ถกกันหัวหมุน…เป็นลูกข่าง กับการแก้ “วิกฤติน้ำมันแพง” ที่กำลังสร้าง “วิกฤติศรัทธา” ต่อรัฐบาลจนลดน้อยถอยลงคลองเข้าไปทุกนาที ตั้งแต่เกิดวิกฤติขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน จนส่งผลต่อราคาพลังงาน ประกอบกับคนไทย เคยชินกับการใช้พลังงานราคาถูก กลไกบิดเบี้ยวจากนโยบายการเมือง ไม่สะท้อนความเป็นจริงมานาน ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไป

ร้อนถึงทำเนียบรัฐบาล ถึงขนาด “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี สั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงด่วน!!! โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกพรรคกล้า หยิบประเด็นขึ้นมาจั่วหัว …คนไทยโดนปล้น จาก “ค่ากลั่นน้ำมัน” ส่งผลให้ราคาน้ำมันแพง ทำเอารัฐบาลหน้าชา เพราะต้องยอมรับว่า “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน เคยเป็นอดีตซีอีโอบริษัทน้ำมันมาก่อน จึงกลายเป็นเป้าสำคัญที่ถูกถล่ม

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน

ถูกตราหน้าน้ำมันแพง

สาเหตุที่หลายฝ่ายมอง “ต้นตอ” น้ำมันแพง ไปที่ค่าการกลั่นน้ำมัน เนื่องจากหากพิจารณาดูโครงสร้างราคาน้ำมัน 1 ลิตร ประกอบด้วย ส่วนแรก ต้นทุนเนื้อน้ำมัน เป็นต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น อ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย คิดเป็นสัดส่วน 40-60% ส่วนสอง ภาษีต่าง ๆ คิดเป็นสัดส่วน 30-40% เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และบำรุงท้องถิ่น ส่วนสาม กองทุนต่าง ๆ สัดส่วน 5-20% เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน, กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน

ส่วนที่สี่ ค่าการตลาด คิดเป็น 10-18% คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกคนจะพุ่งเป้าไปที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ด้วยเหตุที่มีสัดส่วนสูงถึง 40-60% ขณะที่ต้นทุนส่วนอื่น เช่น ภาษีสรรพสามิต, เงินเรียกเก็บจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน รัฐบาลได้ยกเว้นการเรียกเก็บชั่วคราวไปแล้ว จึงเหลือเพียงแต่ “ค่าการกลั่น” ที่หลายฝ่ายมองว่า ยังสามารถกดลงได้

ตีความบริษัทแม่กำไรพุ่ง

ที่สำคัญคนไปโยงข้อมูลผลประกอบการโรงกลั่นในประเทศ ไทย 6 แห่ง ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทุกแห่งล้วนแล้วแต่กำไรพุ่งสูงขึ้น ในไตรมาสแรก ปี 65 ทั้งนั้น เช่น บมจ.ไทยออยล์ กำลังการผลิต 275,000 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีกำไรสุทธิ 7,182 ล้านบาท, บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือจีซี กำลังการผลิต 280,000 ล้านบาร์เรลต่อวัน กำไรสุทธิ 4,211 ล้านบาท บมจ.ไออาร์พีซี กำลังการผลิต 215,500 ล้านบาร์เรลต่อวัน กำไรสุทธิ 1,501 ล้านบาท, บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) กำลังการผลิต 177,000 ล้านบาร์เรลต่อวัน กำไรสุทธิ 5,900 ล้านบาท, บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง หรือเอสพีอาร์ซี กำลังการผลิต 175,000 ล้านบาร์เรลต่อวัน กำไรสุทธิ 5,284 ล้านบาท และ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น กำลังการผลิต 120,000 ล้านบาร์เรลต่อวัน กำไรสุทธิ 4,356 ล้านบาท จึงทำให้คนยิ่งจับตากลุ่มโรงกลั่นทันที

โรงกลั่นในประเทศไทยทั้ง 6 แห่ง

รับสูงเกินจริงสั่งเร่งกด

ทั้งที่ข้อเท็จจริงบริษัททั้ง 6 แห่ง ตัวเลขกำไรสุทธิของทั้ง 6 บริษัท ไม่ได้เกิดค่าการกลั่นทั้งหมด เพราะมีอีกหลายบริษัทฯ ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มโรงกลั่น ต้องออกมาโอดขอความเห็นใจกับข้อมูลที่บิดเบือนไป โดยนิยาม “ค่าการกลั่น” คือ รายได้ของโรงกลั่นน้ำมันก่อนหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของโรงกลั่น เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าลงทุน ก่อสร้างโรงกลั่น ค่าบำรุงรักษาโรงกลั่น โดยหลักการคำนวณค่าการกลั่นตามสูตรของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะนำราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยจากทั้ง 3 แหล่ง ได้แก่ ดูไบ โอมาน และทาปิส ของมาเลเซีย มาเฉลี่ยกับค่าน้ำมันสำเร็จรูปทุกประเภทที่ผลิตได้จากโรงกลั่น ซึ่งน้ำมัน 1 ลิตร สามารถกลั่นออกมาได้เป็นทั้งเบนซิน ดีเซล และน้ำมันเตา แต่ละชนิดน้ำมันจะมีราคาที่แตกต่างกัน ทั้งราคาถูก แพง การนำราคาน้ำมันสำเร็จรูปมาลบกับราคาน้ำมันดิบ อาจจะไม่ใช่ค่าการกลั่นที่แท้จริง เนื่องจากโรงกลั่นจะมีการกลั่นน้ำมันหลายชนิดทั้งที่มีราคาถูก และแพง

