ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเปิดเดินรถไฟฟ้าจีน-ลาว ยังไม่ถึงเดือน! แต่มีกระแสข่าวทำให้สินค้าประเภทผัก-ผลไม้ทะลักเข้าสู่ประเทศไทยจำนวนมาก อาจสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรไทย ทำให้ผัก-ผลไม้ไทยมีราคาตกต่ำ ไหนจะปัญหาจีนปิดด่านเพื่อตรวจเข้มโควิด-19 ส่งผลทำให้มีตู้สินค้าไปติดค้างอยู่หน้าด้านเป็นจำนวนมาก วันนี้ทีมข่าว “1/4 Special Report” จึงต้องคุยกับผู้เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน เพื่อให้เห็นสภาพของปัญหา และแนวทางที่รัฐบาลควรเร่งแก้ไข

นายธนิสร กระฎุมพร

จีนปิด “ด่านบ่อเต็น” กระทบหนัก

นายธนิสร กระฎุมพร รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวกับทีมข่าว “1/4 Special Report” ว่าหลังจากจีนมีการเปิด ๆ
ปิด ๆ ด่านบ่อเต็น เมืองหลวงน้ำทา สปป.ลาว ซึ่งทางการจีนเช่าที่ดินของสปป.ลาวเพื่อทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น ไว้เป็นด่านตรวจก่อนเข้าสู่จีน แต่ปัจจุบันด่านดังกล่าวถูกปิดอีกครั้งเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากมีการตรวจเจอเชื้อโควิด-19 ในตู้ผลไม้ที่ไปจากไทย ซึ่งด่านดังกล่าวมีการตรวจโรคอย่างเข้มงวด ถือเป็นการจำกัดสิทธิสินค้าจากไทยเป็นอย่างมาก

ผลกระทบอย่างหนักที่จีนสั่งปิดด่านบ่อเต็น ทำให้รถขนส่งตู้สินค้าติดขัดอย่างหนักเป็นพัน ๆ คัน ระยะทางยาว 10 กิโลเมตร เจ้าของรถขนส่งสินค้าจำนวนมากพยายามเจรจากับเจ้าของสินค้าว่าสินค้าที่ไม่เน่า ไม่เสีย จะขอถ่ายสินค้าลงไว้ที่นั่นก่อน เพื่อตีรถกลับมา อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้หรือไม่ เนื่องจากเสียเวลารถติดอยู่ที่หน้าด่านบ่อเต็นมาหลายวันแล้ว ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่มาก มีรถหลายสิบคันที่บรรทุกขนุน สับปะรด ต้องตีรถกลับแล้วเอาขนุน สับปะรด มาแจกแถว ๆ หน้าด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่ อ.เชียงของ ก่อนที่สินค้าเหล่านี้จะเน่าเสีย เพราะขนส่งเข้าจีนไม่ได้จากปัญหาปิดด่านบ่อเต็น

เกษตรกร-ผู้ประกอบการขนส่งเดือดร้อน!

โดยปกติถ้าไม่มีโควิด-19 จะมีรถขนสินค้าจากจีนวิ่งเข้าไทย ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว อ.เชียงของ สูงสุดวันละ 400 คัน วิ่งจากจีนผ่าน สปป.ลาว มาเข้าไทย โดยมีจุดหมายปลายทางที่ตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง จ.ปทุมธานี จะใช้เวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ส่วนรถขนสินค้าจากไทยไปจีนวันละ 300 คัน พอเริ่มมีโควิด-19 ใหม่ ๆ ลดลงมาเหลือประมาณวันละ 200 คัน แต่เมื่อจีนเข้มงวดโควิด-19 จึงลดลงมาเหลือวันละ 80 คัน ใช้เวลาวิ่งจากด่านเชียงของ เข้าไปถึงชายแดนจีนประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง แต่ ณ วันที่ 21 ธ.ค.64 ผู้ประกอบการหยุดขนส่งสินค้าไปจีนกันหมดแล้ว เนื่องจากมีการประกาศของสปป.ลาวที่เมืองหลวงน้ำทา ว่ามีรถขนสินค้าตกค้างอยู่จำนวนมาก การจราจรติดขัดหนัก จึงสั่งงดการขนส่งสินค้าตั้งแต่วันที่ 19-26 ธ.ค. 64 เพื่อระบายรถให้เรียบร้อยก่อน

