ก่อนจะว่ากันถึงเรื่องที่ค้างไว้ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ตอนนี้การเมืองก็ร้อนแบบเรียกว่าร้อนฉ่าคงจะน้อยไป เพราะการขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมพวกรวม 21 คนออกจากพรรค ด้วยข้อหาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย มันทำให้กระทบต่อรัฐบาลทันทีในหลายทาง เริ่มจากว่า 21 คนนี้ จะไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย แล้วจะไปอยู่ขั้วไหนทางการเมือง ? ออกเสียงอย่างไร

เสียงรัฐบาลหายไป 20 เสียงที่วิปรัฐบาลได้แต่ปาดเหงื่อเลยทีเดียว ว่าทำอย่างไรให้องค์ประชุมเพียงพอต่อการผ่านกฎหมายสำคัญในสภา ส่วนฝ่ายค้านหัวเราะร่า เล่นง่าย..กฎหมายการเงินอย่าง ถ้าจะกู้เงินอีก ไม่ให้ผ่านซะ หรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 ก็ไม่ให้ผ่านซะ รัฐบาลต้องลาออกรับผิดชอบ ตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านบอกมีแน่นอนในการเปิดประชุมสภาเดือน พ.ค.) ก็โหวตไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม คนเดียวพอ พ้นทั้งคณะแน่

เอาเป็นว่า “น่าเชื่อว่า” เพื่อเสถียรภาพรัฐบาล “ค่างูเห่า” น่าจะถีบตัวสูงขึ้นกว่าราคาเนื้อหมูหรือราคาน้ำมันแล้วล่ะ แต่ตอนนี้อย่าเพิ่งคิดอะไรเยอะ เขาอาจ“ยังพอคุยกันได้” ถ้า 3 ป.รักกันจริงไม่ใช่สร้างภาพ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัสให้ความเคารพนั่นแหละจะต้องเคลียร์กับกลุ่มก๊วนนี้ ถ้ายังอยากรักษาเสถียรภาพรัฐบาลก็ต้องขอกัน (หรือถ้าจะเปลี่ยนนายกฯ ก็คุยอีกแบบ) แต่น่าเชื่อได้ว่า พรรคที่กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสย้ายไปก็เป็นพรรคสำรองของบิ๊กป้อมนั่นแหละ เพราะมีรายงานข่าวว่า คนจะมาเป็นหัวหน้าพรรคก็คนกันเองอย่าง “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ก็เพื่อนบิ๊กป้อม แถม “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ จะไปนั่งที่ปรึกษา  

ทีนี้เราก็กลับมาเล่ากันถึงเรื่องที่ยังห้ามลืมกัน และดูว่ารัฐบาลจะทำสำเร็จหรือไม่ (คงไม่น่าจะได้หวังในรัฐบาลนี้เพราะดูท่าจะร่อแร่แล้ว) อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่อง “การสร้างความปรองดองสมานฉันท์” ซึ่งเป็นเรื่องที่แค่ได้ยินก็เอียน เพราะไม่เห็นจะจริงใจทำกันเท่าไรนัก จำได้ว่า ช่วง คสช.ก็เหมือนรับฟังความเห็นกันไปแกนๆ พอได้ผลการประชุม รับฟังความเห็น บลาๆๆ ก็ให้เป็นพิธีกรรมให้รู้พอว่ากูทำ แล้วก็ออกตุ๊กตามาสคอตตัวอะไรมาจำชื่อยังไม่ใคร่จะได้เลยแต่ชาวเน็ตเขาเรียกตุ๊กตาแม่ผ่อง มาเป็นสัญลักษณ์สร้างความปรองดองแบบผักชีโรยหน้า

ต่อมา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ตั้งคณะกรรมการปรองดองขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อเสนอแนวทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ก็ทำรายงานสรุปไป โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ นายสุริชัย หวันแก้ว ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะกรรมการบอกว่า รายงานยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังรอความเห็นของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย แต่เชื่อว่าเสนอนายชวนได้เร็วๆ นี้ 

ซึ่งปัญหาที่นายสุริชัยเห็น คือ การเมืองแบ่ง 2 ขั้วชัดเจน แถมในขั้วรัฐบาลก็ยังเกิดความแตกแยกกันอีก แต่อย่างไรก็ตาม บทสรุปสำคัญคือการหาพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งสามารถพูดคุยกันได้ ซึ่งเอาจริงก็ไม่ใช่ข้อเสนอใหม่ มีคนพูดแนวๆ นี้หลายคนแล้วว่าต้องมีพื้นที่ให้พูดคุยกัน แต่ปัญหาคือ “ใครคือหัวขบวนในการพูดคุยของแต่ละคู่ขัดแย้ง”, “จะพูดคุยถึงปัญหาลึกๆ ได้ปลอดภัยแค่ไหน”

ต่อมา “ท่าทีของผู้มีอำนาจคืออะไร” ภายหลังการพูดคุย ไม่ใช่จบแค่จับมือ ..กอดๆ กันแล้วบอก “ฉันฟังเธอแล้วนะ” จากนั้นแยกย้ายไปทำอย่างอื่นกันต่อ แบบนั้นปัญหามันก็ไม่จบ ..ต่อจากรายงานและการพูดคุยมันคือ ต้องมีการ take action ทำอะไรให้การคลี่คลายความขัดแย้งเป็นรูปธรรม แต่เอาจริงจะทำกันหรือเปล่าล่ะ เพราะความขัดแย้งบนพื้นฐานการเมืองมันมีเรื่องของผลประโยชน์มหาศาลเข้ามาเกี่ยว และตอนนี้ความขัดแย้งมันถูกตีให้ขยายไปกระทบถึงระดับโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมไทย มี การพาดพิงไปถึงสถาบันฯ

สรุปคือ หลังจากเขาส่งรายงานแล้วใครจะลุ้นว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรจากรายงานบ้างก็ลุ้นไป แต่เชื่อว่า หลายๆ คนมองว่า ถ้าไม่มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ความเปลี่ยนแปลงก็ไม่เกิด และทหารกับองค์กรด้านยุติธรรมต้องไม่ถูกนำมาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วย มิฉะนั้นประชาธิปไตยจะไปต่อไม่ได้

พอพูดถึงความขัดแย้ง ก็มักจะพูดว่า “ม็อบที่ลงถนนเอ็นจีโออยู่เบื้องหลัง” ทำให้ต้องมีการสอดส่องความเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอมากขึ้น เมื่อต้นเดือน ม.ค. ครม.เห็นชอบหลักการ ร“ร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ….” ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ( พม.) ไปจัดรับฟังความเห็นตาม รัฐธรรมนูญ ม.77 ก็คือกฎหมายคุมเอ็นจีโอ สาระสำคัญคือกำหนดให้มี “คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไร” โดย รมว.พม. เป็นประธานกรรมการ

กำหนดให้องค์กรเอ็นจีโอต้องเปิดเผยข้อมูล เช่น ชื่อ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีการดำเนินการ และที่สำคัญคือ แหล่งที่มาของเงินทุน และรายชื่อผู้รับผิดชอบ ส่วนที่อื้ออึงกันคือ “ห้ามไม่ให้ดำเนินงานที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ การดำเนินงานที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม” ซึ่งก็อย่างที่บอกคือ การตีความเรื่องความมั่นคงของรัฐในประเทศไทยมีปัญหาเพราะมันกว้างครอบจักรวาล รัฐไทยนี่หมายถึงรัฐบาลหรือเปล่า ?  

หากได้รับเงินจากต่างประเทศต้องแจ้งชื่อแหล่งเงินทุนต่างประเทศ บัญชีธนาคาร ที่จะรับเงิน จำนวนเงินที่จะได้รับ และวัตถุประสงค์ของการนำเงินไปใช้จ่ายต่อนายทะเบียน เท่ากับใช้เงินทำอะไรต้องบอก พม. และต้องไม่ใช้เงินเพื่อดำเนินกิจกรรมในลักษณะ การแสวงหาอำนาจรัฐหรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง ต้องเปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่ายดังกล่าว โดยต้องเก็บรักษาบัญชีรายรับรายจ่ายนั้นไว้ให้สามารถตรวจสอบได้เป็นเวลา 3 ปี

