเมืองในด้านต่าง ๆ อีกด้วย

ประกาศเมืองอัจฉริยะ ‘15 พื้นที่’

ช่วงต้นเดือน พ.ย. 64 ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เปน็ ประธานการประชมุ คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผอ.ใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ผู้แทนจากสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ มีการพิจารณา มอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย แก่ 15 ผู้พัฒนาเมืองที่ได้รับประกาศรับรองเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ประกอบด้วย

1.สามย่านสมาร์ทซิตี้ 2.ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ 3.เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง 4.แม่เมาะเมืองอัจฉริยะ จ.ลำปาง 5.ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ 6.เมืองอัจฉริยะย่านพระราม 4 7.โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบคลองผดุงกรุงเกษม 8.เมืองอัจฉริยะมักกะสัน เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 9.การพัฒนาเมืองเก่าอย่างชาญฉลาด เทศบาลนครเชียงใหม่ 10.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะ ความเป็นเลิศที่ยั่งยืนสู่ชุมชน 11.เมืองศรีตรัง 12.ยะลาเมืองอัจฉริยะ เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน 13.ฉะเชิงเทราเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน 14.แสนสุขสมาร์ทซิตี้ และ 15.โครงการนครสวรรค์สมาร์ทซิตี้ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะได้รับการส่งเสริมการลงทุน สำหรับกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะและกิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะจากบีโอไอต่อไป.