แต่ก็ยอมรับว่า ค่าการกลั่นในปัจจุบันราคาสูงจริง โดยค่าการตลาดเดือน มิ.ย. อยู่ที่ประมาณ 5.56 บาทต่อลิตร ส่วนเดือน พ.ค. อยู่ที่ 5.20 บาทต่อลิตร โดยข้อมูลค่าการกลั่นเฉลี่ยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 2-3 บาทต่อลิตร เช่น ปี 55 อยู่ที่ 2.15 บาทต่อลิตร ปี 56 อยู่ที่ 2.2 บาทต่อลิตร ปี 57 อยู่ที่ 2.35 บาทต่อลิตร ปี 58 อยู่ที่ 2.43 บาทต่อลิตร ปี 59 อยู่ที่ 1.813 บาทต่อลิตร ปี 60 อยู่ที่
2.16 บาทต่อลิตร ปี 61-62 อยู่ที่ประมาณ 1.70 บาทต่อลิตร

เงินกู้ไม่ได้ต้องหาทางลัด

จึงทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สั่งเปรี้ยงมาที่กระทรวงพลังงาน ถกโรงกลั่น ให้กระชากค่าการกลั่นลงมา หวังเติมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่สิ้นเดือนนี้ จะติดลบทะลุไปถึง 1 แสนล้านบาท และยังไร้วี่แววในการหาเงินกู้ลอตแรกมาเติมสภาพคล่อง 2 หมื่นล้านบาท เพื่อมาอุ้มราคา จึงทำให้รัฐบาลต้องหัวหมุนในการหาเงินมาเติม เพราะจะหันไปพึ่งเงินกู้ ก็ยังไม่มีสถาบันการเงินไหนให้กู้ จะหันไปพึ่งงบรัฐบาล ก็ต้องใช้เวลา ท่ามกลางตัวเลขกองทุนฯ ที่ติดลบสูงขึ้นต่อเนื่อง สุดท้ายแนวทางที่เร็วที่สุด หนีไม่พ้นการเจรจาดึงกำไรโรงกลั่นน้ำมัน และโรงแยกก๊าซ เดือนละกว่า 8,000 ล้านบาท 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. 65 รวมแล้วกว่า 24,000 ล้านบาท

เบื้องต้นการเก็บเงินจากธุรกิจโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซจากกำไรการกลั่นน้ำมันและการแยกก๊าซ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.กำไรจากการกลั่นน้ำมันดีเซลเดือนละ 5,000-6,000 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้จะส่งเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2.กำไรจากการกลั่นน้ำมันเบนซินจะเก็บจากโรงกลั่นเดือนละ 1,000 ล้านบาท โดยจะเก็บเงินไปชดเชยให้ผู้ใช้ราคาเบนซินและจะลดราคาขายปลีกเบนซินลงลิตรละ 1 บาท 3.กำไรของโรงแยกก๊าซเดือนละ 1,500 ล้านบาท จะเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กองทุนเช่นกัน

นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

แบกหนี้บานแสนล้าน

รายละเอียดต่าง ๆ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจัดทำอีกครั้ง เนื่องจากครั้งนี้เป็นการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนโรงกลั่นทั้ง 6 แห่ง ต้องยอมรับว่า การขอความร่วมมือครั้งนี้ เป็นความสุ่มเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนเช่นกัน เพราะกลุ่มโรงกลั่นไม่ได้มีแต่บริษัทไทยเท่านั้น มีบริษัทต่างชาติรวมอยู่ด้วย และช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาช่วงโรงกลั่น มีค่าการกลั่นที่ต่ำมาก ก็ไม่มีใครไปช่วย พอรายได้ปรับสูง
ขึ้นมา ก็สั่งให้ปรับลดลง เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุด รัฐบาลต้องหาจุดสมดุลในทุก ๆ ช่วงให้เหมาะสม เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ต้องยอมรับว่า การเจรจาโรงกลั่นครั้งนี้ มีระยะเวลาต่อลมหายใจกองทุนฯ แค่ 3 เดือนเท่านั้น หรือถึงเดือน ก.ย. 65 ซึ่งเข้าสู่ฤดูหนาว มีความต้องการใช้พลังงานปริมาณสูง ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบ เพราะฉะนั้นราคาพลังงาน ยังมีทิศทางผันผวนในระดับสูงตลอดปีแน่นอน สิ่งสำคัญรัฐบาลจะบริหารราคาพลังงานต่อไปอย่างไร ในสภาวะเงินหน้าตักมีน้อย ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นไม่หยุด รัฐบาลกำลังเลือกตั้งใหม่ ต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้กระทบฐานเสียงประชาชน ปรนเปรอให้คนไทยใช้ราคาพลังงานถูก ไม่สะท้อนความเป็นจริงต่อไป ขณะที่แผนการรณรงค์การประหยัดพลังงานก็ยังไม่เข้มข้นมากพอ สิ่งใหญ่ที่ตามมาคือ…รัฐบาลใหม่ต้องมาแบกรับหนี้กองทุนฯหลักเกินแสนล้านบาทอย่างแน่นอน.