ซึ่งเดี๋ยวเรื่องนี้เอ็นจีโอเขาจะเคลื่อนไหวกันต่อไปว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีเอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวต่อต้านโครงการรัฐที่ไม่ทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เขาก็ว่าเป็นการเปิดให้รัฐล้วงลูก ละเมิดการทำงาน อาจขัดต่อสิทธิมนุษยชน ..แต่มันก็เป็นเรื่องสองคนยลตามช่องแหละ หลายๆ คนเขาก็ว่าทำให้โปร่งใสเสียก็ดีจะได้รู้ว่า เอ็นจีโอบางพวกเอาชาวบ้านมาหากินหรือเปล่า โดยเฉพาะกรณีการเคลื่อนไหวขณะนี้มีประเด็นพาดพิงสถาบันอยู่ด้วย ก็ยิ่งมีคนอยากให้แสดงความชัดเจนว่า แหล่งเงินที่ใช้เคลื่อนไหวมาจากไหน

พอพูดถึงเรื่องเสรีภาพ ก็มีเรื่องเสรีภาพสื่อขึ้นมาอีก มติ ครม.เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ได้มีการผ่านร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ชาวสื่อมวลชนเคยต้านอยู่พักหนึ่งก่อนที่ คสช.จะออก เนื่องจากสมาคม, สภาวิชาชีพสื่อสารมวลชนต้องการใช้หลักการกำกับดูแลกันเอง ขณะที่กฎหมายนี้กำหนดให้มี “กรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน” เพื่อการกำกับดูแลการทำงาน ซึ่งทำให้สื่อมวลชนคลางแคลงใจว่า “จะเปิดโอกาสให้คนของรัฐเข้ามาแทรกแซงสื่อได้หรือไม่ โดยเฉพาะการควบคุมเนื้อหา”

และในภาวะปัจจุบัน เรียกว่า “ใครๆ ก็เป็นสื่อได้” จากเทคโนโลยีการสื่อสาร โซเชียลมีเดียมีมากมาย ทำให้การกำกับดูแลมันยากขึ้น ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีประมวลจริยธรรมขึ้นมา ที่หลายฝ่ายก็มองว่าดี เนื่องจากจะได้เป็น “มาตรฐานกลาง” สำหรับพวก “นักข่าวภาคพลเมือง” หรือยูทูบเบอร์อะไรต่างๆ ด้วยว่า “รายงานข่าวอย่างไรถึงจะไม่กระทบสิทธิมนุษยชน, รายงานข่าวอย่างไรถึงเป็นกลาง”

ในหลักการของกฎหมาย ระบุว่า เสรีภาพของสื่อ ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คำนี้ตีความได้อีก จะให้เข้าข้างรัฐก็ได้ว่า ถ้าตีข่าวความผิดพลาดของรัฐไปแล้วทำให้เกิดความไม่พอใจรัฐ ก็จับแพะชนแกะให้เข้าข่ายผิดหรือไม่ ..ส่วนที่ว่า ต้องเคารพ ไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น แล้วถ้าเห็นต่างจากรัฐ เขามีสิทธิพูดแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ถ้ามีกรณีการเสนอข่าวบิดเบือน สามารถใช้กลไกกฎหมายฟ้องได้และรัฐก็ออกมาตอบโต้ได้

ประมวลจริยธรรมสื่อก็คงเขียนไว้กว้าง ๆ แต่ก็ย้อนกลับไปเรื่องเอ็นจีโอ เรื่องปรองดองว่า ประเด็นเรื่อง “ความมั่นคงของรัฐ” สำคัญและต้องจับตายิ่งยวด เป็นสิ่งที่ยังทำความเข้าใจกันได้ค่อนข้างลำบากในสังคมไทย เพราะ มันกว้าง ไม่มีนิยามเป็นข้อๆ ว่าคืออะไรบ้าง อย่างข่าวหมูแพง หมูตาย มันเป็นการประจานความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐหรือไม่ แล้วเรียกว่าทำให้ประชาชนตื่นตระหนก กระทบความมั่นคงหรือไม่

หลังจากนี้จะต้องส่งร่างกฎหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ และส่งให้รัฐสภาผ่านกฎหมายต่อไป ก็คงต้องไปสู้กันในสภาต่อ นี่ก็เป็นประเด็นที่ไม่อยากให้ลืมในช่วงการเมืองเดือดๆ.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

อ่านเพิ่มเติม 4ประเด็นย่อยปี 65 อย่าลืมว่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ( 1 )