สรุปคือสินค้าไทยที่ข้ามไปจาก อ.เชียงของ เข้าจีนไม่ได้ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา ข่าวว่าจะเปิดด่านอีกครั้งวันที่ 27 ธ.ค.นี้ แต่เอาแน่นอนไม่ได้ แล้วรถสินค้าจากจีนก็ไม่มีเข้ามาที่เชียงของ ตนมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องรีบแก้ไขในระดับรัฐบาล 3 ประเทศ ทั้งจีน ลาว ไทย ต้องตกลงทำสัญญากันใหม่ เราต้องอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ อะไรที่ต้องอะลุ้มอล่วยก็ควรอะลุ้มอล่วยกัน ไม่เช่นนั้นเกษตรกรมีปัญหาแน่ เพราะผัก ผลไม้สดไม่มีที่ระบาย  ผู้ประกอบการขนส่งก็เดือดร้อน คนขับรถก็เดือดร้อนเพราะไม่มีรายได้ วันนี้ถ้าตรวจเจอโควิดก็ต้องกักเฉพาะส่วนสินค้า เฉพาะตู้ของผู้ประกอบการนั้น ๆ แต่ไม่ใช่เหมาหมด สินค้าที่ไม่ใช่ผักและผลไม้ต้องถูกกักด้วย แบบนี้เดือดร้อนกันหมด ดังนั้นในระดับรัฐบาลต้องรีบคุยกัน

นายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว

รัฐบาลไทยต้องเร่งเจรจาแก้ปัญหา

ทางด้าน นายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวว่าจีนจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในเดือน ก.พ. 65 ปัจจุบันจึงตั้งการ์ดสูงมากเพื่อป้องกันโควิด-19 ให้เป็นลบ จึงส่งผลกระทบต่อการส่งสินค้าทุกชนิดเข้าไปจีน เพราะไม่มีใครกล้าการันตีว่าจะไม่มีเชื้อโควิดติดไปกับตู้ผลไม้จากไทย ดังนั้นในระดับรัฐบาลไทย ต้องรีบเจรจากับทางการจีน ไม่เช่นนั้นหลายภาคส่วนตั้งแต่เกษตรกร-ล้ง-ผู้ประกอบการขนส่ง-คนงาน ได้รับความเดือดร้อนกันอย่างทั่วหน้าแน่นอน

เนื่องจากมีผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด ลำใย มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท เตรียมจ่อเข้าเมืองจีน แต่ถ้าด่านปิดแล้วจะระบายสินค้าไปทาง
ไหน วันนี้ทุเรียนในภาคใต้ราคากิโลกรัมละ 220-230 บาท ถ้าสามารถส่งเข้าไปขายในเมืองจีนโดยไม่เน่า ไม่เสีย ก็ยังพอมีกำไร ส่วนทุเรียนใน จ.จันทบุรี ปัจจุบันกำลังออกดอก แต่มีการสั่งจองกันแล้วตั้งแต่เป็นดอก ราคากิโลกรัมละ 250 บาท จะเริ่มตัดขายได้ในเดือน ก.พ. 65 มากที่สุดช่วงเดือน เม.ย. 

“ตอนนี้ผมเชื่อว่าระดับจังหวัด และกระทรวงพาณิชย์รู้ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องรีบเจรจากับจีนโดยเร็ว เพื่อเคลียร์ทุกด่านให้สะดวก ทั้งทางน้ำ ทางบก โดยที่ผ่านมาผลไม้ไทยกระจายผ่านทุกด่านในภาคอีสาน และภาคเหนือ เพื่อเข้าสู่พื้นที่หลายมณฑลของจีน เช่นทุเรียนส่งออกเราจะตัดเมื่อทุเรียนมีความแก่ 75-80% เพื่อให้อยู่ได้ 10-15 วัน ก่อนที่จะเน่าเสีย แต่โดยปกติถ้าขนส่งทางบกจาก จ.จันทบุรี จะใช้เวลาเดินทาง 3 วัน พอวันที่ 4 ทุเรียนถึงมือพ่อค้าชาวจีน แต่วันนี้จีนเข้มงวดเรื่องโควิด ถ้ารัฐบาลไม่เร่งเจรจา เดี๋ยวราคาก็ตกต่ำ คนที่เดือดร้อนคือเกษตรกร” นายภาณุวัชร์ กล่าว

น.ส.ชนก จันทาทอง

อย่ามัวหลงทิศทางไปกับโควิด-19

ขณะที่ น.ส.ชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่ารถไฟฟ้าจีน-ลาว เพิ่งเปิดเดินรถเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา
จึงยังไม่มีผลต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในหนองคายมากนัก เพราะตามแผนที่จีน-สปป.ลาววางไว้คือจะเดินรถวันละ 18 เที่ยว เพื่อขนคน 4 เที่ยว ขนสินค้า 14 เที่ยว แต่ช่วงเปิดเดินรถใหม่ ๆ ยังทำได้แค่วันละ 6 เที่ยว คือขนคน 2 เที่ยว ขนสินค้า 4 เที่ยว และปัจจุบันจีน กลับมาปิดประเทศเพื่อตรวจเข้มโควิด-19 รถไฟฟ้าจึงวิ่งอยู่ในเขต สปป.ลาวเท่านั้น

วันนี้ภาพยังไม่ชัด เพราะจีนปิดด่าน ทำให้มีตู้สินค้าไปสะสมอยู่ที่ด่านบ่อเต็นประมาณ 3,000 ตู้ เนื่องจากเข้าจีนไม่ได้ แต่ถ้าไม่มี
โควิด-19 และจีนเปิดเดินรถตามแผนที่วางไว้ ทั้งสินค้าและนักท่องเที่ยวทะลักเข้าประเทศไทยอย่างแน่นอน

แต่รัฐบาลไทยกำลังหลงทิศทางกับโรคระบาดอยู่ โดยไม่วางแผนการเชื่อมต่อโลจิสติกส์ ส่งผลทำให้ภาคเศรษฐกิจไม่เข้มแข็ง ขณะที่จีนวางแผนไว้หมดว่าจะเปิดเดินรถขนสินค้าอีคอมเมิร์ซสายจีน-นครปฐม ในวันที่ 26 ธ.ค. 64 นี่คือแผนเดิมที่เขาวางไว้ แต่ของไทยผู้ประกอบการยังต้องขนสินค้าไปกับขบวนรถไฟสายเดิมขนาดความกว้างของราง 1 เมตร เชื่อมระหว่างหนองคาย-ท่านาแล้ง (เวียงจันทน์) ซึ่งสินค้า 80% ยังเป็นผลไม้ ตนไม่รู้ว่าสามารถขนผลไม้ไปกับรถไฟฟ้าจีน-ลาวได้หรือไม่ และถ้าจีนปิดด่านหลายวัน สินค้าผัก-ผลไม้จากประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

จีนต้องการขนสินค้าไปแหลมฉบัง

ส่วนที่ จ.หนองคาย ต้องคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้หนองคายได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวที่จะทะลักเข้ามา ทางจังหวัดจึงวางแผนเปิดเมืองหนองคายแซนด์บ็อกซ์ หรือ “หนองคายสบายดี” วันที่ 24 ธ.ค.นี้ ในพื้นที่ 4 อำเภอ โดยชูจุดขายทางด้านสุขภาพ เพื่อให้คนลาวข้ามมาเที่ยว มาจับจ่ายใช้สอยแบบมาเช้า-เย็นกลับ เข้ามาซื้อยาและเวชภัณฑ์ ยกตัวอย่างช่วงที่ไม่มีโควิด-19 จะมีชาวลาวเข้ามาซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่ รพ.สมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ ประมาณปีละ 70 ล้านบาท

“รัฐบาลไทยต้องเร่งพิจารณาก่อสร้างสะพานไทย-ลาวแห่งใหม่ที่หนองคาย เพื่อเป็นสะพานสำหรับรถไฟโดยเฉพาะ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเชื่อมโลจิสติกส์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะยุทธศาสตร์ของจีนต้องการขนสินค้าด้วยระบบรางไปออกท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ถึงอย่างไรจีนก็ต้องคุยกับเราเพื่อขอขนสินค้าออกสู่ทะเล สมมุติถ้าขนมาวันละ 100 ตู้ แล้วเขาจะตีตู้เปล่ากลับหรือ? ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ” น.ส.ชนก กล่าว.