การที่รัฐบาลของประเทศใดเผชิญกับ “เรื่องอื้อฉาว” ที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด แต่หากมีการโยงใยไปถึงบุคคลในรัฐบาลย่อมไม่ใช่เรื่องดี และเสถียรภาพภายในรัฐบาลมีแต่จะยิ่งสั่นคลอนมากขึ้นไปอีก หากเกิดกระแสเรียกร้องถึงขั้นให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออก และเสียงเรียกร้องนั้นมาจากสมาชิกภายในพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรคด้วย

กรณีเกี่ยวกับ “งานเลี้ยงอื้อฉาว” ที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ภายในบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ซึ่งเป็นทำเนียบนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร สร้างแรงกระเพื่อมอย่างหนักไปทั่วทั้งประเทศ ประชาชนแสดงความไม่พอใจอย่างหนัก ต่อการที่กิจกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงที่บ้านเมืองอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์เข้มงวด เมื่อปี 2563

Sky News

แม้นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ออกมาขอโทษด้วยตัวเอง และยอมรับว่าเข้าร่วมงานเลี้ยง “เพียงครั้งเดียว” สถานการณ์หลังจากนั้นดูเหมือนจะดีขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นาน “ระเบิดลูกใหญ่” ตกลงมาใส่ดาวนิงสตรีทอีก เมื่อสื่อมวลชนพร้อมใจกันเปิดโปง ว่ามีงานเลี้ยงครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในคืนก่อนพระราชพิธีฝังพระศพ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กระแสของความไม่พอใจยิ่งทวีคูณ

แกนนำอาวุโสในพรรคอนุรักษนิยมของจอห์นสัน และพรรคแรงงานซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้าน ประณามจอห์นสัน “ไม่รู้จักกาลเทศะ” และต้องลาออกสถานเดียว ต่อให้ทูลเกล้าฯถวายหนังสือขอพระราชทานอภัยต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 “ก็ช่วยอะไรไม่ได้”

บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ในกรุงลอนดอน

จนถึงตอนนี้ยังไม่มีฝ่ายใดสามารถยืนยันได้อย่างชัดเจน ว่างานเลี้ยงทุกครั้งซึ่งเกิดขึ้นภายในดาวนิงสตรีท “ผิดกฎหมายจริงหรือไม่” แต่ท่ามกลางแรงกดดันซึ่งถาโถมเข้าใส่จอห์นสันอย่างหนัก ผลการสอบสวนยังไม่น่าออกมาในเชิงที่จะ “สร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยสำคัญในทางการเมือง” หมายความว่า จอห์นสันน่าจะยังสามารถเอาตัวรอดจากภาวะวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างน้อยเปลาะหนึ่ง ทว่าอาจต้องแลกกับการที่จอห์นสันเผชิญกับการท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งหากพ่ายแพ้ นั่นคือการต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วย

สหราชอาณาจักรมีกำหนดจัดการเลือกตั้งระดับเทศบาล ในวันที่ 5 พ.ค. นี้ ครอบคลุมอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์ ส่วนในไอร์แลนด์เหนือจะเป็นการเลือกตั้งระดับสมาชิกสภานิติบัญญัติ หากผลการเลือกตั้งออกมาในเชิง “เลวร้าย” สำหรับพรรคอนุรักษนิยมและพรรคสาขา บรรดาแกนนำภายในพรรคอาจประชุมร่วมกัน “เพื่อหาทางกำจัด” จอห์นสัน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจภายในพรรคเองด้วยว่า “จริงจังมากแค่ไหน” กับการเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร และครองเสียงข้างมากเป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2553

วลีที่ว่า “จัดการเบร็กซิตให้เสร็จสักที” มีผลต่อการรับรู้และการตัดสินใจของประชาชนในสหราชอาณาจักรอย่างมาก และท่าทีของจอห์นสันในเรื่องนี้ คือปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้พรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ได้อย่างถล่มทลายที่สุด นับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2530 ในสมัยของนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ และยัดเยียดความปราชัยอันน่าหดหู่ที่สุดให้แก่พรรคแรงงาน ซึ่งสูญเสียที่นั่งมากที่สุด นับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี 2478

เซอร์เคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคแรงงาน

สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ของสหราชอาณาจักร คือช่วงกลางปี 2567 ไม่ว่าจอห์นสันจะยังคงอยู่ในตำแหน่งผู้นำจนถึงช่วงเวลานั้นหรือไม่ แต่เมื่อถึงช่วงนั้นแล้ว พรรคอนุรักษนิยมต้องสามารถหาเสียงกับชาวสหราชอาณาจักร ได้ด้วยเงื่อนไขที่มากกว่า และซับซ้อนกว่าเรื่องเบร็กซิต ต้องมีความจริงจังและความกระตือรือร้นมากกว่านี้อีกหลายเท่า มิเช่นนั้น นายกรัฐมนตรีคนต่อไปของสหราชอาณาจักร อาจชื่อ “เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์” จากพรรคแรงงาน ก็เป็นไปได้.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES